WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
SET ยืนบวกได้เพราะ PTT และ LTF แต่ยังแนะปรับพอร์ต เลือกหุ้นพื้นฐานที่มีประเด็นหนุน เช่น หุ้นเข้า SET50-100: SPALI(FV@B27.35), DEMCO(FV@B18) หรือหุ้นปันผล (HANA, DELTA) ซึ่งคาดจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า SET ก่อนสิ้นปีนี้ และเลือก DELTA(FV@B78) เป็น Top pick

ตลาดน่าจะผิดหวังกับผลประชุม ECB
    วานนี้ตลาดต้องผิดหวังต่อ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.05% ต่อไป โดยไม่มีการเพิ่มวงเงินรับซื้อ Covered bond ประเทศใหม่ ๆ เพิ่มเติม หลังจากที่เข้าซื้อ 3 ประเทศคือ ฝรั่งเศส สเปน และ อิตาลี รวมถึงการเข้าซื้อ ABS ในประเทศโปรตุเกส และกรีซ ที่กำหนดไว้ในงวด 4Q57 แต่อย่างไรก็ตาม ECB จะนำเสนอแนวทางในกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนอีกครั้ง ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้คือ 4 ธ.ค. ที่จะถึง (จะพูดถึง การประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจยุโรป จากปัจุบันที่คาดว่าจะขยายตัว 0.9% ในปี 2557 และ 1.6% ในปี 2558 และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ในปี 2557 และ 1.1% ในปี 2558 เทียบกับ เดือน ต.ค. อยู่ที่ 0.4% ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมาย 2% อย่างมาก)
เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แม้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังคงบ่งบอกถึงการฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าอังกฤษน่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 2H58 ใกล้เคียงสหรัฐ
     ตลาดแรงงานสหรัฐฟื้นตัว หนุนการใช้มาตรการการเงินเข้มงวดต่อไป ล่าสุด จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ย. ลดลง 10,000 ราย อยู่ที่ 278,000 ราย (ต่ำกว่าระดับ 300,000 ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8) และค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลง 2,250 ราย อยู่ที่ 279,000 ราย (ต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 2543) สอดคล้องกับการรายงานการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 230,000 (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 200,000 ตำแหน่ง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7) ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคครัวเรือน (คิดเป็น 70% ของ GDP) และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปีนี้ใกล้เคียง 2.2% ตาม IMF คาด (9M57 เฉลี่ย 2.27% งวด 4Q57 ไม่ควรต่ำกว่า 2%yoy)
     และค่ำวันนี้ ติดตามการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ค. ซึ่งจากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์ก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 248,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. และคาดว่าอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. จะทรงตัว 5.9% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด ก็เป็นการยืนยันการขึ้นดอกเบี้ยฯ กลางปี 2558 ตามกำหนดเดิม

 

ข่าวลอยตัวราคาก๊าซหนุน PTT ขึ้นกระฉูด
     ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อบริษัทย่อยของ PTT ทั้งผลิตสำรวจน้ำมัน คือ PTTEP, โรงกลั่น และ ปิโตรเคมี (TOP, PTTGC, BCP และ IRPC) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในงวด 3Q57 และงวด 4Q57 หากยึดตามผลประกอบการของบริษัทย่อยที่ประกาศมาแล้ว หรือที่มีการคาดการณ์ โดย ASP ในช่วงก่อนหน้านี้
แต่เป็นที่สังเกตว่าราคาหุ้นของ PTT กลับขยับขึ้นถึง 381 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นหุ้นใหญ่ที่ประคองตลาดให้ยืนปิด 1,580 จุด เมื่อวานนี้ ทั้งนี้เชื่อว่าเหตุผลที่หนุนราคาหุ้น PTT น่าจะมาจากประเด็นเก่า เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างราคาของก๊าซธรรมชาติ (NGV) และ ก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งปัจจุบันราคาขายในประเทศถูกตรึงไว้ที่ราคาต่ำกว่าตลาดโลก ซึ่งตามโครงสร้างพลังงานใหม่ คาดว่าจะถูกปล่อยให้ลอยตัวตามราคาตลาดโลกในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า ผลประโยชน์จึงตกแก่ PTT คือ
LPG: ข่าวจากหนังสือพิมพ์วันนี้ ระบุว่ารัฐเตรียมปล่อยให้ราคาขาย LPG ที่หน้าโรงแยกก๊าซของ PTT จากปัจจุบันที่ตรึงไว้ที่ 333 เหรียญฯต่อตัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาตลาดโลกที่สูงกว่า 600 เหรียญฯ และต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหน้าโรงแยกก๊าซฯ ของ PTT ในปัจจุบัน 500 เหรียญฯต่อตัน ทำให้ PTT แบกรับภาระขาดทุนจาก LPG แต่ผู้เดียว (ปัจจุบันมีการใช้ก๊าซ LPG ราว 8 ล้านตันต่อปี 41% ครัวเรือน 36% ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น 15% ขนส่ง และ 8% อุตสาหกรรม แต่ผลิตได้เพียง 75% ของความต้องการ อีก 25% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ) อย่างไรก็ตามหากมีการลอยตัวราคาขาย LPG ที่หน้าโรงแยกก๊าซจริง ซึ่งจะทำให้กำไรของ PTT เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมในปี 2558 แต่เพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไร ขึ้นอยู่กับราคาขาย LPG ที่รัฐจะกำหนด ในเบื้องต้นหากกำหนดให้ราคาขาย LPG อยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลก คาดว่ากำไรสุทธิในปี 2558 น่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นราว 5.68 บาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 15.6% อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปว่า การปรับราคาขายในครั้งนี้ PTT จะได้รับส่วนเพิ่มเองทั้งหมด หรือจะต้องแบ่งจ่ายเป็นภาษีให้รัฐ ซึ่งหาก PTT ได้รับทั้งหมดถือเป็นกรณีที่ดีที่สุด แต่หากมองเป็นกลาง คือ PTT ได้ประโยชน์เพียงครึ่งเดียวที่เหลือ รัฐจะนำไปสนับสนุนภาคครัวเรือน/ขนส่ง ผลกำไรที่จะเกิดแก่ PTT จะลดน้อยลง
ทั้งนี้เมื่อ ก.ย. ที่ประชุม กบง. เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาปลีก ก๊าซ LPG โดยให้ปรับราคาขายของภาคขนส่งจากเดิมที่ 21.38 บาท กก. ให้เท่ากับภาคครัวเรือนที่ 22.63 บาทต่อ (เก็บการเก็บภาษีเข้ารัฐมิได้ให้แก่ PTT) แต่ ต่ำกว่าราคาขายแก่ ภาคอุตสาหกรรม ที่ 30 บาท ต่อ กก. และต่ำกว่าตลาดโลก
NGV: และหลังจากนั้นยังมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ NGV จากปัจจุบันที่ PTT ขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนราว 5 บาทต่อ กก. ทำให้ PTT ต้องแบกรับผลขาดทุนราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยปรับขึ้น NGV 1 บาท ต่อ กก. ซึ่งมีผลทำให้ PTT ลดภาระขาดทุนไปปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยที่รัฐมีแผนจะลอยตัว NGV อีก โดยยังมิได้กำหนดเวลาที่แน่นอน แต่หากปล่อยให้ราคา NGV ปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่ PTT เท่าทุน นั่นหมายความ PTT จะลดภาระขาดทุนทั้งหมด หรือจะทำให้กำไรของ PTT เพิ่มขึ้นมาทันที กล่าวคือ หากขึ้น ราคาในส่วนที่เหลืออีก 4 บาทต่อ กก. คาดว่ากำไรสุทธิของ PTT น่าจะเพิ่มขึ้น 1.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นราว 4.03 บาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 10.1%
โดยรวมทั้ง 2 กรณี คาดว่าจะทำให้กำไรสุทธิในปี 2558 ของ PTT น่าจะเพิ่มจากเดิมราว 9.71 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 26.1% ซึ่งนี่น่าจะทำให้ Fair Value ของ PTT มีโอกาสขยับขึ้นอีก 64 บาท ปี 2558 ราว 15.8% และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้น PTT วิ่งขึ้นกระฉูด แต่ทั้งหมดยังไม่ได้มีมติที่ชัดเจน และราคาปิด PTT เมื่อวานนี้ที่ 381 บาท ถือว่าใกล้เคียงกับ Fair Value ตามสมมุติเดิม นักลงทุนที่อยากลงทุนโดยหวังประเด็นข่าวดังล่าวหนุน ก็คงต้องใช้วิจารณญาณให้รอบคอบว่า โอกาสการปรับเพิ่มดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะการปรับเพิ่มราคาขายหน้าโรงงานหมายถึง ราคาขายปลีก จะต้องปรับตัวสูงขึ้นด้วย ที่แน่ ๆ ประชาชนตาดำๆ เดือดร้อนแน่นอน

ต่างชาติซื้อเบาบาง ขณะที่สถาบันสลับมาซื้ออีกครั้ง
     วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ราว 102 ล้านเหรียญฯ โดยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า แต่ยังคงเป็นการสลับซื้อขายเบาบางรายประเทศ กล่าวคือ ซื้อสุทธิสูงสุดไต้หวัน และซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9 โดยเพิ่มขึ้น 33% จากวันก่อนหน้า 123 ล้านเหรียญฯ ขณะที่อินโดนีเซียสลับมาซื้อสุทธิราว 29 ล้านเหรียญฯ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ส่วนไทยยังซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่ลดลง 88% เหลือเพียงราว 9 ล้านเหรียญฯ (286 ล้านบาท) และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเบาบางเป็นวันที่ 2 ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้า ราว 1 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับ เกาหลีใต้ที่ขายสุทธิออกมาเพียงประเทศเดียว โดยขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 60 ล้านเหรียญฯ (ยอดขายลดลง 32% จากวันก่อนหน้า)
     ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเบาบางเพียง ในทิศทางเดียวกับภูมิภาคที่แรงซื้อเริ่มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์หลังสุด ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 1.0 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิ 10 จาก 11 วันหลังสุด) ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากกองทุน LTF ที่มีแรงซื้อหนุนเข้ามาในช่วงปลายปี
     ขณะที่ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน วานนี้พลิกมาขายสุทธิราว 1.0 พันล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 9 วันก่อนหน้า แต่ยังเชื่อว่าเป็นการพักการซื้อเท่านั้น โดยปริมาณการขายยังเบาบางหากเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเฉลี่ยกว่าวันละ 1.8 พันล้านบาท

 

ผลกำไรงวด 3Q57 ยังไม่ค่อยสดใส
      การรายงานผลประกอบการการของภาค real sector งวด3Q57 ออกมามีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยเฉพาะกลุ่ม Domestic อย่างเช่น กลุ่มค้าปลีก – ค้าส่ง พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวตามคาด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่ยังอ่อนตัว และเป็นช่วง low season นอกจากนี้การขยายสาขาใหม่ยังไม่เป็นไปตามเป้า ส่งผลให้วานนี้ฝ่ายวิจัยต้องปรับลดประมาณการกำไรของ MAKRO ในปีนี้และปีหน้าลง 8% และ 10% ตามลำดับ และส่งผลให้ปรับลดประมาณการกำไรของ CPALL 5% และปรับลด ROBINS ลง 8% แม้งวด 4Q57 คาดว่าจะเริ่มเห็นการทยอยฟื้นตัวของการบริโภคและการใช้จ่ายเนื่องจากเช้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมกำไรของกลุ่มฯ ในปีนี้ทำได้เพียงทรงตัวจากปีที่แล้วราว 3.1 หมื่นล้านบาท แต่น่าจะ เติบโตในปี 2558 ราว 20% นอกจากนี้ระดับ PER ที่ซื้อขายกันสูงกว่า 30 เท่า จึงยังไม่ใช้จุดที่เหมาะสมในการเข้าซื้อ
     ขณะที่กลุ่ม Global โดยเฉพาะพลังงานและปิโตรเคมี งวด 3Q57 ได้รับแรงกดดันจากการลดลงของราคาน้ำมันโลก ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน รวมทั้งการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์และสายอะโรเมติกส์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นยังช่วยชดเชยผลประกอบการได้บางส่วน และคาดว่าแนวโน้มกำไรกลุ่มฯในงวด 4Q57 น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากงวด 3Q57 เนื่องจากคาดราคาน้ำมันน่าจะมีความผันผวนลดลง ซึ่งอาจทำให้รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันลดลง เมื่อเทียบกับงวดก่อนหน้า
โดยรวมทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มพลังงานและ ปิโตรเคมี ในปีนี้ทรงตัวจากปีที่แล้ว แต่จะกลับมาเติบโตราว 10% ในปี 2558 ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อลงทุนระยะยาวสำหรับ PTTEP (FV’58@B 182) โดยเชื่อว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงได้สะท้อนปัจจัยลบในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่แนวโน้มกำไรในปี 2558 ยังคงเห็นการเติบโตจากโครงการใหม่ๆ ที่สำคัญมีค่า P/E อยู่ในระดับต่ำเพียง 9 เท่า และยังคาดหวัง Div. Yield เฉลี่ยที่ 4.5% ต่อปี

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!