WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      มาตรการสกัดการเก็งกำไรหุ้นเล็ก คาดว่าจะมีผลบังคับต้นปี 2558 ทำให้ช่วงเวลาที่เหลือบรรยากาศการเก็งกำไรยังคงอยู่ ซึ่งถือเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงในการลงทุนสูงมาก นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวัง และควรปรับพอร์ตการลงทุนเข้ามาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งมากขึ้น วันนี้ยังเลือก RS (FV@B 13.20) เป็น Top Pick

มาตรการคุมหุ้นร้อน คาดมีผลบังคับต้นปี 2558
      นับจากต้นปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโครงสร้างการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยที่หุ้นที่อยู่นอก SET50 มีสัดส่วนการซื้อขายถึงกว่า 65% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของทั้งตลาด แม้ว่ามีสัดส่วน Market Cap เพียง 28.9% เท่านั้น ขณะที่ Current PER อยู่ที่ราว 24 เท่า เทียบกับ SET50 ที่มี Current PER เพียง 16 เท่าเท่านั้น นอกจากนี้โครงสร้างการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละกลุ่มก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 50% กลายเป็นกว่า 70% ของมูลค่าการซื้อขายรวม องค์ประกอบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพรวมของตลาดหุ้นไทยว่ามีระดับการเก็งกำไรที่ค่อนข้างรุนแรง โดยที่ผ่านมาปรากฏว่าหุ้นในกลุ่มที่มี Market Cap เล็กบางตัวได้ให้ผลตอบแทนมากกว่า 500% ในช่วงเวลาสั้น ซึ่งอธิบายได้ยากในเชิงของปัจจัยพื้นฐาน สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นภาวะการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้วานนี้ ตลท. ได้ออกมาตรการคุมหุ้นเก็งกำไร ดังนี้ ให้นำหุ้นที่ติด Trading Alert เข้าเกณฑ์ Cash Balance ทันที 3 สัปดาห์ ซึ่งหากยังมีการซื้อขายผิดปกติและติด Trading Alert ครั้งที่ 2 หุ้นดังกล่าวจะถูกขยายเวลาติดเกณฑ์ Cash Balance อีก 3 สัปดาห์ รวมถึงไม่สามารถนำหุ้นเป็นหลักประกันได้ และถ้าหากถูก Trading Alert เป็นครั้งที่ 3 หุ้นดังกล่าวจะไม่สามารถซื้อขายแบบ Net Settlement ได้ภายใน 1 วัน
     อย่างไรก็ตาม มาตรการจะดังกล่าวจะต้องผ่านการเห็นชอบจาก กลต. ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงต้นปี 2558 จึงยังไม่น่าจะเห็นผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวต่อบรรยากาศการซื้อขายในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ และหากพิจารณาไปที่มาตรการสูงสุดคือห้ามการซื้อขายแบบ Net Settlement นั้น ฝ่ายวิจัยคาดว่าไม่น่าจะมีผลรุนแรงมากนัก โดยเป็นไปได้ที่จะเห็นการเวียนหุ้นเล่นในหลายบริษัทรวมถึงยังทำสามารทำการซื้อขายได้ด้วยวิธีอื่นๆ รวมถึงการใช้เงินสดเต็มจำนวนในการซื้อขายหุ้น
ทั้งนี้นักลงทุนควรจะเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อหุ้นที่ร้อนแรงเหล่านี้ โดยในการตัดสินใจลงทุนควรให้พิจารณาความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญ ก่อนที่จะคาดหวังผลตอบแทน ทั้งนี้นักลงทุนควรสลับเข้ามาลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ มี EPS Growth สูงและคาดหวังเงินปันผลได้ ซึ่งตัวเลือกที่โดดเด่น ในช่วงเวลานี้ได้แก่ คือ RS (FV@B13.2)

ต่างชาติสลับมาซื้อ แต่แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นร้อน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เพิ่มขึ้นจากเท่าตัวกว่าวันก่อนหน้า อยู่ที่ 890 ล้านเหรียญฯ โดยยังคงเป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศเช่นเดิม สูงสุดคือไต้หวันที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 451 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 3 เท่าตัว) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ซื้อเป็นวันที่ 2 เช่นกัน ราว 361 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 49%) ขณะที่อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 36 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 77% และเป็นการซื้อสุทธิ 7 จาก 8 วันหลังสุด) ส่วนฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 28 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบเท่าตัว) และสุดท้ายคือไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 65% เหลือราว 15 ล้านเหรียญฯ (493 ล้านบาท)
แม้ว่าเงินทุนต่างชาติจะเริ่มไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงซื้อเบาบางในประเทศไทย ซึ่งยังคงเชื่อว่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติจะยังเป็นการซื้อสลับขายเบาบางจนถึงปลายปีนี้ เนื่องจากขาดปัจจัยหนุน โดยกลุ่มที่น่าจะมีแรงขับเคลื่อนตลาดช่วงปลายปีน่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มีแรงซื้อเข้ามาจากกองทุน LTF

รายงาน Fed ยังไม่ส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้น
      วานนี้ทั้งสหรัฐ และอังกฤษ ได้รายงานผลการประชุมที่ผ่านมาในเดือน ต.ค. ซึ่งพบว่าไม่ประเด็นอะไรเพิ่มเติมจากเดิม คือทั้ง 2 ประเทศยังคงกังวลต่อการชะลอตัวของเงินเฟ้อ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
     เริ่มจากสหรัฐ เงินเฟ้อเดือน ต.ค. อยู่ที่ 1.7%yoy (เปลี่ยนแปลง 1.3% ตั้งแต่ต้นปี) ซึ่งต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 30 แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต่างมองว่าในระยะกลางถึงระยะยาว เงินเฟ้อจะเข้าสู่ระดับเป้าหมาย 2% ได้ และจากการสำรวจของรอยเตอร์ คาดว่าเงินเฟ้อในอีก 5-10 ปี ข้างหน้าจะอยู่ที่เฉลี่ย 2.6% ต่อปี (ลดลงจากการคาดการณ์เดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.8% ต่อปี) จึงทำให้การประชุมครั้งล่าสุด Fed ยังคงดอกเบี้ยฯ ระดับต่ำ 0.25% ต่อเนื่องนานถึง 6 ปี
เช่นเดียวกับ อังกฤษ เงินเฟ้อเดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 1.3%yoy (จาก 1.2%yoy เดือนก่อนหน้า และเปลี่ยนแปลงเพียง 0.8%ytd ตั้งแต่ต้นปี) ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก ทั้งนี้ล่าสุด รัฐบาลอังกฤษ ได้ทำการปรับลด GDP Growth ระยะยาวคือ ปี 2558 เหลือ 2.9% จากเดิม 3.1% และ ปี 2559 เหลือ 2.6% จากเดิม 2.8% โดยยังคงปี 2557 ไว้ที่เดิมคือ 3.5% (แต่ยังสูงกว่า IMF คาด 3.2%) เนื่องจากภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากประเทศคู่ค้าชะลอตัว
      ดังนั้น ภายใต้ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการอ่อนตัวลงของเงินเฟ้อ ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้คณะกรรมการ Fed และ BOE บางท่าน ได้แก่คณะกรรมการ Fed 3 จาก 10 ราย (Charles Evans - Fed สาขาชิคาโก, William Dudley - Fed สาขานิวยอร์ก และ Narayana Kocherlakota - Fed Minneapolis) และคณะกรรมการ BOE 7 จาก 9 ราย ซึ่งเห็นว่าควรเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ออกไปจากเดิมในช่วง 2H58 ทั้งนี้คาดว่าประเด็นการเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ของทั้งสหรัฐ และอังกฤษ น่าจะสร้างความผ่อนคลายให้ตลาดได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่ท้ายที่สุดหากการขยายตัวของเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะกลับมากดดันตลาดอีกครั้งแน่นอน ทั้งนี้ต้องติดตามผลการประชุมครั้งสุดท้ายในปีนี้ของ Fed อีกครั้งในช่วงวันที่ 16-17 ธ.ค. 2557
      ขณะที่ทางฝั่งของไทย หลังจากสภาพัฒน์ ได้รายงาน GDP Growth งวด 3Q57 ขยายตัวเพียง 0.6%yoy ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9M57 ขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.17%yoy และหากอิงตามประมาณการเดิมของ ASP ที่ในปี 2557 ต้องขยายตัว 1.5%yoy นั่นคืองวด 4Q57 ต้องขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5.5%yoy ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก จากการกดดันของภาคการค้าระหว่างประเทศ (การส่งออกและนำเข้าโดยรวม) ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก เนื่องจากผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงคาดว่า GDP Growth ในปี 2557 น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 1%yoy หรืองวด 4Q57 จะขยายตัวได้ไม่เกิน 3.5%yoy

เศรษฐกิจชะลอตัว-กำลังซื้อหดหาย…ปรับลดประมาณฯกลุ่มการค้าปลีก-ส่ง
    เป็นที่น่าสังเกตว่าผลประกอบการงวด 3Q57 ของบริษัทจดทะเบียนที่อิงกับการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ผลการดำเนินงานออกมาทรงตัวหรือต่ำกว่าคาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาลที่เป็นช่วง low season รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรฯ ปี 2557 และ 2558 ของกลุ่มค้าปลีก-ส่ง ลง 15.5% และ 13.6% ตามลำดับ เกิดจากการปรับลดกำไรฯ ของหลายบริษัท ได้แก่
CPALL : ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้าลงเฉลี่ยปีละ 5% จากการปรับลดกำไรของ MAKRO ก่อนหน้านี้ และลดอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมของ CPALL คาดกำไรปีนี้เพียงแค่ทรงตัวจากปีก่อน แต่จะกลับมาเติบโตโดดเด่นอีกครั้งปีหน้าราว 30% จากฐานที่ต่ำ และกำไรจาก MAKRO ที่เติบโดดเด่นจากยอดขายสาขาเดิมและการเปิดสาขาใหม่ในปีหน้า
MAKRO : ปรับลดประมาณการกำไรในปีนี้และปีหน้าลง 8% และ 10% ตามลำดับ จากยอดขายและอัตราการทำกำไรที่ต่ำกว่าคาด อย่างไนก็ตามแนวโน้มกำไรปีนี้ยังเติบโต 16% yoy และปีหน้าเติบโตราว 24% จากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและผลบวกของการเปิดสาขาใหม่
HMPRO : ปรับลดกำไรปี 2557 และ 2558 ลง 7% และ 10% ตามลำดับ จากอัตราการทำกำไรที่ต่ำกว่าคาด ส่งผลให้กำไรปีนี้จะเติบโตเพียง 6% แต่จะเพิ่มขึ้นในปีหน้าราว 16% จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และผลขาดทุนของ Mega Home ที่ลดลง
BJC : ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้าลง 40% และ 39% ตามลำดับ จากรายได้และอัตราการทำกำไรที่ต่ำกว่าคาดเดิมมาก และยังไม่ได้รวมผลขาดทุนของการซื้อกิจการ METRO Vietnam ซึ่งช่วง 2 ปีแรกอาจมีผลขาดทุน และยังกดดันภาพรวมกำไรสุทธิ ขณะที่แนวโน้มกำไรงวด 4Q57 ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงยังเป็นช่วงที่บริษัทลงทุนค่อนข้างมาก
ROBINS : ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้าลงเฉลี่ย 8% จากยอดขายและอัตราทำกำไรที่ลดลง คาดว่ากำไรปีนี้จะเพียงแค่ทรงตัวจากปีก่อน แต่กำไรปีหน้าจะกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีอีกครั้งเพิ่มขึ้นราว 17% ทั้งรายได้จากการขายซึ่งคาดยอดขายสาขาเดิมจะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และรายได้ค่าเช่าที่ยังดีต่อเนื่องและจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30%
ขณะที่กลุ่มไอซีที ผลการดำเนินงานโดยรวมทรงตัวใกล้เคียงกับประมาณการ แม้จะมีการปรับประมาณการของหลายบริษัทใหญ่ในกลุ่ม ได้แก่
DTAC : ปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 และ 2558 ลงจากเดิม 13% และ 14% ตามลำดับ สะท้อนผลกำไรงวด 3Q57 ต่ำกว่าคาด เพราะรายได้ค่าบริการที่ลดลง ขณะที่งวด 4Q57 น่าจะฟื้นตัวได้ โดยรวมกำไรปีนี้จะเติบโต 8.3%yoy และเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปี 2558 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะกลับมาส่งผลบวกต่อรายได้ และต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลงจากผลบวกการย้ายลูกค้าสัดส่วนราว 76% ไประบบ 3G เต็มปี
THCOM : ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2557 และ 2558 ลง 13.2% และ 1.8% สะท้อนการด้อยค่าธุรกิจสมุดหน้าเหลืองของบริษัทร่วม CSL และต้นทุนบริการเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ากำไรสุทธิ 4Q57 จะกลับมาเติบโตจาก 3Q57 เพราะไม่มีรายการพิเศษแล้ว คาดกำไรสุทธิปีนี้เติบโตถึง 45% และจะเพิ่มขึ้น 27% ในปีหน้า จากผลบวกบริการไทยคม 7 เต็มปี
JAS : ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2557 และ 2558 เฉลี่ยปีละ 31.7% ผลจากจำนวนลูกค้าใหม่ต่ำกว่าคาด และในอนาคตจำนวนลูกค้าใหม่ยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอัตราลดลงจากการแข่งขันสูง โดยคาดกำไรปีนี้จะเติบโต 10.8% และลดลง 20% ในปีหน้า

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!