WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
     เศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัว ยังคงกดดัน SET ยังอยู่ในภาวะปรับฐาน ยังแนะนำปรับพอร์ต ขายหุ้นแพง และซื้อหุ้นที่ลงลึก และน่าจะสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว (PTTGC,TOP) วันนี้เลือก PTTGC(FV@B75) เป็น Top pick เพราะมี P/E ต่ำมาก ขณะที่มี Dividend Yield เฉลี่ย 5% ต่อปี

เศรษฐกิจโลกซบเซา ดึงดอกเบี้ยอังกฤษขึ้นช้า
      ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (สะท้อนจาก IMF ได้ปรับลด GDP Growth ก่อนหน้านี้แล้ว เหลือ 3.3% ในปี 2557 และ 3.8% ในปี 2558) โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรป ญี่ปุ่น และ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียอย่างจีน เป็นต้น ล่าสุด รัฐบาลอังกฤษเอง ได้ทำการปรับลด GDP Growth ระยะยาวคือ ปี 2558 เหลือ 2.9% จากเดิม 3.1% และ ปี 2559 เหลือ 2.6% จากเดิม 2.8% โดยยังคงยืนปี 2557 ไว้ที่เดิมคือ 3.5% (แต่ยังสูงกว่า IMF คาด 3.2%) เนื่องจากภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากประเทศคู่ค้าชะลอตัว
ทั้งนี้แม้ล่าสุดพบว่าตลาดแรงงาน มีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง (การจ้างงานล่าสุด ปรับเพิ่มขึ้น 112,000 ตำแหน่ง กลับมาสูงสุดในรอบ 3 เดือน) แต่ปรากฏว่าอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. ยังทรงตัวที่ 6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่พบว่าอัตราค่าจ้างกลับเพิ่มขึ้น 1%yoy สวนทางกับ อัตราเงินเฟ้อที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดเดือน ก.ย. อยู่ที่ 1.2%yoy และจากต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเพียง 0.7% ยังห่างจากเป้าหมาย 2% ทำให้คาดว่าโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก จากเดิมในช่วง 2H58 อาจถูกเลื่อนออกไป ตามความเห็นส่วนใหญ่ 7 จาก 9 ราย ของคณะกรรมการ BOE จากการประชุม เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่อีก 2 ราย คาดว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ตามเดิมใน 2H58 ซึ่งต้องติดตามการรายงานผลการประชุมของวันที่ 6 พ.ย. ในวันที่ 19 พ.ย. นี้

สถาบันขายต่อเนื่อง ส่วนต่างชาติซื้อเล็กน้อย
     วานนี้ แม้ว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 13 แต่ยอดซื้อลดลงจากวันก่อนหน้าถึง 90% เหลือเพียงราว 39 ล้านเหรียญฯ โดยที่เป็นการซื้อสลับขายรายประเทศ ทั้งนี้กลับมาซื้อสุทธิสูงสุดที่อินโดนีเซีย และ ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 175 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า และเป็นยอดซื้อสุทธิสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือน และ ไทยสลับมาซื้อสุทธิ แต่เบาบางราว 15 ล้านเหรียญฯ (505 ล้านบาท, ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด) สวนทางกับไต้หวันที่พลิกมาขายสุทธิราว 117 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน 12 วันก่อนหน้า เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ และ ฟิลิปปินส์ที่สลับขายสุทธิเบาบาง ราว 22 และ 12 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทยเป็นวันที่ 6 จาก 7 วันหลังสุด รวม 5.2 พันล้านบาท สวนทางกับสถาบันที่ขายสุทธิ 5 จาก 6 วันหลังสุดรวมกว่า 3.2 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นการชะลอซื้อช่วงสั้นเท่านั้น หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกันในช่วงเดือน ต.ค. 57 ราว 1.2 หมื่นล้านบาท และเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มนักลงทุนที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องในระยะหลังคือพอร์ตโบรกเกอร์ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องกันถึง 11 วัน รวมกว่า 8.2 พันล้านบาท ทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะขายทำกำไรออกมา กดดันดัชนีได้

ขาดแรงหนุนจากกองทุนและต่างชาติ
      วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 12 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 32% เหลือราว 389 ล้านเหรียญฯ เริ่มจากไต้หวัน ยังซื้อสุทธิสูงสุด แต่ลดลงถึง 64% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 190 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 12) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 115 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 9 เท่าตัว) ในทิศทางเดียวกับอินโดนีเซียที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 77 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว) ส่วน ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิราว 23 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิเบาบางใน 2 วันก่อนหน้า) สวนทางกับไทยที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 16 ล้านเหรียญฯ (527 ล้านบาท, ซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า)
     ทั้งนี้ แม้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง แต่ยังถือว่าปริมาณเบาบางหากเทียบกับยอดซื้อก่อนหน้า ที่ซื้อสุทธิเฉลี่ยกว่าวันละ 1 พันล้านบาท จึงเชื่อว่าเป็นเพียงการสลับซื้อขายรายวันเท่านั้น ขณะที่ฝั่งสถาบัน แม้จะขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่แรงขายเบาบางลงอย่างมาก เหลือเพียง 41 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ระยะสั้นเชื่อว่าอาจจะเห็นแรงซื้อของนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาดันดัชนีอีกครั้ง

คาดจะปรับลดกำไรตลาดราว 4% ปีนี้
      ล่าสุดวานนี้ บริษัทจดทะเบียนได้รายงานผลประกอบการงวด 3Q57 รวมแล้วกว่า 320 บริษัท ที่รายงานเพิ่มเติม อาทิเช่น PTT, BECL, BCP, SVI, EASTW, HANA, SAMTEL, PYLON, STEC เป็นต้น ขณะนี้ยังคงเหลือบริษัทขนาดใหญ่บางบริษัท เช่น รับเหมาฯ CK, ITD, SEAFCO, SRICHA, STPI โรงพยาบาล BGH, BCH สนามบิน-สายการบิน AOT, AAV, THAI วัสดุก่อสร้าง TASCO, TPIPL รวมทั้ง DEMCO, TRUE, MINT, TUF, CPN, BMCL ทั้งนี้คาดว่าส่วนใหญ่ ล้วนทรงตัว/ต่ำกว่าคาด
Global Plays พลังงานและปิโตรเคมี (30%ของกำไรทั้งตลาด) ล่าสุด BCP รายงานกำไรสุทธิ 380 ล้านบาท ลดลง 70%จากงวดก่อนหน้า qoq แต่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ ASP คาด เกิดจากรับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันกว่า 1 พันล้านบาท (อ่านรายละเอียดใน equity talk วันนี้) เนื่องจากราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวเกือบ 30% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า ตามมาด้วยกลุ่มเดินเรือ ทั้งธุรกิจเดินเรือเทกองที่งวด 3Q57 ผลดำเนินงานมีแนวโน้มอ่อนตัว qoq ตามดัชนี BDI ที่ยังแกว่งตัวลง และธุรกิจเรือคอนเทนเนอร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากฤดูมรสุม และ supply เรือใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ยกเว้นกลุ่มส่งออกอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผลดำเนินงานเติบโตจาก ฤดูกาลส่งออกตาม demand ที่เพิ่มขึ้น
     Domestic Plays กลุ่มค้าส่ง-ปลีก, วัสดุก่อสร้าง และประกัน (แต่ละกลุ่มมีสัดส่วนราว 5% ของตลาด) ส่วนใหญ่คาดอ่อนตัวลง qoq ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่กลุ่มสื่อสาร (10%) อาจทรงตัวจากงวดก่อนหน้า แต่มีผิดหวังหุ้นรายตัวเช่น DTAC และ THCOM เป็นต้น โดยยังขาด TRUE งวดนี้คาดจะขาดทุนราว 2.5 พันล้านบาท เป็นไตรมาสสุดท้าย และ หลังจากนี้จะรายงานกำไรในงวด 4Q57 เพราะต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงหลังจากนำเงินเพิ่มทุนไปชำระหนี้ลงบางส่วน บวกกับรับรู้รายได้พิเศษจากการขายเสาโทรศัพท์เข้ากองทุน


      กลุ่มสาธารณูปโภค EASTW ขายน้ำดิบให้กับโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจประเทศ กล่าวคือ กำไรสุทธิลดลง 15%qoq และต่ำกว่าคาด เพราะยอดขายน้ำที่ตกต่ำ ตามอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงานที่ชะลอ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำน้อย จึงมีต้นทุนค่าไฟฟ้าในการไปดึงจากแหล่งสำรองฯ ที่อยู่ไกล จึงทำให้มีการปรับลดประมาณการกำไรในปีนี้และปีหน้าลงเฉลี่ย 10%
กลุ่ม consumer finance ค่อนข้างแตกต่างกัน กล่าวคือ LIT ดีกว่าคาด แต่ SINGER แย่กว่าคาด และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (สัดส่วน 5%) ผลกำไรน่าจะใกล้เคียงกับคาดหรือกว่าคาด จากการส่งมอบคอนโดฯ และมียอดโอนฯ แนวราบปรับเพิ่มขึ้น เช่น SPALI รวมถึงหุ้นรับเหมาที่ออกมาตัวแรกคือ SYNTEC ออกมาดีกว่าคาด (ธนาคารพาณิชย์ รายงานงบตั้งแต่กลาง ต.ค. กำไรเพิ่มขึ้น 3% จากการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง
กลุ่มโรงพยาบาล งวด 3Q57 เติบโตได้ตามคาด เนื่องจากเป็นช่วงพีคที่สุดของปีตามผลของฤดูกาล ปัจจัยหนุนมาจากรายได้เฉลี่ยต่อการรักษาที่เพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของโรค รวมทั้งการปรับขึ้นค่ายาและรักษาพยาบาล ขณะที่งวด 4Q57 ผลกำไรน่าจะทรงตัวหรืออ่อนตัวเล็กน้อยหลังผ่านพ้นช่วงของฤดูฝนไปแล้ว แต่ยังได้ปัจจัยเรื่องฤดูกาลท่องเที่ยวเข้ามาเสริม จึงยังคงประมาณการเดิม


      ส่วนกลุ่มขนส่ง คาดว่าชะลอตัวเช่นกัน โดยเฉพาะ BMCL งวด 3Q57 คาดว่าจะขาดทุน 250 ล้านบาท เนื่องจากต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ที่เพิ่มขึ้นราว 490 ล้านบาท ในงวด 2H57 เพราะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเติม จากเดิมที่จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้เท่านั้น แต่ของใหม่ต้องจ่าย 2 ส่วนคือ ของเดิม บวกส่วนแบ่งรายได้ในจำนวนคงที่ (ได้ระบุไว้ในสัญญาตั้งแต่เริ่มต้น ให้จัดเก็บส่วนเพิ่มในจำนวนคงที่เป็นแบบขั้นบันไดตั้งแต่ปี 2557) ขณะที่กลุ่มขนส่งทางอากาศน่าทรงกับแย่ลง (AAV, THAI ยกเว้น BA) ตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่คาดหวังว่าจะดีขึ้นในงวด 4Q57 ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และต้นทุนน้ำมันที่ลดลง
สรุปว่า จำนวนบริษัทที่ประกาศข้างต้น พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 1.7 แสนล้านบาท ลดลง 11.4%yoy เทียบกับกำไรสุทธิ 1.963 แสนล้านบาทในงวด 2Q57 และ 2.24 แสนล้านบาทในงวด 1Q57 ซึ่งทำให้กำไรสุทธิตลาดงวด 3Q57 น่าจะอ่อนตัวลงจากงวด 2Q57 10% ซึ่งเป็นผลให้มีการปรับลดประมาณการกำไรรายตัว ในเบื้องต้น จึงคาดว่า กำไรตลาดปี 2557 และ 2558 น่าจะต้องปรับลดลงจากเดิมไม่ต่ำกว่า 4% ในปี 2557 และ 2% ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ EPS ใหม่ อยู่ที่ 93.4 บาท และ 108.9 บาท (EPS Growth 2% และ 15%) เทียบกับเดิม 98.14 และ 110.47 บาท (EPS Growth 7.46% และ 12.57%) ตามลำดับ เท่ากับกับ current P/E ที่สูงกว่า 16.9 เท่า จึงทำให้ยังโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาอีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นถือหุ้นเพียง 30% และเลือกลงทุนหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง มีค่า P/E ต่ำ เงินปันผลสูง และแนวโน้มผลดำเนินงานเติบโต

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!