WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ราคาน้ำมันลง อาจจะกดดันหุ้นน้ำมัน แต่เชื่อว่าน่าจะสะท้อนในราคาปัจจุบันแล้ว แต่กลับเป็นผลดีต่อหุ้นขนส่ง โดยเฉพาะเดินเรือคอนเทนเนอร์ และสายการบินต้นทุนต่ำ ที่มีการป้องกันต้นทุนน้ำมันน้อย วันนี้เลือก RCL และ AAV เป็น Top picks

เศรษฐกิจยุโรป จีน ยังไม่ดี ยกเว้นสหรัฐ
     ยุโรป วันนี้ ECB จะรายงานวงเงินกู้ภายใต้โครงการ TLTROs3 รอบที่ 2 (จากที่กำหนดไว้ 8 รอบ โดยมีเงื่อนไขว่าเงินกู้รอบนี้ต้องไม่นำไปชำระคืนเงินกู้รอบแรก) ซึ่งตลาดคาดจะมีธนาคารมาขอกู้ราว 148 พันล้านยูโร (หรือในช่วง 90-250 พันล้านยูโร) เทียบกับวงเงินกู้รอบแรกเพียง 82.6 พันล้านยูโร แต่อย่างไรก็ตามวงเงินปล่อยกู้ 2 รอบรวมกันยังต่ำกว่าเป้าหมาย 4 แสนล้านยูโร ซึ่งสะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปครั้งนี้น่าจะไม่แรงมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจไปก่อนหน้า เช่น สหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่น จึงคาดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปครั้งนี้น่าจะมีน้ำหนักต่อตลาดน้อย จึงทำให้ตลาดคาดหวังว่า อาจจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทาง ECB นอกเหนือจากมาตรการ TLTROs และ การเข้าซื้อ covered bonds (เริ่มเมื่อ ต.ค. 2557 คิดเป็นจำนวนเงิน 20.9 พันล้านยูโร) และการซื้อ ABS (เริ่มเดือน พ.ย. ได้เพียง 601 ล้านยูโร จากเป้าหมาย 1.4 หมื่นล้านยูโร) ทั้งนี้ต้องติดตามความชัดเจนการประชุมของ ECB ในวันที่ 22 ม.ค. 2558

จีน เช่นเดียวกับยุโรป ที่ดัชนีนี้นำเศรษฐกิจอ่อนแออย่างชัดเจน กล่าวคือ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน พ.ย. ติดลบ 2.7%yoy (ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 33 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน) เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และตลาดบ้าน จึงทำให้ภาคอุตฯ ชะลอตัวตามไปด้วย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำสุดในรอบ 5 ปี คือ เดือน พ.ย. ขยายตัวเพียง 1.4%yoy ต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ 3.5% ซึ่งหลัก ๆ น่าจะเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์โลกคาดว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยการลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (RRR) ซึ่งจากการสำรวจของบลูมเบิร์ก คาดว่า จะมีลด RRR ลงอย่างน้อย 2 ครั้งๆ ละ 0.5% ในงวด 1Q58 และ ในงวด 2Q58 จากระดับ 20% ในปัจจุบัน หลังจาก 22 พ.ย. ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.4% อยู่ที่ระดับ 5.6%

       ตรงข้ามกับสหรัฐ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุดรายงานตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับสองในรอบเกือบ 14 ปี สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี สะท้อนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ 5.8% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) และเช่นเดียวกับ ความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดเล็ก เดือน พ.ย. เพิ่มเป็นระดับสูงสุด ในรอบ 7 ปีกว่า เนื่องจากภาคธุรกิจมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้คาดว่าต่อจากนี้สหรัฐจะเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรป อาจทำให้การขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกล่าช้าไปกว่าเดิมที่กำหนดไว้ในช่วง 2H57 หรือไม่ คงต้องติดตามการประชุม Fed ในวันที่ 16-17 ธ.ค.

แรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์ยังมีอยู่
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 449 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 78 ล้านเหรียญฯ ในวันก่อนหน้า) โดยยอดขายหลักมาจากประเทศไต้หวัน ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 2 เท่าตัว อยู่ที่ 352 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 7 จาก 8 วันหลังสุด) ขณะที่เกาหลีใต้พลิกมาขายสุทธิราว 99 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 8 วันก่อนหน้า) และ อินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 6 แต่เบาบางราว 4 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (ลดลงถึง 89% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 6 ล้านเหรียญฯ (หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 5 วันก่อนหน้า) ส่วนตลาดในประเทศไทยปิดทำการในวันพุธ

       ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กลุ่มที่เทขายออกมาอย่างหนักกดดันดัชนีคือนักลงทุนต่างชาติ ที่สลับมาขายสุทธิถึง 3.5 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบกว่า 5 เดือน) และพอร์ตโบรกเกอร์ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 1.2 พันล้านบาท ในระยะสั้นเชื่อว่าแรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์จะยังมีต่อไป เนื่องจากยอดซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 57 ที่ยังสูงถึง 1.35 หมื่นล้านบาท (เฉลี่ย 5 ปีหลังสุด ยอดซื้อสะสมทั้งปีอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาทเท่านั้น) ขณะที่นักลงทุนต่างชาติน่าจะสลับซื้อขายรายวันตามสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้

ราคาน้ำมันลง ดีต่อ RCL, AAV
      การที่ราคาน้ำมันดิบลดลงต่อ เนื่องจากระดับ 120 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล เมื่อ ต้นปี 2557 ลงมาเหลือ 62 เหรียญฯ ในเช้านี้ หรือ ลดลงแล้วกว่า 51% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก ทั้งสหรัฐ และรัสเซีย และเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติหนี้ซับไพร์ม และหนี้สาธารณะในยุโรป และเป็นระดับที่ต่ำกว่าสมมติฐานที่ ASP กำหนดไว้ที่ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรลไว้มาก แม้จะเพิ่งปรับลดสมมติฐานก่อนหน้านี้ก็ตาม (14 ต.ค.2557 ASP เพิ่งปรับลดเหลือ 90 เหรียญฯ จากเดิม 100 เหรียญฯ) เป็นผลทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP เตรียมปรับลดสมมติฐานน้ำมันดิบดูไบระยะยาวตั้งแต่ปี 2558 ลงเหลือ 75 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะกดดันต่อผู้ประกอบการปิโตรเลี่ยมขั้นต้น โดยเฉพาะ PTTEP, PTT และผู้ผลิตถ่านหิน (BANPU, LANNA) ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัย พบว่าราคาน้ำมันดิบที่ลดลง 15 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลจะกดดันผลประกอบการ และ Fair Value ของ PTTEP และ PTT ดังนี้

PTTEP จะทำให้กำไรสุทธิในปี 2558 ลดลงจากสมมติฐานเดิม 15.7% และจะทำให้ Fair Value ปี 2558 ลดลงจากเดิม 180 บาท เหลือ 154.17 บาท ซึ่งหากเทียบกับราคาตลาดที่ลดลงเหลือ 122 บาท เท่ากับมี upside 26%

PTT ซึ่งถือหุ้น PTTEP 65% การปรับลดสมมติฐานของ PTTEP จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ PTT และ คาดว่าจะทำให้ Fair Value ปี 2558 ลดลงจากเดิม 405 บาท เหลือ 387.3 บาท ซึ่งหากเทียบกับราคาตลาดที่ลดลงเหลือ 345 บาท เท่ากับมี upside 12% อย่างไรก็ตาม Fair Value มีโอกาสจะขยับเพิ่มอีก การปรับขึ้นราคาขาย NGV และ LPG หน้าโรงแยกก๊าซฯ (กบง. จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ คาดว่าจะขึ้น NGV อีก 1 บาทต่อ กก. ปัจจุบันที่ PTT ขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนราว 3 บาทต่อ กก. โดยก่อนหน้านี้ กบง. เคยปรับขึ้นราคาขาย NGV ไปแล้ว 1 บาท เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา การขึ้นราคาขาย NGV ทุก 1 บาทต่อ กก. จะทำให้กำไรของ PTT เพิ่มขึ้นมาทันทีอีก 4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นราว 4.03 บาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 10.1% หรือจะทำให้ Fair Value เพิ่มมาประมาณ 8 บาท) นอกจากนี้ ยังมีโอกาสบันทึกกำไรจากการขายหุ้น BCP และการนำบริษัทลูก SPRC และ GPSC เข้าจดทะเบียนใน SET (ติดตามอ่านรายละเอียดของรายงานฉบับยาวใน Industry Update เร็ว ๆ นี้)

ตรงกันข้ามหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันลดลงคือ กลุ่มขนส่ง และเรือตู้คอนเทนเนอร์ เริ่มจากสายการบินต้นทุนต่ำ นักวิเคราะห์กลุ่มขนส่งทางอากาศ เช้านี้ได้ปรับลดสมมติฐานน้ำมันเครื่องบินของสายการบินที่ศึกษาทุกแห่งลง (AAV, THAI) จากเดิม 115 ลดลงเหลือ 100 เหรียญฯ (เทียบเท่าน้ำมันดิบเดิม 90 เหรียญฯลงมาเหลือ 75 เหรียญฯ) ทั้งนี้เพราะต้นทุนน้ำมัน มีสัดส่วน 30%-40% ของต้นทุนรวม อย่างไรก็ตามมีสายการบินมักมีการป้องกันความเสี่ยงด้านต้นทุนน้ำมัน อาทิ AAV NOK ที่ทำสัญญาไว้ 30%-40% ส่วน THAI ทำสัญญาไปแล้วกว่า 70% สายการบินที่ทำการป้องกันความเสี่ยงในสัดส่วนที่น้อยจึงมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ในสถานการณ์ปัจจุบันมากสุด

การปรับลดสมมติฐานต้นทุนน้ำมันเครื่องบิน ได้หนุนให้กำไรกลุ่มขนส่งทางอากาศในปี 2558-59 เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ยปีละ 9.5% โดยหลักๆ มาจาก AAV ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 37% โดยกำไรใหม่ในปี 2558 จะอยู่ที่ 1.45 พันล้านบาท และ 1.9 พันล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้น 310% และ 32% จากปี 2557 และ 2558 ส่วน THAI คาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 78% (อัตราการเพิ่มของกำไร THAI มากกว่า AAV เพราะฐานกำไรเดิมต่ำ) โดยผลการดำเนินงานปี 2558 จะพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร 2.6 พันล้านบาท และ 4.7 พัน ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้น 134% จากปี 2558 (โดยกำหนดให้ Loading factor ของทั้งสองสายการบินยังคงเดิม)

      ดังนั้น เชื่อว่าปี 2557 จะเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดของสายการบิน โดยคาดว่า AAV จะกำไรน้อยมากเพียง 45 ล้านบาท แต่ THAI ยังขาดทุนที่ 1.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากปรับปรุงประมาณการ ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มคำแนะนำ AAV จาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” และเลือกเป็น Top Pick ของกลุ่ม หลังจากกลับมาใช้วิธี PER ในการประเมินมูลค่าพื้นฐานแทนเดิมที่ใช้ PBV โดยอิง PER ที่ 20 เท่า ได้มูลค่าพื้นฐานที่ 6.0 บาท (เดิม 4.95 บาท) มี Upside 29% ส่วน THAI มูลค่าพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 16.5 บาท (เดิม 15.1 บาท) แต่ยังมี Upside จำกัด คงคำแนะนำ “ถือ” ส่วนหุ้นอีก 1 ตัวในกลุ่ม คือ AOT มูลค่าพื้นฐานอยู่ที่ 320 บาท ยังแนะนำ “ซื้อ” อ่านรายละเอียดใน Equity Talk วันนี้

      กลุ่มเดินเรือคอนเทนเนอร์ (RCL)ได้ประโยชน์มากสุด เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการบรรทุกสินค้าประจำเส้นทาง จึงต้องแบกรับต้นทุนน้ำมันทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวม ขณะที่ RCL มีการซื้อสัญญาน้ำมันล่วงหน้าไว้เพียง 25% ของปริมาณขนส่ง ทำให้ภาระต้นทุนน้ำมันลดลงชัดเจนตั้งแต่ 4Q57 และแม้ว่าปริมาณขนส่งของ RCL ในงวด 4Q57 จะลดลงจากงวด 3Q57 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลส่งออก อย่างไรก็ตามรายได้ค่าระวางเฉลี่ยต่อตู้ยังมีแนวโน้มทรงตัวจากงวด 3Q57 สะท้อนได้จากดัชนี Howe Robinson ซึ่งเป็นดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 545 จุด ยังสูงกว่าระดับสูงสุดในงวด 3Q57 ที่ 542 จุด จึงเชื่อว่า กำไรของ RCL ในงวด 4Q57 จะอ่อนตัวจากงวด 3Q57 เล็กน้อย ขณะที่งวด 1Q58 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาลที่ผลประกอบการต่ำสุดของ RCL แต่เชื่อว่าจะได้รับการชดเชยจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลงเต็มไตรมาส ทำให้ทิศทางกำไรงวด 1Q58 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับงวด 4Q57 ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจเรือคอนเทนเนอร์ยังไม่สัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน ฝ่ายวิจัยยังยึดหลักความระมัดระวัง คงประมาณการ RCL โดยกำหนดให้ กำไรสุทธิปี 2557 อยู่ที่ 226 ล้านบาท พลิกฟื้นจากขาดทุนในปีก่อน และคาดจะเพิ่มขึ้นอีกราว 59% ในปี 2558 กำหนดมูลค่าพื้นฐานปี 2558 (อิง PBV เท่าเดิมที่ 1 เท่า) อยู่ที่ 11.80 บาท มี Upside ถึง 38% แนะนำ “ซื้อ” และเลือกเป็น Top Pick

       ส่วนหุ้นเดินเรือเทกอง ทั้ง TTA และ PSL แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทุนชั่วคราว เนื่องจากคาดจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลงน้อยมาก เพราะผลักภาระต้นทุนน้ำมันให้แก่ผู้เช่าใช้บริการแล้ว ขณะที่เรือเทกองใช้สำหรับขนส่งค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลง ทั้งราคาถ่านหิน และราคาสินแร่เหล็ก กอปรกับช่วงคริสต์มาสถึงตรุษจีนเป็นช่วงที่แนวโน้มค่าระวางลดลง จากผลกระทบวันหยุดยาวช่วงคริสมาสต์ต่อเนื่องถึงตรุษจีน โดยคาดว่าจะดัชนี BDI จะรีบาวน์หลังวันตรุษจีน นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยอาจมีการทบทวนประมาณการกำไรปี 2558 ของ TTA และ PSL เนื่องจากเดิมคาดการณ์รายได้ค่าระวางเรือเทกองเฉลี่ยต่อลำมีแนวโน้มพื้นตัว แต่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวในขณะนี้ ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง อาจกระทบกับธุรกิจของบ.ย่อยของ TTA คือ เมอร์เมด ซึ่งให้บริการเช่าเรือขุดเจาะน้ำมันใต้ทะเล และเรือวิศกรรมสำรวจใต้ทะเล แม้จะมีการทำสัญญาไปแล้วราว 70-80% ของกำลังให้บริการ แต่กำลังให้บริการที่เหลืออีก 20% ยังมีความเสี่ยงอยู่

     หุ้นที่แนะนำใน Market talk 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!