WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       SET มีความผันผวนสูง จึงยังเน้น ซื้อ/ขาย รายหุ้น โดยยังแนะหุ้นพื้นฐานที่มีประเด็นหนุนช่วงสั้น เช่น หุ้นเข้า SET50-100: SPALI(FV@B27.35), DEMCO(FV@B18) หรือหุ้นปันผล (HANA, DELTA) ซึ่งคาดจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า SET ก่อนสิ้นปีนี้ เลือก DELTA(FV@B78) เป็น Top pick

เดินหน้าใช้ดอกเบี้ยนโยบายต่ำต่อไป ตราบที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
     ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย 2% เช่นเดิม ซึ่งนับว่าติดต่อเป็นครั้งที่ 9 เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย กนง. ยังกังวลผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความล่าช้าของการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่อาจจะหดตัว (จากเดิมมองว่าทรงตัว 0%yoy) ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจใน 2H57 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ และมีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการ GDP Growth ที่คาดไว้ 1.5% ในปี 2557 และ 4.8% 2558 (เทียบกับ ASP คาด 1.5% และ 3.5% ตามลำดับ) ซึ่งคาดจะปรับลดการส่งออกสินค้าเป็นหลัก และน่าจะทราบความชัดเจนหลังการประชุมครั้งสุดท้าย 26 ธ.ค. ที่จะถึง ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้า อาจจะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยที่ ASP ประเมินไว้ในงวด 2H58 อาจจะถูกยืดออกไป
      ขณะที่สหรัฐพบว่าตลาดแรงงานยังหนุนการใช้มาตรการการเงินเข้มงวดต่อไป ล่าสุดพบว่า การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 230,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่ตลาดคาด 10,000 ตำแหน่ง (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 200,000 ตำแหน่ง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7) ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคบริการ และบริษัทขนาดกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะได้รับแรงหนุนจากต้นพลังงานที่ลดลง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนการบริโภคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่สุด (ราว 70% ของ GDP) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในงวด 4Q57 และจะทำให้ GDP Growth ปีนี้ใกล้เคียง 2.2% ตาม IMF คาด (9M57 เฉลี่ย 2.27% งวด 4Q57 ไม่ควรต่ำกว่า 2%yoy) การที่ตลาดแรงงานยังมีพัฒนาเชิงบวก ทำให้คาดหมายว่าอัตราการว่างงานจะสามารถลดลงจาก 5.9% ไปสู่ระดับใกล้เคียง 5.5% ก่อนวิกฤติซับไฟร์ม ซึ่งทำให้โอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยฯ กลางปี 2558 มีความเป็นไปสูง อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจของบลูมเบิร์ก คาดว่าอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. (จะมีการรายงานในคืนวันศุกร์ ตามเวลาไทย) จะทรงตัวที่ระดับ 5.9%
      ส่วนอังกฤษ คาดว่าธนาคารกลาง (BOE) มี โอกาสยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เช่นเดิม ในการประชุมวันนี้ ล่าสุดพบว่า ดัชนี PMI ภาคบริการ (มาร์กิต) เดือน ต.ค. ต่ำสุดในรอบ 17 เดือน แต่น่าจะเป็นการชะลอตัวช่วงสั้น ตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ตัดลด GDP Growth ยุโรป ในปี 2557 ลงเหลือ 0.8% (จากเดิม 1.2%) และ ในปี 2558 เหลือ 1.1% (จากเดิม 1.7%) อย่างไรก็ตามหากพิจารณา ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน ต.ค. พบว่ากระเตื้องขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมาจากภาคก่ออสร้าง และสะท้อนจาก GDP Growth งวด 3Q57 อยู่ที่ 3% (จาก 3.2 % ในงวด 2Q57 และ 2.9% งวด 1Q57) อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กทั้งหมด 51 ราย คาดว่าการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันนี้ น่าจะยังยืนดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องนานเกือบ 7 ปี และจะปรับขึ้นราว 2H58 ใกล้เคียงสหรัฐ

ต่างชาติซื้อหุ้นไทยสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน
     วานนี้แม้ว่านักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 แต่ยอดซื้อลดลงถึง 74% เหลือพียง 49 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน เริ่มจากไต้หวันที่ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ลดลง 62% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 93 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไทยซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 75 ล้านเหรียญฯ (2.5 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 8 เท่า) ขณะที่ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 1 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ตรงข้ามกับ เกาหลีใต้ที่ยังขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 89 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 83%) และอินโดนีเซียที่ขายสุทธิราว 31 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 91% จากวันก่อนหน้า, ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน แต่กลับชะลอการซื้อในประเทศอื่นๆในภูมิภาค ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาห์สหรัฐฯ (กว่า 1.5% ในรอบ 2 สัปดาห์) ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินทุนจากต่างชาติไม่ไหลกลับเข้าไทยในระยะสั้น และน่าจะเป็นการซื้อสลับขายเบาบางตามสถานการณ์รายวัน ขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบัน วานนี้พลิกมาขายสุทธิราว 1.0 พันล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 9 วันก่อนหน้า แต่ยังเชื่อว่าเป็นการพักการซื้อเท่านั้น โดยปริมาณการขายยังเบาบางหากเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเฉลี่ยกว่าวันละ 1.8 พันล้านบาท

การปรับพอร์ตยังจำเป็นสำหรับหุ้นแพง
       ดัชนีที่ฟื้นตัว นับจากวันที่ 21 ต.ค. จากระดับ 1,520 จุด จนมาทำระดับสูงสุด 1,591 จุดเมื่อ 3 พ.ย. 2557 และทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นมามีค่า Expected P/E ในปี 2557 ที่ประมาณ 16 เท่า และ 14.25 เท่าในปี 2558 ภายใต้สมมติฐาน EPS ตลาดที่ 98.14 บาท ต่อหุ้น และ 110.47 บาท ต่อหุ้น ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามหากใช้ประมาณ EPS ตลาดใหม่ หลังจากที่นักวิเคราะห์ทยอยปรับลดประมาณการกำไรในปี 2557-2558 ระหว่างจัดทำประมาณการกำไรงวด 3Q57 ในหลายกลุ่มได้แก่หุ้นสื่อสาร (SAMTEL, SIM, JAS, DTAC, ADVANC, INTUCH) พลังงาน และ ปิโตรเคมี (PTT, PTTEP, PTTGC, TOP, IRPC, ESSO, BANPU, LANNA) วัสดุก่อสร้าง (SCC, TASCO, DRT, SCCC, STEEL, BSBM, TMB, MCS) ค้าปลีก ค้าส่ง (CPALL, HMRPO) บันเทิง (MCOT, WORK) ประกัน (BLA, THREL) การเงินรายย่อย (TK, KCAR, FSS, THANI) คาดว่า EPS ตลาด ในปี 2557 และ 2558 จะลดลงมาอยู่ที่ 93.6 และ 108.34 บาท ตามลำดับ หรือลดลงราว 4.6% และ 2% ซึ่งจะทำให้ Expected P/E อาจจะขึ้นไปแตะระดับ 16.81 เท่า ในปี 2557 และ 14.53 เท่า ในปี 2558 ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า Expected P/E ในปี 2557 ค่อนข้างสูง แม้ว่าในปี 2558 จะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 15 เท่าก็ตาม เพราะหากใช้สมมติฐานดัชนีตลาดในปี 2558 โดยอิง Expected P/E 15-15.5 เท่า คาดว่าดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2558 น่าจะมีกรอบไม่เกิน 1,625-1,675 จุด หรือมี upside ไม่เกิน 6.5% จากดัชนีที่ปิดวานนี้ กลยุทธการลงทุนระยะสั้นยังแนะนำให้ขาย โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นรุนแรงจน เกินจาก Fair Value ปี 2557 หรือมี upside เหลือน้อย
      ทั้งนี้ หากพิจารณาหุ้นรายกลุ่มเมื่อเทียบกับ SET ที่ให้ผลตอบแทนสูง 4.6% ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบว่า กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 8.9% ตามมาด้วย ปิโตรฯ 7.7%, อสังหาฯ 7.3%, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 7.3%, ICT 7.2%, ท่องเที่ยว-โรงแรม 6.1%, ขนส่ง 6%, วัสดุก่อสร้าง 5.9%, ค้าส่ง-ค้าปลีก 5.7% และพลังงาน 5% และหากพิจารณาเป็นรายตัวพบว่ามีหุ้นหลายตัวทีราคาเกิน fair value ปี 2557 จึงแนะนำให้ทยอยปรับพอร์ตขายทำกำไร โดยหุ้นที่แนะนำให้ขายเป็นลำดับแรกๆ คือหุ้นที่ปรับขึ้นแรงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาเกิน Fair Value ได้แก่ ITD ราคาเกิน Fair Value 13.5%, CK เกิน 8.8%, LPN เกิน 43%, HEMRAJ เกิน 21.8%, TRUE เกิน 6.9%, JAS เกิน 3.4%, BMCL เกิน 47.9% และ BIGC เกิน 19.9%

หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนชนะตลาดช่วงปลายปี : HANA, DELTA
     เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดอยู่ที่ 32.78 บาท/เหรียญฯ โดยนับตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. เป็นต้นมา (ช่วงเวลาเดียวกับ SET ฟื้นตัว) จนถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่ากว่า 1.67% ปัจจัยกดดันมาจากการคาดการณ์ว่าสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 2H58 หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่งและผลประกอบการบริษัทฯ ที่เติบโต (ล่าสุด Dollar Index อยู่ที่ 87.44 ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดต่อไป) อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินบาทน่าจะมีแนวต้านบริเวณ 33 บาท/เหรียญ ซึ่งเคยอ่อนค่าถึงบริเวณดังกล่าวช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
     การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคส่งออก ทั้งนี้ จากสถิติในอดีตพบว่า หุ้นส่งออกมักจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดฯ ในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. ด้วยความน่าจะเป็นที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่ายวิจัยชื่นชอบ DELTA (FV’58 @B78) และ HANA (FV’57 @B44, FV’58 @B48) เนื่องจากให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 11.32% และ 8.11% ตามลำดับ ด้วยความน่าจะเป็น 100% เท่ากัน บวกกับจุดเด่นที่เป็นหุ้นปันผลสูง โดย DELTA มี Div yield เกือบ 5% และ HANA ราว 4% จึงเลือก DELTA เป็น Top ที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!