WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       ช่วงปลายปี ต่อเนื่องต้นปี 2558 เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะดีต่อผู้ประกอบการโรงแรม และที่เกี่ยวข้อง ยังแนะนำลงทุน ERW(FV@B6.0) และเลือกเป็น Top pick คาดกำไรฟื้นตัวในงวด 4Q57-1Q58 สดใส ขณะที่ยังชื่นชอบหุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาครัฐ SAMTEL(FV@B27.0), AIT(FV@B53.0)

ตลาดอาจผิดหวัง ECB ยังไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
       ผลประชุมของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เป็นไปตามคาด กล่าวคือ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยฯ ไว้ที่ระดับ 0.05% พร้อมทั้งติดตามดูดัชนีชีนำเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้าได้อัดฉีดผ่านการเข้าซื้อ covered bonds ใน 3 ประเทศ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และการเข้าซื้อ ABS ในประเทศ โปรตุเกส และกรีซ ที่กำหนดไว้ใน 4Q57 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในบางประเทศ โดยเฉพาะเยอรมัน ล่าสุด คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 2.4%yoy (สูงสุดในรอบ 3 เดือน) สอดคล้องกับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือน พ.ย. ฟื้นตัวเป็นครั้งแรก หลังจากลดลงต่อเนื่องใน 6 เดือน ตามมาด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน และอัตราว่างงานลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ราว 6.6% เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ที่พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เพิ่มขึ้นทำสถิติ สูงสุดในรอบ 7 เดือน ซึ่งคาดว่าช่วยคลายความกังวลต่อการขยายตัวในช่วงสุดท้ายของปีนี้


      อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ ECB ได้ปรับลดลงเหลือ 1% ในปี 2558 และ 1.5% ในปี 2559 (จากเดิม 1.6% และ 1.9% ตามลำดับ) และเป้าหมายเงินเฟ้อที่คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2557 จะอยู่ที่ 0.5% และแม้จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.7% ในปี 2558 แต่ยังห่างไกลเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก จึงทำให้คาดว่า ECB ยังมีความจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องในปี 2558
เช่นเดียวกับ อังกฤษ ผลการประชุม BOE ยังคงดอกเบี้ยฯ 0.05% ต่อเนื่องเกือบ 7 ปี และคงมาตรการ QE ไว้ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์ เช่นเดิม ขณะที่เงินเฟ้อยังชะลอตัวเหลือ 1.3% ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้น 2% (เฉลี่ย 0.8%ytd) จึงทำให้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของอังกฤษอาจจะถูกล่าช้าออกไปและอาจจะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับสหรัฐ


      ขณะที่การจ้างงานสหรัฐยังแข็งแกร่ง ล่าสุดพบว่าผู้ว่างงานที่ขอรับสวัสดิการครั้งแรกสิ้นสุดวันที่ 29 พ.ย. ลดลง 17 พันตำแหน่ง ลงมาอยู่ที่ 297 พันตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้เล็กน้อยที่ 295 พันตำแหน่ง ขณะที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non-farm payrolls เป็นการจ้างงานภาคการผลิตสินค้า อุตสาหกรรม ก่อสร้าง เป็นต้น) เพิ่มขึ้น 321 พันตำแหน่ง (มากกว่า 200 พันตำแหน่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10) เช่นเดียวกับ การจ้างงานเอกชนพบว่าเพิ่มขึ้น 208 พันตำแหน่ง (มากกว่า 200 พันตำแหน่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6) ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ (ทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐต่ำเพียง 1.7%) เท่ากับเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนับจากนี้ แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรป จะมีผลต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในช่วง 2H57 หรือไม่ คงต้องติดตามการประชุม Fed ในวันที่ 16-17 ธ.ค.

เชื่อว่ายังมีแรงซื้อจากสถาบันเข้ามาต่อเนื่อง
      วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ แต่ตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคยังเปิดทำการตามปกติ โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 3 แต่เบาบางเพียง 57 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 74% จากวันก่อนหน้า) โดยเกิดจากการซื้อสุทธิในประเทศเดียวเท่านั้นคือ เกาหลีใต้ ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 238 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) สวนทางกับประเทศอื่นๆที่ขายสุทธิทั้งหมด กล่าวคือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 91 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 60 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 4 แสนเหรียญฯ) และสุดท้ายคือไต้หวันที่สลับมาขายสุทธิราว 30 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อใน 3 วันหลังสุด)
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 1.2 พันล้านบาท แต่แนวโน้มเงินทุนยังคงทยอยไหลเข้า โดยเป็นการซื้อสุทธิ 18 จาก 23 วันหลังสุดรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนฝั่งสถาบันยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 1.6 พันล้านบาท และยังเชื่อว่าน่าจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาหนุนดัชนีหุ้นไทยต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่ให้ระมัดระวังแรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์ที่มียอดซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 57 สูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงผิดปกติ (5 ปีหลังสุดมียอดซื้อสุทธิสะสมเฉลี่ยเพียง 1.6 พันล้านบาท ต่อปี)

ช่วง peak ของฤดูกาลท่องเที่ยว...ERW โดดเด่นสุด
     เข้าสู่ช่วงปลายปีที่เป็นช่วง high season ของธุรกิจท่องเที่ยว พบว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมฯ มีการฟื้นตัวได้เป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน ต.ค. 2557 ที่มีจำนวน 2.18 ล้านคน หรือเติบโต 6.1%yoy ซึ่งถือเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรก หลังจากติดลบมานาน 8 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้ภาพรวมของการท่องเที่ยวในประเทศไทยในรอบ 10 เดือนของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนกว่า 19.7 ล้านคน แม้จะลดลงราว 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีนักท่องเที่ยวราว 19.74 ล้านคน เนื่องจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองช่วงต้นปี แต่ก็ได้มีการเร่งส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดถึงสิ้นปี โดยคาดว่าแนวโน้มเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2557 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเต็มตัว และเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปและอเมริกานิยมเดินทางมาไทย น่าจะทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงกว่าระดับ 2.1 ล้านคน/เดือน และส่งผลให้ทั้งปี 2557 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 25 ล้านคน หดตัวน้อยลงเหลือ 5.8% yoy

     แต่แนวโน้มในปี 2558 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 12% สู่ระดับ 28 ล้านคนในปี 2558 ตามภาวะของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดว่าในปีนี้รายได้จากการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ราว 1.14 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ 1.17 ล้านล้านบาท ขณะที่แนวโน้มปี 2558 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น สร้างรายได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท
      การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรงแรมและอาหาร ได้แก่ MINT (FV@B 40) รายได้จากธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม 40% และธุรกิจโรงแรม 45%, CENTEL (FV@B 46) รายได้จากธุรกิจขายอาหาร 45% และธุรกิจโรงแรม 50% และ ERW (FV@B 6) ที่รายได้หลักๆ มาจากธุรกิจโรงแรม รวมทั้งหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ได้แก่ AOT (FV@B 320), AAV (FV@B 4.95), THAI (FV@B15.1) โดยหุ้นทั้งสองได้รับประโยชน์อีกต่อจากต้นทุนราคาน้ำมันเครื่องบินที่ลดลง โดยปัจจุบัน ฝ่ายวิจัยยังคงสมมติฐานต้นทุนน้ำมันเครื่องบินที่ 115 เหรียญฯต่อบาร์เรล (เทียบเท่ากับสมมติฐานน้ำมันดิบดูไบ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล) หากปรับสมมติฐานลงจากเดิม 20 เหรียญฯต่อบาร์เรล คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรปี 2558 จากสมมติฐานเดิมให้กับ AAV เพิ่มขึ้นราว 412% และ THAI เพิ่มขึ้นราว 79% และจะหนุนมูลค่าพื้นฐานของ AAV และ THAI ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากเดิมหุ้นละ 4.95 และ 15.1 บาท เป็นหุ้น 5.2 และ 16.8 บาทต่อหุ้น

      ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ ERW ที่เป็นหุ้น Turnaround โดยคาดหมายว่าผลประกอบการปี 2558 จะพลิกกลับจากที่คาดว่าจะขาดทุน 162 ล้านบาท (ไม่รวมรายการพิเศษ) ในปี 2557 มาเป็นกำไร 200 ล้านบาท โดยแรงขับเคลื่อนกำไรจากการดำเนินงานปี 2558 มี 2 ส่วน ได้แก่ รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (Rev Par) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 16% YoY ซึ่งเห็นสัญญาณได้ชัดเจนจากการกลับมามี Occupancy Rate แตะระดับ 80% ของโรงแรมหลักในกลุ่ม อีกส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดโรงแรงใหม่มากถึง 12 แห่งในระหว่างปี 2557 นอกจากนี้ยังมีรายการที่ยังไม่ถูกรวมไว้ในประมาณการคือ แผนการขายโรงแรง IBIS 2 แห่งเข้ากองทุน REITs ในช่วง 2Q-3Q58 (ซึ่งเป็นช่วง Low Season ของการท่องเที่ยว) โดยคาดว่าจะมีกำไรจากรายการดังกล่าวหลังภาษี ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสี่งบวกไปถึงหุ้น SPF (กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาฯ สนามบินสมุย) ก็ได้รับผลดีดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยคาดว่ารายได้ค่าเช่าและบริการของกองทุนในปี 2557 จะเติบโต 6%yoy ตามการขยายเส้นทางการบินเพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสาร โดยทั้งปี 2557 คาดหมายเงินปันผลรวม 1.30 บาท/หน่วย เทียบเท่า Div Yield เฉลี่ย 7.5% ต่อปี จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนรับเงินปันผล

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!