WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ระยะสั้นตลาดยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ กลยุทธ์ระยะกลาง-ยาว ยังเน้นหุ้นเติบโตตามการลงทุนภาครัฐ P/E ต่ำ + เงินปันผลสูง เช่น SAMTEL(FV@B27.0) และ AIT(FV@B53.0) แต่เนื่องจากการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว จึงแนะนำลงทุนระยะสั้นๆ ERW(FV@B6.0) คาดกำไรฟื้นตัวในงวด 4Q57-1Q58

ระยะสั้นคาดว่า ยังไม่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรป
     การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ จะทราบผลในพรุ่งนี้ตามเวลาไทย แต่จะมีรายงานในวันจันทร์ที่ 8 ธ.ค. ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมจากครั้งก่อน เนื่องจาก ECB น่าจะรอดูความคืบหน้าของมาตรการเพิ่มเม็ดเงินอัดฉีดผ่านการเข้าซื้อ covered bonds ใน 3 ประเทศ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และการเข้าซื้อ ABS ในประเทศ โปรตุเกส และกรีซ ที่กำหนดไว้ใน 4Q57 ขณะที่ล่าสุดพบว่าดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญบางประการ เริ่มมีการฟื้นตัวบ้างในเดือน พ.ย. ได้แก่ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในสหภาพยุโรป ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับรายประเทศ ได้แก่ เยอรมัน (ใหญ่สุดในยุโรป) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ฟื้นตัวเป็นครั้งแรก หลังจากลดลงต่อเนื่องใน 6 เดือน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน และอัตราว่างงานเยอรมันที่ 6.6% (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) และเช่นเดียวกับฝรั่งเศส ที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เพิ่มขึ้นอีกครั้งและเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปโดยรวมยังสูง 11.5% และเงินเฟ้อที่ต่ำ 0.3% ทำให้ ECB มีความจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องในปี 2558
     ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐแผ่วเบาไปบ้าง แต่คาดว่าเป็นเพียงชั่วคราวกล่าวคือ การจ้างงานภาคเอกชน เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่ง (ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 233,000 ตำแหน่ง แต่ถือว่ามากกว่าที่เฉลี่ย 200,000 ตำแหน่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8) โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคบริการเป็นหลัก สอดคล้องกับ ดัชนี PMI บริการ (มาร์กิต) เดือน พ.ย. ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และก่อนหน้าที่เริ่มเห็นการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เพิ่มขึ้นต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐในช่วงสุดท้ายของปีนี้ อ่อนตัวลงไปบ้าง โดย GDP Growth งวด 4Q57 ก็น่าจะขยายตัวราว 2%yoy แต่ทั้งปี 2557 น่าจะเติบโต 2.2% ตาม IMF คาด
      แม้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจชะลอตัวช่วงสั้นแต่คาดว่าโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในงวด 2H58 ยังมีความเป็นไปได้ โดยเริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์บางราย คาดการณ์ว่า FED น่าจะขึ้นดอกเบี้ยฯ เมื่อสิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 1.25% (จากปัจจุบัน ที่ระดับ 0.25%) แต่ยังต่ำกว่าการประเมินของ Fed ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.375% ซึ่งคงต้องติดตามความชัดเจนการประชุมครั้งสุดท้ายปี ระหว่าง 16-17 ธ.ค. นี้ แต่อย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ยฯ โดยปกติน่าจะกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือน เพราะผลจากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า การขึ้นดอกเบี้ยฯ ทุก 1% จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐ (คิดเป็น 70% ของ GDP) ราว 1.29% ในช่วงแรกๆ แต่จะลดลงเพียง 0.44% ในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งอาจจะทำให้ Fed ทยอยส่งสัญญาณในการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ อย่างช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับนักลงทุนมากนัก

เงินทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิเอเซีย อีกครั้งแต่เบาบาง
      วานนี้ นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง แต่เบาบางเพียง 46 ล้านเหรียญฯ (หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) โดยภาพรวมยังคงเป็นการสลับซื้อขายเบาบางในทุกประเทศ กล่าวคือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 54 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 7% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไทยที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว อยู่ที่ 41 ล้านเหรียญฯ (1.4 พันล้านบาท) สวนทางกับประเทศอื่นๆที่ขายสุทธิออกมา คือ ไต้หวันขายสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่ยอดขายลดลงถึง 91% เหลือเพียงราว 23 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิราว 24 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 8 วันก่อนหน้า) และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 2 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า)
      กระแสเงินทุนจากต่างชาติยังคงเป็นไปในทิศทางเดิมคือเลือกซื้อขายเบาบางรายประเทศ ขณะที่ในไทย ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่อง โดยเป็นการซื้อสุทธิวันที่ 18 จาก 22 วันหลังสุด มียอดซื้อรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดตราสารหนี้ของไทย วานนี้นักลงทุนต่างชาติได้สลับมาซื้อสุทธิสูงถึงราว 7.6 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน) แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกับค่าเงินบาทและตลาดหุ้นมากนัก เนื่องจาก ในระยะหลังนักลงทุนกลุ่มนี้ไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน โดยเป็นการสลับซื้อขายรายวันเท่านั้น

ยังไม่มีปัจจัยใหม่ ขณะที่เก็งการกำไรหุ้นเล็กน่าจะลดน้อยลง
      ระยะสั้นๆ คาดว่าตลาดน่าจะขาดแรงหนุน หลังดัชนีไม่สามารถผ่าน 1,600 จุดไปได้ ซึ่งถือเป็นระดับที่มี current P/E สูงถึง 17.5 เท่า และสูงเป็นลำดับต้นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ยังนักลงทุนต่างชาติยังกลับมาซื้อตลาดหุ้นไทยเบาบาง โดยปัจจัยเดียวที่ยังพอจะช่วยหนุนตลาดได้ในช่วงปลายปีคือ แรงซื้อของนักลงทุนสถาบันฯ จาก LTF ที่มักกระจุกตัวในช่วงปลายปีกว่า 70% ของยอดซื้อกองทุน LTF ทั้งปี โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค. มักจะมีแรงซื้อ LTF เข้ามามากที่สุดของปี (เฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 2 หมื่นล้านบาท)
ขณะเดียวกันคาดว่า แนวโน้มการเก็งกำไรในหุ้นเล็กน่าจะลดน้อยถอยลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มูลค่าการซื้อขายแต่ละวันที่สูงเฉลี่ย 4-5 หมื่นล้านบาท พบว่ากว่า 65.4% เป็นหุ้นนอก SET50 ขณะที่มูลค่าตลาดรวม (Market capitalization) เพียง 28.9% และให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี สูงถึงกว่า 45%
ขณะที่กว่า 52% เป็นมูลค่าซื้อขายหุ้นนอก SET100 แต่พบว่ามีมูลค่าตลาดรวม (Market capitalization) เพียง 20.8% เท่านั้น แต่ให้ผลผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี สูงกว่า 43%
       และเช่นเดียวกับการซื้อขายในหุ้น MAI (ปัจจุบันมี 109 บริษัทจาก 8 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งผลกำไรกว่า 40% กระจุกตัวในอุตสาหกรรม และอีก 38% อยู่ในกลุ่มพลังงานทดแทน) พบว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ขณะนี้ได้สูงถึง 9 พันล้านบาท เทียบกับช่วงต้นปี 2557 เฉลี่ยต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และทำให้ market cap เพิ่มขึ้น 160% เป็น 3.8 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 11 เดือน ขณะที่ผลตอบแทนจากต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่า MAI เฉลี่ยสูงถึง 120%
       และหากพิจารณาค่า Current P/E พบว่าหุ้นใน MAI สูงถึง 60 เท่า ขณะที่หุ้นเกิน SET100 อยู่ที่ 22-23 เท่า และ SET 17 เท่า สะท้อนถึงความแพงมากขึ้น ซึ่งทาง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไร ได้แก่ การปรับปรุงเกณฑ์คำนวณ Turnover List ใหม่ (โดย ก.ล.ต.) โดยไม่กำหนดจำนวนหลักทรัพย์ที่ติดเกณฑ์ Turnover List ใน SET และ Mai จากเดิมที่มีการกำหนดจำนวนไว้ รวมทั้งกรณีที่หุ้นแม่ใน SET และ Mai ติด Turnover List ให้ warrant ของบริษัทนั้น ติด Turnover List ควบคู่ไปด้วย ซึ่งมาตรการนี้มีผลแล้วตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา
       นอกจากนี้ มาตรการ Cash Balance เกณฑ์ใหม่ ซึ่งกำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ หากติด Trading Alert (ยังมิได้กำหนดรายละเอียด) ให้เข้าเกณฑ์ Cash Balance ทันที 3 สัปดาห์ และหากยังมีการซื้อขายผิดปกติ และติด Trading Alert ครั้งที่ 2 หุ้นดังกล่าวจะถูกขยายเวลาติดเกณฑ์ Cash Balance อีก 3 สัปดาห์ รวมถึงไม่สามารถนำหุ้นเป็นหลักประกันได้ และถ้าหากถูก Trading Alert เป็นครั้งที่ 3 หุ้นดังกล่าวจะไม่สามารถซื้อขายแบบ Net Settlement ได้ภายใน 1 วัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวอยู่ในระหว่างรอความเห็นชอบจาก กลต. ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงต้นปี 2558 รวมทั้งการพิจารณาเรื่องของการชำระราคาและส่งมอบภายใน 2 วันทำการ (T+2) ซึ่งน่าจะช่วยลดการเก็งกำไรหุ้นเล็กได้ในระยะนี้

หนาวนี้ ท่องเที่ยวทั่วไทย ต้องไปที่ ERW
        พอย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งถือเป็นฤดูการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปกติจะกินระยะเวลาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ปีถัดไป เห็นได้ชัดว่าราคาหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางท่องเที่ยวสามารถสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดฯ ได้ ไม่ว่าจะเป็น AOT, AAV, THAI ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการบิน และ MINT, CENTEL และ ERW ที่อยู่ในกลุ่มโรงแรม-อาหาร การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นดังกล่าวถือว่ามีความสอดคล้องกับพัฒนาการของปัจจัยพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน ต.ค. 2557 ที่มีจำนวน 2.18 ล้านคน หรือ เติบโต 6.1% yoy ซึ่งถือเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรก หลังจากติดลบมานาน 8 เดือนติดต่อกัน ขณะที่แนวโน้มเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2557 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเต็มตัว และเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปและอเมริกานิยมเดินทางมาไทย น่าจะทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงกว่าระดับ 2.1 ล้านคน/เดือน และส่งผลให้ทั้งปี 2557 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 25 ล้านคน หดตัวน้อยลงเหลือ 5.8% yoy (งวด 10M57 นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 19.74 ล้านคน ลดลง 8.7% yoy) ส่วนแนวโน้มในปี 2558 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 12% สู่ระดับ 28 ล้านคนในปี 2558 ตามภาวะของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
         สำหรับ ตัวเลือกการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักไปที่หุ้น ERW (FV@B 6) เพราะนอกจะเป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ยังมีจุดเด่นในการที่ถูกคาดหมายว่า ผลประกอบการปี 2558 จะพลิกกลับจากที่คาดว่าจะขาดทุน 162 ล้านบาท (ไม่รวมรายการพิเศษ) ในปี 2557 มาเป็นกำไร 200 ล้านบาท โดยแรงขับเคลื่อนกำไรจากการดำเนินงานปี 2558 มี 2 ส่วน ได้แก่ รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (Rev Par) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 16% YoY ซึ่งเห็นสัญญาณได้ชัดเจนจากการกลับมามี Occupancy Rate แตะระดับ 80% ของโรงแรมหลักในกลุ่ม อีกส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดโรงแรงใหม่มากถึง 12 แห่งในระหว่างปี 2557 นอกจากนี้ยังมีรายการที่ยังไม่ถูกรวมไว้ในประมาณการคือ แผนการขายโรงแรง IBIS 2 แห่งเข้ากองทุน REITs ในช่วง 2Q-3Q58 (ซึ่งเป็นช่วง Low Season ของการท่องเที่ยว) โดยคาดว่าจะมีกำไรจากรายการดังกล่าวหลังภาษี ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวทำให้ ERW มีความโดดเด่น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!