WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       ตลาดยังย่อยข่าวหลังการยึดอำนาจ และยังมีแรงขายต่างชาติ กดดันดัชนีหุ้นอ่อนตัวแตะ 1,370-1,380 จุด ให้ปรับพอร์ตจากเดิมที่กระจุกตัวในหุ้น Global เป็นหลัก มาเข้าหุ้น Domestic บ้างสัดส่วน 60%:40% เช่น SCC(FV@B520) จึงเลือกเป็น Top pick

 

ต่างชาติยังคงขายสุทธิไทยอย่างหนัก ทั้งหุ้นและตราสารหนี้
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 56 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อติดต่อกัน 9 วันก่อนหน้า โดยหลักๆเกิดจากไทย ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน ราว 103 ล้านเหรียญฯ (3.4 พันล้านบาท ลดลงจากวันก่อนหน้า 50%) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 17 ล้านเหรียญฯ ส่วนประเทศอื่นๆ มีการซื้อเบาบาง เริ่มจาก ไต้หวันซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้าถึง 75% เหลือราว 37 ล้านเหรียญฯ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9 แต่เบาบางราว 22 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 37%) และสุดท้าย คืออินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 5 ล้านเหรียญฯ (ซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ลดลงราว 81%)
       ทั้งนี้ หากไม่นับรวมประเทศไทย จะพบว่าเงินทุนจากต่างชาติยังไหลเข้าภูมิภาคเช่นเดิม เพียงแต่เริ่มชะลอตัวลง และเป็นเพียงการพักการซื้อในระยะสั้นเท่านั้น สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การเมืองยังคงกดดันกระแสเงินทุนทำให้ต่างชาติขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่องถึง 5 วันติดต่อกัน รวมกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2557 ลดลงเหลือราว 4.7 พันล้านบาทเท่านั้น และ เช่นเดียวกับ ตลาดตราสารหนี้ก็ถูกขายสุทธิออกมาเป็นวันที่ 2 ราว 4.4 พันล้านบาท (รวม 2 วันขายสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท) ส่วนในระยะสั้นเชื่อว่าการเมืองที่ร้อนแรงจะยังคงกดดันกระแสเงินทุนในประเทศไทยต่อไป

 

ตลาดยังย่อยข่าว การจัดตั้งรัฐบาล ชุดปฎิรูปประเทศ หลังการยึดอำนาจ
       วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากนี้มีประเด็นที่ต้องติดตาม 2 เรื่อง คือ
1) การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งปรากฎว่ามีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นสื่อกลางในการเคลื่อนไหว ทั้งนี้เริ่มเห็นการเดินขบวนประท้วงเป็นระยะ และ
2) กระบวนการที่ คสช. ต้องดำเนินการ โดยเร่งด่วน ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ และการตั้งสภานิติบัญญัติฯ รวมถึงสภาปฎิรูป ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีรายชื่อของบุคคลใดเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี อันจะมีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาประเทศ โดย SET Index ก็จะตอบสนองไปตามผลของการดำเนินขั้นตอนต่างๆ ที่ปรากฎออกมา
      สำหรับประเด็นเรื่องกรอบเวลา ตั้งแต่เริ่มการทำรัฐประหาร ไปจนถึงการจัดการเลือกตั้งทั่วไป จะใช้เวลารวมเท่าใดหัวหน้า คสช. ให้ความเห็นว่าไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ โดยต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์เป็นหลัก
อย่างไรก็ตามในรายงาน Market Talk วานนี้ ฝ่ายวิจัยได้ให้ข้อมูลเทียบเคียงที่อ้างอิงตามกรอบเวลาในการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ของการทำรัฐหาร 19 ก.ย.2549 ไปแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้เมื่อ 23 ธ.ค.2550 ส่วนการได้มาซึ่งรัฐบาลชุดก่อนการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อ 1 ต.ค.2549 ซึ่งหากในครั้งนี้ใช้เวลาใกล้เคียงกัน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นชั่วคราวเพื่อบริหารประเทศก่อนการจัดการเลือกตั้ง ก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เนื่องจากแต่ละเหตุการณ์จะมีผลโดยตรงต่อ SET Index

 

ต่างประเทศยังไม่ประเด็นใหม่ที่จะหนุนตลาด
      ในช่วงที่ผ่านมาตลาดอาจจะให้น้ำหนักกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน
      ญี่ปุ่น คาดว่าจะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นอย่างแรงในระยะสั้น แม้ผลจากการขึ้นภาษีขายเป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1เม.ย. ที่ผ่านมา จะกดดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะชะลอตัว นับจากงวด 2Q57 แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการขึ้นภาษี จะทำให้ อัตราเงินเฟ้อสามารถเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ จากล่าสุดเดือน เม.ย. อยู่ที่ 1.6% และการที่ภาคเอกชนบางแห่งได้นำร่องเพิ่มเงินเดือนไปบ้างแล้ว เช่น โตโยต้า และพานาโซนิค ซึ่งคาดว่าจะตามมาด้วยบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก และจำนวนแรงงานที่ลดลง (อัตราการว่างงานต่ำเพียง 3.6%) จะผลักดันให้ค่าจ้างสูงขึ้น

         นอกจากนี้พบว่า ที่ดินและค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้น (คิดเป็น 1 ใน 4 ของการคำนวณเงินเฟ้อ) ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น ( BOJ) ยังคงใช้มาตรการทางการเงินโดยการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเป็นจำนวนเท่าเดิม 60 - 70 ล้านล้านเยนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 101 ล้านล้านเยนต่อปี ขณะที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอื่นๆ จะค่อยๆ เกิดขึ้น เช่น การปรับพอร์ตการลงทุนของกองทุนบำนาญขนาด 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเดิมกระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรญี่ปุ่นกว่า 60% ของเงินลงทุนมายังสินทรัพย์อื่น เพิ่มขึ้นน่าจะดีต่อตลาดหุ้น และตามมาด้วย แผนการลดอัตราภาษีบริษัทจากเดิมที่ 35.6% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่ 25%
       สหภาพยุโรป คาดว่าแนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปน่าจะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 0.7% ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่า จะมีการอัดฉีดสภาพคล่อง และมาตรการ QE เพิ่มเติม ซึ่งน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในสหภาพยุโรปอยู่ในระดับต่ำใกล้ศูนย์ต่อไป อย่างไรก็ตาม รอดูความชัดเจน จากผลการประชุมวันที่ 5 มิ.ย. นี้

หุ้นเด่นที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน SCC เป็น Top pick
       หลังจากที่ คสช. ได้เข้ามาดูแลบริหารประเทศและเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและงานโครงการต่างๆ นั้น ได้สร้าง Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาฯ ให้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา จึงน่าจะส่งผลต่อเนื่องให้หุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างให้ปรับขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง ประกอบกับ เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หุ้นที่มีโครงสร้างรายได้ที่เป็นทั้ง Global และ Domestic จึงน่าที่จะมีความน่าสนใจกว่า
       ฝ่ายวิจัยแนะนำ SCC (ซื้อ : FV@B 520) น่าจะเป็นหุ้นตัวแทนทั้ง Global และ Domestic ดังกล่าว เนื่องจากโครงสร้างรายได้ มาจากธุรกิจปิโตรเคมีราว 50%, ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์, กระเบื้อง, อิฐมวลเบา) 40% และธุรกิจกระดาษอีก 10% สำหรับในแง่ของแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2557 นั้น คาดว่างวด 2Q57 ธุรกิจปิโตรเคมีอาจทรงตัวจากงวดก่อนหน้า แต่ในงวด 2H57 เชื่อว่าผลบวกจากวัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมีจะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับ SCC ยังคงเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจปูนซีเมนต์ คาดว่าปี 2557 จะมีการใช้เงินลงทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ประกอบกับค่า Expected P/E ที่ระดับ 13 เท่า และ Div.Yield ที่ระดับ 3.7% ฝ่ายวิจัยจึงมีมุมมองเชิงบวกต่อ SCC และเป็นหุ้นที่น่าซื้อสะสมในระยะยาว

 

ปัญหาการเมืองทีไร PTT โดนทุกที แนะนำซื้อ พื้นฐานแกร่ง
       การที่ราคาหุ้น PTT ตกต่ำสุดมากถึง 2.6% เมื่อวานเพียงวันเดียว เทียบกับดัชนีกลุ่มที่ลดลงเพียง 1.1% น่าจะเกิดจากกระแสข่าว 2 เรื่องคือ การสั่งปลดประธานกรรมการบริษัท (คุณปานปรีย์ พหิทธนุกร) และคณะกรรมการบริษัท และแผนการปฏิรูปพลังงานตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจทำให้ PTT ต้องมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน เนื่องจากถูกวิพาษ์วิจารณ์ว่าสูงเกินกว่าราคาในตลาดโลกมาก ทั้งนี้การปลดคณะกรรมการบริษัทบางคน/ทั้งคณะ จะต้องใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่การปฏิรูปพลังงาน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน เพราะหากพิจารณาโครงสร้างพลังงานในปัจจุบันถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด กล่าวคือ
       1) ราคาขายปลีกน้ำมัน ปัจจุบัน ประกอบไปด้วย ราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงกับราคาในตลาดโลก (เป็นส่วนที่ PTT ได้รับ) บวกกับภาษีประเภทต่างๆ (เป็นส่วนที่ภาครัฐได้รับ) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 30%-40% ของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปผ่านสถานีบริการน้ำมัน (ยกเว้นในส่วนของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันภาครัฐตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร) ซึ่งภาษีที่เก็บได้หลักๆภาครัฐนำเข้าไปชดเชยในกองทุนน้ำมันเพื่อนำไปสนับสนุนเชื้อเพลิงประเภทต่างๆที่ภาครัฐเคยตรึงราคาขายไว้ (ราคาขายต่ำกว่าต้นทุน) ในอดีตที่ผ่านมารวมถึงในปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นสำหรับน้ำมันสำเร็จรูปบางประเภท อาทิ แก๊สโซฮอล์ E85 และ E20 เป็นต้น
      2) ราคาขายก๊าซ LPG (แก๊สหุงต้ม แต่ถูกนำไปใช้ในภาคครัวเรือน ขนส่งออก และอุตสาหกรรม) ซึ่งปัจจุบัน PTT ถูกบังคับให้ขายก๊าซ LPG (จากโรงแยกก๊าซฯ) เพียง 330 เหรียญฯต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลกอยู่ที่ 700-800 เหรียญฯต่อตัน ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ทยอยปรับขึ้นราคาแก๊ส LPG ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งในที่สุดจะไม่มีการอุดหนุนอีกต่อไป ทั้งนี้แม้ภาครัฐจะทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG แต่ยังคงให้ PTT ขายก๊าซจากโรงแยกก๊าซฯในราคาคงเดิมซึ่งหมายถึงส่วนแตกต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นภาครัฐเป็นผู้ได้รับไป
       ในสถานการณ์นี้จึงน่าจะเป็นจังหวะของการสะสม อิงมูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2557 (DCF) เท่ากับ 360 บาทต่อหุ้น มี upside 22% ที่สำคัญมีค่า Expected P/E ต่ำสุดในกลุ่มฯเพียง 8.3 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มฯในภูมิภาคที่ราว 11.5 เท่า โดยไม่รวมเงินปันผลที่จ่ายในอัตราเฉลี่ย 4-5% p.a.

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!