WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
   ดูเหมือนปัจจัยแวดล้อมของตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ออกมาในทิศทางลบเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนหลังประกาศงบ 3Q57 และวานนี้เป็นการประกาศ GDP Growth งวด 3Q57 ที่ต่ำกว่าคาดมาก นำมาซึ่งการปรับลด GDP Growth ในอนาคต แนะนำเลือกหุ้นที่ Upside สูง แต่ Downside จำกัด อย่าง PTTGC(FV@B75) เข้าพอร์ต

คาด GDP Growth ไทยปีนี้ต่ำกว่า 1.5%
    วานนี้ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP Growth งวด 3Q57 ขยายตัว 0.6%yoy (ต่ำกว่า ASP คาดที่ 2.7% แต่เพิ่มขึ้นจาก 2Q57 ที่ 0.4% และ 1Q57 ติดลบ 0.5%) โดยปัจจัยหลักๆ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ได้แก่ การส่งออกสินค้าและบริการ (73% ของ GDP) งวด 3Q57 ติดลบ 4% ต่ำกว่า ASP คาด 0.5% และการนำเข้าสินค้าและบริการ (70% ของ GDP) ติดลบ 1.1% ต่ำกว่า ASP คาด ติดลบ 0.6%
     ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีการขยายตัวดีกว่าที่คาด ได้แก่ การบริโภคโดยรวม ขยายตัว 1.9% ใกล้เคียง ASP คาด 2% แบ่งเป็นการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.2% ใกล้เคียง ASP คาด 2% สวนทางกับการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัว เพียง 0.4% ต่ำกว่า ASP คาดไว้ 2.1% ตามมาด้วยการลงทุนโดยรวม ขยายตัว 2.9% สูงกว่าที่ ASP คาดไว้ 0.7%
     ทำให้โดยภาพรวม สศช. ได้ปรับลด GDP Growth ปี 2557 เหลือ 1% (จากเดิม 1.5-2.0% และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี) ซึ่งหลักๆแล้ว เป็นการปรับลดการส่งออกสินค้าและบริการ เหลือ 0% (จากเดิม 2% vs ASP คาด 1%) และการนำเข้า ติดลบ 6.5% แต่อย่างไรก็ตาม ได้คงเป้าหมาย GDP Growth ปี 2558 ไว้ที่ 3.5-4.5% ตามเดิม (ใกล้เคียง ASP คาด 3.5%) แต่ลดการส่งออกสินค้าและบริการเหลือ 4% (จากเดิม 5-7% vs ASP คาด 5.7%) และปรับเพิ่มการนำเข้าสินค้าและบริการเป็น 5% (จากเดิม 9.9% vs ASP คาด 8.5%)
อย่างไรก็ตาม พบว่า การบริโภคเอกชน และ การลงทุนเอกชน ยังสามารถขยายตัวได้ดี ในระดับ 2.2% และ 3.9% ตามลำดับ ดังนั้นลดดอกเบี้ยฯ ในเวลานี้อาจจะยังไม่จำเป็นเท่าที่ควร ซึ่งคาดว่า การประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย กนง. ครั้งสุดท้ายของปี 2557 ในวันที่ 17 ธ.ค. น่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ต่อเนื่อง และหากพิจารณาเฉลี่ย 1Q57-3Q57 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียง 0.17% นั่นคืองวด 4Q57 ต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5.5% เพื่อให้ในปี 2557 ขยายตัวได้ 1.5% ตามที่ ASP คาด ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงอยู่ในช่วงทบทวนการปรับลดประมาณการของปีนี้ลงต่ำกว่า 1.5% พร้อมทั้งประเมินการขยายตัวในปี 2558 อีกครั้ง ซึ่งติดตามได้ใน Economics Update เร็วๆนี้

PTTGC ตัวเลือกที่เด่นสุดในกลุ่ม พลังงาน-ปิโตรเคมี
    ดังที่ได้นำเสนอไปวานนี้ว่า ฝ่ายวิจัยพิจารณาปรับลดประมาณการกำไรสุทธิงวดปี 2557 ลง โดยจากการรวบรวมตัวเลขการปรับประมาณการหุ้นรายตัวของนักวิเคราะห์ พบว่าจนถึงล่าสุดได้ปรับลดประมาณการกำไรงวดปี 2557 ลงไปแล้ว 3.38 หมื่นล้านบาทหรือลดลง 3.87% ของประมาณการเดิม โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 8.40 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS อยู่ที่ 92.83 บาท/หุ้น เติบโต 1.49% YoY โดยกลุ่มพลังงาน (ขนาด Market Cap. คิดเป็น 19% ของทั้งตลาด) ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 และ 2558 ลง 9.6% และ 9.8% ตามลำดับ มาจากการปรับลดประมาณการฯ ดังนี้
      ธุรกิจปิโตรเลียม ได้แก่ PTT ปรับลง 4.9% และ 8.7% รวมทั้งปรับ PTTEP ลง 12.9% และ 15.3% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบปี 2558 เป็น 90 เหรียญฯ จาก 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล
     ผู้ประกอบการโรงกลั่น ได้แก่ IRPC ปรับลง 53.1% และ 29.5% และ TOP ปรับลง 59.1% และ 32.7% เพื่อสะท้อนการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยฯ กว่า 30%
ธุรกิจถ่านหิน ได้แก่ BANPU ปรับลง 19.9% และ 27.7% สะท้อนการปรับสมมติฐานราคาขายเฉลี่ยถ่านหิน ปี 2557 และ 2558 ลงเหลือ 68 และ 60 เหรียญฯ จาก 72 และ 75 เหรียญฯต่อตัน
เช่นเดียวกับกลุ่มปิโตรเคมี ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 และ 2558 ลง 16.9% และ 8.4% ตามลำดับ เกิดจากการปรับลดประมาณการฯ ของ PTTGC ลง 7.3% และ 8.4% จากการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และปรับลดสมมติฐาน Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ลงราว 50 เหรียญฯต่อตัน จากราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวซึ่งจะมีผลกดดันให้ราคา และ Spread ผลิตภัณฑ์ให้ปรับตัวลดลงตาม เช่นเดียวกับ IVL ปรับลง 35.3% และ 38.6% จาก Spread ผลิตภัณฑ์ให้ปรับตัวลดลง รวมทั้งการหยุดผลิตเพื่อซ่อมโรงงานตามแผน
      อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เท่ากับ 101.09 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งยังสูงกว่าสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ในปี 2557 ที่ 100 เหรียญฯ/บาร์เรล แต่ในปี 2558 ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานไว้ที่ 90 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่อ่อนตัวลงมาในระดับต่ำใกล้เคียงกับต้นทุนน้ำมันดิบสหรัฐที่ราว 70-80 เหรียญ/บาร์เรล จึงเชื่อว่า Downside –ของราคาจะแคบลง เช่นเดียวกับ downside ราคาหุ้นที่จำกัดหลังลงมาต่ำกว่า Fair Value ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่น แนวโน้มงวด 4Q57 จะฟื้นตัวจากผลขาดทุนสต็อกน้ำมันลดลง รวมถึงค่าการกลั่นที่ปรับตัวขึ้นตามฤดูกาลซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ทางด้านธุรกิจปิโตรเคมียังคงเห็นกำไรที่เติบโตจากสายโอเลฟินส์ และ PET ได้ต่อเนื่อง โดยคาดกำไรจากธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์และ PET ในงวด 4Q57 น่าจะปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดของปีได้ ตาม Spread ที่โดดเด่น ฝ่ายวิจัยยังคงชื่นชอบ PTTGC (FV@B 74) ด้วยจุดเด่นทีเป็นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง มี Downside ต่ำ และสามารถทนต่อแรงกดดันหากเกิดแรงขายได้ ประกอบกับ PER ปี 2557 อยู่เพียง 8.7 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 13 เท่า และยังให้ Dividend Yield เฉลี่ย 5% ต่อปีอีกด้วย

ต่างชาติซื้อขายเบาบาง
     วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 197 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 18% จากวันก่อนหน้า) โดยยังเป็นการสลับซื้อขายเบาบางรายประเทศ เริ่มจากไต้หวันที่สลับมาขายสุทธิราว 186 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ส่วนเกาหลีใต้ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 82% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 43 ล้านเหรียญฯ และ ไทย สลับมาขายสุทธิเช่นกัน ราว 9 ล้านเหรียญฯ (304 ล้านบาท, ซื้อสุทธิ 3 วันก่อนหน้า) สวนทางกับอินโดนีเซียที่สลับมาซื้อสุทธิราว 36 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด) ขณะที่ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 5 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 85%)
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อขายเบาบางรายวัน เนื่องจากตลาดยังคงขาดปัจจัยหนุน และ ทำให้เชื่อว่าแรงซื้อจากนักลงทุนกลุ่มนี้จะยังไม่กลับเข้ามาในระยะสั้น อีกทั้งหากพิจารณาข้อมูลในอดีต นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยในเดือน พ.ย. ถึง 4 จาก 5 ปีหลังสุด ทำให้แรงขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยน่าจะมาจากทางฝั่งนักลงทุนสถาบันมากกว่า

กลต. ปรับเกณฑ์ Turnover List
วันที่ 19 พ.ย. ที่จะถึงนี้ สมาคม บล. เตรียมหารือกับ ตลท. เรื่องการออกมาตรการควบคุมหุ้นเก็งกำไร ซึ่งน่าจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมอีก หลังจากที่เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา กลต. ปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกหุ้นเข้า Turnover List เล็กน้อย กล่าวคือ 1) ไม่มีการจำกัดจำนวนหุ้นที่ติด Turnover List จากเดิมที่ หุ้นใน SET ติดได้ไม่เกิน 50 บริษัท และ MAI ติดได้ไม่เกิน 5 บริษัท 2) ปรับสูตรการคำนวณ Turnover ให้ไม่มีความซับซ้อน (รายละเอียด กลต. จะประกาศให้ทราบภายหลัง) และ 3) Warrant ของหุ้นที่ติด Turnover List ก็จะติด Turnover List เช่นกัน
ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อหุ้นที่อยู่ในตลาด MAI ซึ่งมีการเก็งกำไรอย่างมากในระยะหลัง ส่งผลให้ ตลท. สามารถประกาศใช้บัญชีเงินสดกับหุ้นที่อยู่ใน MAI ได้มากกว่า 5 บริษัท ยังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่เก็งกำไรและปรับตัวขึ้นมาอย่างมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และมักจะอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่ต้องวางเงินสดเต็มจำนวนก่อนซื้อ เช่น ABC, ACD, CYBER, DIMET, EE, EVER, GENCO, MLINK, PAE, RICH และ SUPER

หลัง WHA ซื้อ HEMRAJ อาจขายสินทรัพย์บางส่วนบันทึกกำไร หนุนราคา HEMRAJ
      ที่มาของดีล WHA ประกาศทำ Tender Offer หุ้น HEMRAJ ที่ราคา 4.50 บาท/หุ้น เริ่มจากการที่กลุ่มคุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง HEMRAJ ต้องการจะวางมือทางธุรกิจ จึงมีการเจรจาให้ผู้บริหาร WHA เข้ามาบริหารต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ WHA ได้มีการเซ็น MOU เพื่อเข้าซื้อหุ้น HEMRAJ ของทางผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 22.53% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในราคาหุ้นละ 4.50 บาท พร้อมประกาศทำ Tender Offer ภายใต้เงื่อนไขว่าหลังทำกระบวนการเสนอซื้อแล้ว WHAจะต้องมีผู้ขายหุ้นเกินกว่า 50% หากรวบรวมหุ้นได้ไม่ถึง 50% จะยกเลิกการซื้อหุ้นทั้งหมด โดยแหล่งเงินทุนที่ WHA จะใช้ซื้อกิจการมาจากการเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ไม่เกิน 8.8 พันล้านบาท (ปัจจุบันหุ้นจดทะเบียนของ WHA อยู่ที่ 963.89 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท) ส่วนที่เหลือได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากทาง SCB และเมื่อ WHA เข้าซื้อกิจการสำเร็จ จะมีแผนขายสินทรัพย์ต่างๆของ HEMRAJ เข้า REIT ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน/คลังสินค้าให้เช่า, อาคารสำนักงาน UM Tower รวมถึงที่ดินบนเกาะล้าน เพื่อลดหนี้สินต่อทุน และอาจมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษในอนาคต ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าของทั้ง 2 บริษัทพบว่า HEMRAJ ยังถูกกว่า WHA ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่า PER อยู่ที่ 9 เท่า เทียบกับ WHA ที่ 28 เท่า และ PBV 2.9 เท่า เทียบกับ WHA ที่ 10.7 เท่า (ใช้งบการเงิน 4 ไตรมาสย้อนหลังในการคำนวณ) สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินงาน คาดว่า WHA จะเซ็น MOU กับผู้ถือหุ้น HEMRAJ ปลายเดือน ธ.ค.2557 ตามด้วยการเพิ่มทุนของ WHA ในเดือน ก.พ. 2558 และทำคำเสนอซื้อในเดือน มี.ค. 2558
      การกำหนดแผนการเพิ่มทุนของ WHA ก่อนการเปิดเสนอซื้อ เป็นการสะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริหาร WHA ว่า Deal นี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และหากเกิดขึ้นตามความคาดหมายผลที่เกิดขึ้นในส่วนของ WHA เมื่อมีการทำงบการเงินรวมกับ HEMRAJ จะทำให้มีฐานกำไรใหญ่ขึ้น และส่งผลต่อเนื่องทำให้ค่า PER ลดต่ำลง (ต้องพิจารณาอัตราส่วนการเพิ่มทุนที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.2558 ด้วย) มีโอกาสให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นสนองข่าวนี้ไปแล้วบางส่วน สำหรับ HEMRAJ หลังรายการซื้อกิจการจบลง HEMRAJ ยังคงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป และหากมีการดำเนินการขายสินทรัพย์ออกไปตามแผน ก็น่าจะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินสูง และ อาจมีการบันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์ออกมา ทั้งนี้ราคาหุ้น HEMRAJ ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ในระยะสั้นควรขึ้นไปที่ราคาเสนอซื้อ 4.50 บาท หลังจากรายการซื้อขายจบ ก็อาจเห็นการปรับตัวขึ้นไปต่อได้ จึงน่าสนใจสำหรับการลงทุน

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!