WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      การประเมินข้อมูลย้อนหลังไป 10 ปี พบว่าเดือน ธันวาคม หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงมี 2 กลุ่มคือ ค้าปลีก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ได้ปรับขึ้นไปมากแล้ว ทำให้กลุ่มค้าปลีกโดดเด่น เฉพาะอย่างยิ่ง CPALL (FV@B53) สำหรับหุ้น Top Pick ยังเลือก RS (FV@B 13.20) ตามเดิม

สหรัฐสัญญาณการเติบโตยังชัดเจน สวนทางยุโรป-จีน
      ท่ามกลางความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่พบว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยังคงมีทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ทั่วไป เดือน ต.ค. ทรงตัวที่ระดับ 1.7%yoy (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) ซึ่งเป็นการชะลอตัวตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ได้รับการชดเชยจากราคาอาหารและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน) เดือน ต.ค. ได้ปรับเพิ่มขึ้น 0.2%mom หรืออยู่ที่ 1.8%yoy
เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง พบว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ย. ปรับตัวลง 2,000 ราย อยู่ที่ระดับ 291,000 ราย และเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับเพิ่มขึ้น 1,750 ราย ที่ระดับ 287,500 ราย อย่างไรก็ตาม ถือว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์อยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 ราย ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10 จากการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่รายงานไปก่อนหน้า โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร ในเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้น 214,000 ราย ส่งผลให้ส่วน อัตราว่างงาน เดือน ต.ค. ลดลงที่ระดับ 5.8% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี)
สวนทางกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้น (มาร์กิต) เดือน พ.ย. ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน และลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 โดยลดลงจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ และ ยอดส่งออก ซึ่งลดลงเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ เดือน มิ.ย.2556 แต่กลับพบว่าดัชนีการจ้างงานในภาคผลิตปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของภาคการผลิต น่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และส่งผลไปในอีกหลายประเทศ เช่น ยุโรป และ จีน พบว่าดัชนี PMI เบื้องต้น เดือน พ.ย.ลดลงเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว เชื่อว่าความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ จะสามารถชดเชยผลจากการชะลอตัวทางภาคการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบทั่วโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ให้ความสนใจและยังกังวล เนื่องจากอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% จึงทำให้ Fed อาจใช้เป็นเหตุผลเพื่อคงดอกเบี้ยฯ ต่ำ 0.25% ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นราว 2H57 ซึ่งจะทำให้ประเด็นนี้กลับมากดดันตลาดได้อีกครั้ง

10 ปีที่ผ่านมา พบว่า หุ้นค้าปลีกโดดเด่นในเดือน ธ.ค.
ฝ่ายวิจัยได้พิจารณาตลาดหุ้นในเดือน ธ.ค. ช่วง 10 ปีหลังสุด (2547 - 2556) พบว่า ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 2.45% โดยมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 80% โดยมีกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นมากกว่าตลาดคือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 7.24% ด้วยโอกาส 80% เท่ากัน ตามมาด้วยกลุ่มค้าปลีก ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.76% ด้วยโอกาสถึง 90% และกลุ่ม โรงพยาบาล ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.28% ด้วยโอกาส 80%
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เผชิญกับทั้งข่าวดีและข่าวร้ายสลับกันไปในหุ้นแต่ละตัว หุ้นใหญ่ในกลุ่มได้แก่ DELTA ปรับตัวสูงขึ้นราว 16.28% จากข่าวดีการเข้าคำนวณในดัชนี MSCI และ SVI ปรับตัวลดลงจากข่าวโรงงานถูกไฟไหม้ถึง 24.91% ซึ่งน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวน่าจะปรับตัวขึ้นไปรออยู่ข้างหน้าแล้ว
ทำให้กลุ่มค้าปลีกมีความน่าสนใจมากกว่า โดยหุ้นที่โดดเด่นในกลุ่มคือ BIGC ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 8.00% ในช่วงเดือน ธ.ค. (10 ปีย้อนหลัง) และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 80% CPALL ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 7.11% และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวก 80% เท่ากัน และสุดท้ายคือ HMPRO ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.61% ด้วยโอกาส 70% ทั้งนี้ในเชิงปัจจัยพื้นฐานฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ CPALL (FV@B 53) ส่วน BIGC (FV@B 218) แนะนำ ขาย และ HMPRO (FV@B 9.80) แนะนำ ถือ

ต่างชาติ, สถาบัน, และพอร์ตโบรกเกอร์ พร้อมใจกันขาย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ลดลง 14% เหลือราว 757 ล้านเหรียญฯ ซื้อสุทธิสูงสุดยังคงเป็นไต้หวันที่ซื้อต่อเนื่อง 3 วัน 361 ล้านเหรียญฯ (แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 20%) ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ที่ซื้อเป็นวันที่ 3 เช่นกัน ราว 327 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 8%) ขณะที่ฟิลิปปินส์ยังซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากวันก่อนหน้า แตะระดับ 115 ล้านเหรียญฯ (สูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน) สวนทางกับ อินโดนีเซีย และ ไทย ที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อย ราว 36 และ 11 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิแต่เบาบางเพียง 346 ล้านบาท หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า แต่ภาพรวมยังคงเป็นการสลับซื้อขายรายวันด้วยปริมาณเบาบาง ขณะที่กลุ่มนักลงทุนในประเทศ ทั้งสถาบัน และ พอร์ตโบรกเกอร์ ต่างสลับมาขายสุทธิเช่นกัน ราว 882 และ 742 ล้านบาท ตามลำดับ กดดันให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงวานนี้ เชื่อว่าในระยะสั้นควรระมัดระวังแรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์ หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านักลงทุนกลุ่มนี้ซื้อสุทธิติดต่อกันถึง 16 วัน กว่า 9.9 พันล้านบาท

ปิดท้ายสรุปการรายงานงบฯ...กลุ่มส่งออกมาตามคาด
งวด 3Q57 เป็นช่วง High Season ของฤดูกาลส่งออก โดยทั้งกลุ่มส่งออกอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลประกอบการเติบโตจากคำสั่งซื้อใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาท โดยช่วงกลางไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าจาก 31.82 บาท/เหรียญ ไปที่ 32.57 บาท/เหรียญ หรืออ่อนค่ากว่า 2.3% ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการฯ ของทั้ง 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มส่งออกอาหาร เพิ่มประมาณการกำไรปี 2557 และ 2558 ที่ 3.5% และ 5.2% ตามลำดับ หลักๆ เกิดจาก
  TUF : ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2557-58 ราว 0.4% และ 7.5% จากเดิม ตามลำดับ สะท้อนผลบวกจากการซื้อกิจการ Mer Alliance และ King Oscar คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2557-58 เติบโต 83.4% yoy และ 26.5% yoy ตามลำดับ
  MINT : ปรับเพิ่มประมาณการฯ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2562 เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ยปีละ 4% สะท้อนแผนการขายโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ภูเก็ตต่อเนื่อง 5 ปี ขณะที่กำไร 4Q57 มีโอกาสสร้างจุดสูงสุดของปีจากทุกธุรกิจหลังการเมืองมีเสถียรภาพ และอานิสงส์จากช่วง High Season
   TVO : ปรับเพิ่มประมาณการฯ ปี 2557 และ 2558 ขึ้น 18% และ 17% ตามลำดับ สะท้อนแนวโน้มผลประกอบการงวด 4Q57 จะฟื้นตัวขึ้นจากต้นทุนสต็อกวัตถุดิบเมล็ดถั่วเหลืองมีราคาลดลง หนุน Gross Margin ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศแห้งแล้งในบราซิลส่งผลต่อการเพาะปลูกถั่วเหลือง รวมถึงราคากากถั่วเหลืองที้พิ่มขึ้นรองรับปริมาณการเลี้ยงไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยรวมปีนี้โต 74% และ 3.5% ในปีหน้า
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประมาณการกำไรปี 2558 ที่ 9.4% โดย KCE ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2557 ขึ้น 5.7% สะท้อนแนวโน้มการบันทึกเงินชดเชยประกันน้ำท่วม สำหรับแนวโน้มธุรกิจปี 2558 โรงงานแห่งใหม่จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ ทำให้รองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะหนุนทั้งรายได้ และกำไรสุทธิในปี 2558 เติบโตทำ New High ต่อเนื่อง ยกเว้น SVI ปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 ลงถึง 171.1% จากเดิม สะท้อนผลขาดทุนจากความเสียหายของสินทรัพย์จากเหตุเพลิงไหม้ ส่งผลให้ทั้งปี 2557 พลิกขาดทุน แต่เพิ่มประมาณการปี 2558 ถึง 59.8% เนื่องจากได้รวมเงินประกันภัยจากทรัพย์สินที่จะทยอยบันทึกเข้ามาในปี 2558 และ 2559

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!