WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       ต่างชาติยังขายต่อเนื่อง และด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับแรงซื้อ LTF ที่เข้ามาหนุนดัชนี แต่ยังแนะนำขายหุ้นรายตัวที่ราคาเกิน Fair Value เช่น PTT โดยให้เน้นเลือกลงทุนหุ้นพื้นฐานที่มีปันผลเด่น หรือมีศักยภาพการเติบโตสูง คือ DEMCO(FV@B18) คาดว่ากำไรงวด 3Q57 โดดเด่น

ตลาดหุ้นโลกตอบรับ FED ยืดการขึ้นดอกเบี้ยออกไปจากเดิม
      ตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่องนับจากจุดต่ำสุดเมื่อ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ NASDAQ และใกล้กับจุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้ก่อนหน้า ส่วน S&P500 และ DJIA แม้จะฟื้นตัว แต่ห่างจากจุดสูงสุดเดิมเล็กน้อย (เทียบกับตลาดหุ้นในฝั่งสหภาพยุโรป แม้จะฟื้นตัวในลักษณะเดียวกันแต่ยังห่างไกลจากจุดสูงสุดเดิมอีกมาก) ทั้งนี้คาดว่าปัจจัยหนุนคือ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
       ล่าสุดมีการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด) เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 6.2% จากเดือนก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวตามลำดับ สะท้อนจากอัตราการว่างงานลดลงมาสู่ระดับ 5.9% และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.7% อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเช่นเดียวกับตลาดอสังหาฯ ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุด ราคาบ้าน (S&P/ เคส ชิลเลอร์) เดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.1% สอดคล้องกับยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 0.2%mom (เป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค.2551) หรือเพิ่มขึ้น 17%yoy และยอดขายบ้านมือสอง เพิ่มขึ้น 2.4%mom (เป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี) รวมทั้งดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือน ก.ย. แม้จะฟื้นตัวเล็กน้อย 0.3%mom แต่นับว่าดีขึ้นมาก และเป็นระดับสูงสุดอีกครั้งในรอบ 14 เดือน เทียบกับหดตัว 3%yoy ใน ส.ค.
   ทั้งนี้แม้จะถูกบั่นทอนจากภาคการผลิต ที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวระยะสั้น สะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.ย. เริ่มอ่อนแรงลงสวนทางกับที่คาด โดยหดตัว 1.3%mom ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับการลงทุนจากภาคธุรกิจ หดตัว 1.7% ต่ำสุดตั้งแต่ ม.ค. 2557 และดัชนี ISM ภาคการผลิต หดตัว 4.1%mom แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภาคครัวเรือน (คิดเป็น 70% ของ GDP) น่าจะมีน้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากกว่า

ตลาดน่าจะคาดหวังว่าจะมีการเลื่อนการใช้นโยบายการเงินเข้มงวด
     ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จึงน่าจะยืนยันการใช้มาตรการการเงินที่เข้มงวดต่อไป ทั้งนี้จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของ บลูมเบิร์ก 97% (62 คน จาก 64 คน และ 33 คนจาก 62 คนคาดว่า FED จะมีข้อสรุปเช่นเดิม) โดยคาดว่า FED จะสิ้นสุดการใช้มาตรการ QE วงเงิน 1.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ในการประชุมครั้งนี้ แต่จะยังคงดอกเบี้ยฯ ระดับต่ำ 0-0.25% ต่อไป ตามเวลาที่เหมาะสม (considerable time) เนื่องจากคาดว่าตลาดแรงงานยังสามารถเพิ่มการจ้างงาน โดย FED คาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่เฉลี่ย 5% ในปี 2560 และอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ซึ่งสอดคล้องกับผลการรายงานของ FED ครั้งก่อนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมีภาพที่ชัดเจนขึ้น ทั้งในสหภาพยุโรป และจีน สะท้อนจากการที่ IMF ตัดลด GDP Growth โลกเป็นรอบที่ 4 จึงคาดว่ามีความเป็นไปที่ FED น่าจะปรับเปลี่ยนแผนการขึ้นดอกเบี้ยจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 2Q58 ตามแผนเดิม ดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 1.375% ภายในสิ้นปี 2558 และ 3.75% ภายในสิ้นปี 2560 อย่างไรก็ตามคาดว่าจะทราบผลการประชุมในวันที่ 30 ต.ค. ตามเวลาไทย

ผลประกอบการ 3Q57 ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
      จากการรายงานงบงวด 3Q57 บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐของตลาดหุ้น S&P500 พบว่าออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาด (80% ของจำนวนบริษัทที่ประกาศงบแล้ว 230 บริษัท) และในจำนวนนี้พบว่ายอดขายเติบโต 4.1% เทียบกับกำไรสุทธิเติบโต 6.3% สะท้อนให้เห็นถึงดัชนีตลาดหุ้น ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ มีการฟื้นตัวล่วงหน้า ก่อนการรายงานผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีการเติบโตตามดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดปี 2557 เป็นต้นมา

กองทุน LTF ทำงานและหักล้างแรงขายต่างชาติ
        แม้วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ด้วยมูลค่าลดลง 23% จากวันก่อนหน้า อยู่ที่ราว 183 ล้านเหรียญฯ และเป็นการซื้อไต้หวันเพียงประเทศเดียว และซื้อสุทธิหนักถึง 422 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบเท่าตัว (ซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ขณะที่ประเทศที่เหลือขายสุทธิทั้งหมด กล่าวคือ เกาหลีใต้สลับมาขายสุทธิราว 144 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไทยที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 72 ล้านเหรียญฯ (2.3 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้น 71% จากวันก่อนหน้า) ส่วนอินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิราว 53 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด) และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 93% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 4 แสนเหรียญฯ
   แม้ว่ากระแสเงินทุนไหลออกเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง (สลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 4 จาก 7 วันหลังสุด) และยังเป็นการเลือกซื้อรายประเทศ (เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน) และยังเลือกขายสุทธิหุ้นในกลุ่มประเทศ TIP ทุกประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 57 รวมกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท แต่กลับมีแรงซื้อเข้ามาจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ที่วานนี้ซื้อสุทธิราว 2.3 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิ 12 จาก 15 วันหลังสุด รวม 1.5 หมื่นล้านบาท) และเชื่อว่าจะยังมีแรงซื้อจากกองทุน LTF จากนี้จนถึงสิ้นปีนี้

หวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร จะราบรื่น
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดว่า หลังจากที่มีการประชุม สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งแรก สปช. จะต้องดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งการประชุม สปช. ครั้งแรกเมื่อ 21 ต.ค.2557 ก็หมายความว่าต้องแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ให้เสร็จก่อนวันที่ 5 พ.ย.2557 ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะเป็นไปตามกำหนด คือสามารถจัดตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เสร็จทันภายในกำหนด ทั้งนี้กรรมาธิการยกร่างฯ จะมีจำนวน 36 คน ประกอบด้วย ประธาน ซึ่งเสนอชื่อโดย คสช., ตัวแทนจาก สปช. 20 คน และ ตัวแนจาก สนช., คณะรัฐมนตรี และ คสช. ฝ่ายละ 5 คน
      กระบวนการหลังจากได้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว สปช. จะต้องทำความเห็นและข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วันนับจาก 21 ต.ค.2557 และ นับจากวันรับข้อเสนอแนะ จะต้องดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน แต่หากไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 120 วัน ให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นอันสิ้นสุด และตั้งชุดใหม่ขึ้นมาภายใน 15 วัน ซึ่งถือเป็นกรณีที่เลวร้าย เพราะจะต้องเสียเวลาอีกไม่น้อยกว่า 135 วัน จากกำหนดเดิม
      ในกรณีที่การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จตามกำหนด กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเสนอให้ สปช., คณะรัฐมนตรี, และ คสช. พิจารณาภายใน 10 วัน และต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ให้ คณะกรรมาธิการยกร่างดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เมื่อแล้วเสร็จ ให้ส่งร่างหลังการแก้ไขปรับปรุงให้ สปช. ลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบภายใน 15 วัน กรณีที่พิจารณาลงมติไม่ทันภายใน 15 วัน หรือไม่เห็นชอบ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป พร้อมทั้ง ให้ สปช. และ กรรมาธิการยกร่าง สิ้นสุดลง และให้ตั้งชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ จะทำให้การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้าออกไปอีกไม่น้อยกว่า 235 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการได้มาซึ่ง สปช. ชุดใหม่)
       ความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ถือเป็นประเด็นที่ตลาดน่าจะให้ความสำคัญ เพราะจะหมายถึงการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนดเดิมไม่มีการสะดุดในขั้นตอนใด ร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะพร้อมสำหรับการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ย.2558 และก็น่าจะเห็นการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ช่วงปลายปี 2558 หรือ ต้นปี 2559

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์

มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!