WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      ตลาดหุ้นได้น่าจะได้รับ Sentiment เชิงบวกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หลัง FED มีท่าทีผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ย จึงยังเลือกสะสมหุ้นที่ได้ประโยชน์ราคาน้ำมันขาลง (RCL, AAV, NOK, TASCO, SCC) หุ้นปันผลสูง (ADVANC, AIT, INTUCH, SPALI, STPI) วันนี้เลือก EGCO(FV@B188) เป็น Top pick มีโอกาสชนะการประมูลโรงไฟฟ้า IPP รอบ 3 และ 4 เพิ่ม

Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าเดิม
       ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค. น่าจะทำให้ตลาดผ่อนคลายมากขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ มีความแตกต่างจากการประชุมเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา 2 ส่วน คือ Fed ใช้ว่า patient แทนคำว่า considerable time ซึ่งหมายถึง การรอดูทิศทางเศรษฐกิจโดยรวม (นอกเหนือจากที่ผ่านมาให้ความสนใจเฉพาะอัตราการว่างงานและอัตราเฟ้อเท่านั้น) ก่อนจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก และสะท้อนว่า Fed มีความยืดหยุนต่อการใช้นโยบายการเงินมากขึ้น
ทั้งนี้นางเยลเลน (ประธาน Fed) ยังให้ติดตามภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ โดยล่าสุดเดือน พ.ย. อยู่ที่ 1.3%yoy (ลดลงจาก 1.7%yoy ในเดือนก่อนหน้า และเฉลี่ยเพียง 1% ytd) ซึ่งถือว่าลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี จากราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่องราว 40% ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.
     โดยสรุปคาดว่า Fed น่าจะยังคงไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ยฯ และยังยืนดอกเบี้ยฯ ต่ำ 0.25% ไปจนระยะหนึ่ง (และน่าจะย้ำประเด็นนี้ในการประชุม 2 ครั้งแรกของปี 2558 คือ 19 ม.ค. และ 19 มี.ค. 2558) และเป็นไปได้ที่อาจจะยืดการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นปลายปี 2558 แทนที่จะเป็นกลางปี 2558 ตามที่คาดไว้เดิม ซึ่งคาดว่าสิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 1.125% (เพิ่มขึ้น 0.875%), สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 2.5% (เพิ่มขึ้น 1.375%) และสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 3.625% (เพิ่มขึ้น 1.125%)

กนง. ยืนดอกเบี้ยที่เดิม ไม่น่าจะแปลกใจ
      ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยเห็นว่าดอกเบี้ยฯ ที่ระดับ 2% เหมาะสมเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องราว 20% จากงวด 2Q57 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนได้ ซึ่งผลการประชุมไม่น่าสร้างความแปลกใจให้กับตลาด ดังที่กล่าวไปใน Market Talk ว่าให้น้ำหนักเรื่องปัจจัยดอกเบี้ยต่อตลาดเป็นกลาง เพราะเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยฯ ในภาวะเงินเฟ้อต่ำๆ เช่นในปัจจุบัน ไม่น่าจะได้ผลมากนัก ขณะที่แนวโน้มที่สภาพคล่องทางการเงินในประเทศจะเริ่มตึงตัวน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2H58 เมื่อการลงทุนภาครัฐ มีความชัดเจนมาก อาจจะทำให้ต้องมาแย่งระดมเงินทุนกับภาคเอกชน และน่าจะเป็นช่วงเดียวกับที่ทางฝั่งสหรัฐ และ อังกฤษ จะเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งอาจจะทำให้มีเงินทุนไหลออกในช่วงนั้นก็เป็นได้

ต่างชาติยังขายหนัก แต่แรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์เริ่มแผ่ว
     วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอย่างหนัก ราว 1,249 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนเล็กน้อยราว 6% ยังคงเป็นการขายสุทธิในทุกประเทศเช่นเดิม เริ่มจากไต้หวันขายสุทธิเป็นวันที่ 9 และยอดขาย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 654 ล้านเหรียญฯ ส่วนเกาหลีใต้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 21% เหลือราว 368 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ไทยขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 177 ล้านเหรียญฯ (5.8 พันล้านบาท, ลดลงจากวันก่อนหน้า 30%) ฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 46 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 36% จากวันก่อนหน้าเช่นกัน) และอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่ลดลงถึง 96% เหลือเพียงราว 4 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น
       แนวโน้มเงินทุนต่างชาติยังคงไหลออกจากภูมิภาคต่อเนื่องเช่นเดียวกับในตลาดหุ้นของไทย ที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิอย่างหนักเป็นวันที่ 6 ถึง 5.8 พันล้านบาท แต่ในระยะสั้นอาจจะมีการพักการขายบ้าง หลังจากที่เมื่อคืนที่ผ่านมาตลาดหุ้นทางฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่แรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์น่าจะลดลงเช่นกัน โดยวานนี้ขายสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 7 วัน รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท) ทำให้ซื้อยอดสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีเหลืออยู่เพียง 3.7 พันล้านบาท ทำให้แรงขายน่าจะมีอยู่อย่างจำกัด ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่ดันดัชนีขึ้นวานนี้คือกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิอย่างหนักเป็นวันที่ 2 ถึงราว 5.2 พันล้านบาท

สะสมหุ้นพื้นฐาน 50% ของเงินลงทุน
      เชื่อว่า Sentiment ตลาดวันนี้จะเป็นไปในเชิงบวก โดยได้อานิสงส์จากตลาดหุ้นสหรัฐที่บวกขึ้นแรงหลังผลการประชุม Fed วานนี้ส่งสัญญานไม่เร่งรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจำกัด และน่าจะแกว่งออกด้านข้าง ตรงกันข้ามน่าจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบโลก ชะลอการปรับลง หรือ กล่าวได้ว่าใกล้จุดต่ำสุด เช่นเดียวกับหุ้น ปิโตรเลียมขั้นต้น (PTT, PTTEP) และโรงกลั่น (TOP, BCP, PTTGC) ขณะที่ล่าสุด นักวิเคราะห์พลังงานของ ASP ได้มีการปรับ สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบระยะยาวตั้งแต่ปี 2558 ที่ 75 เหรียญต่อบาร์เรล จึงน่าจะถึงว่าทุกอย่างได้สะท้อนในราคาหุ้นแล้ว ประกอบกับหุ้นพลังงานหลายบริษัท มี PER ต่ำ และให้เงินปันผลสูง จึงแนะนำให้ทยอยสะสม PTTEP และ PTT (PTT ยังมีประเด็นบวกจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ และการนำบริษัทลูกเข้าซื้อขายในตลาดฯ )
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันโลกจะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำมากและยังเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนการผลิต หรือ ต้นทุนการให้บริการ คือ กลุ่มขนส่งทางอากาศ และกลุ่มเดินเรือคอนเทนเนอร์ โดยกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยยังเน้นเลือกหุ้นลงทุนรายตัวที่มี P/E ต่ำ และเงินปันผลสูง แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้คือ

      หุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ : ในส่วนของกลุ่มขนส่งทางอากาศ ที่โดดเด่นคือ AAV (FV@B 6) ขณะที่กลุ่มขนส่งทางเรือเลือก RCL (FV@B 11.80) รวมทั้งผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบ คือ TASCO (FV@B80)

      หุ้นให้ผลตอบแทนชนะตลาดในเดือน มกราคม : ตามสถิติย้อนหลัง 10 ปีพบว่า มีหุ้นหลายตัวที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกด้วยความน่าจะเป็นเกิน 70% อาทิ STPI (FV@B 30.30) ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.63% (ด้วยความน่าจะเป็น 70%) , GFPT (FV@B 27) ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.31%, KTB (FV@B 29.16) ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.18%, SEAFCO (FV@B 9.43) ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.81% ขณะที่ SYNTEC (FV@B 3.37) ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.96% ความน่าจะเป็น 60%

      หุ้นปันผลเด่น : เกณฑ์ในการคัดเลือก จะให้น้ำหนักกับหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูงกว่า 4% ในงวดปี 2558 และมีราคาหุ้นต่ำกว่า Fair Value โดยหุ้นเด่นที่เลือกประกอบด้วย INTUCH (FV@B 113) STPI (FV@B 30.30), SPALI (FV@B 31.96), AIT (FV@B 53), ADVANC (FV@B 285) BEC (FV@B 57), HANA (FV@B48), KCE (FV@B 46.5)

การประมูล IPP 3 ยกเลิกดีต่อ EGCO
      ล่าสุดเป็นที่แน่ชัดว่าการประมูลโรงไฟฟ้า IPP รอบ 3 จำนวน 5 พันเมกะวัตต์ (ส่งไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564-2567 ปีละ 1.25 พันเมกะวันตต์)ที่มีผู้ชนะการประมูลเพียงรายเดียวคือ กัลฟ์ เอสอาร์ซี อาจจะมีการยกเลิกสัญญา ภายหลังการตรวจสอบ พบว่า ไม่โปร่งใส และ ไม่เป็นธรรมต่อ ผู้ประมูลรายอื่น ๆ ซึ่งข่าวนี้น่าจะถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เพราะเท่ากับมีโอกาสเข้าประมูลกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มอีกขึ้น นอกเหนือ จากแผนการประมูลโรงไฟฟ้า IPP 4 ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่มีการผ่านแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP 2015) ได้ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช. ไปแล้ว) ถือว่าข่าวนี้เป็นวกต่อ EGCO(FV@B188), RATCH(FV@B68) และ GLOW(FV@B94) ซึ่งมี upside 16.4%, 15.3% และ 6% ตามลำดับ แต่เลือก EGCO(FV@B188) เป็น Top pick เพราะ PER ต่ำสุดราว 10.7 เท่า และเงินปันผลสูง 3.7% เป็น Top pick อ่านรายละเอียด Equity talk วันนี้

แม้น้ำมันขาลง แต่งานก่อสร้างแท่นขุดน้ำมันของ STPI ยังเดินหน้า
      เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงแรงทำให้หุ้น STPI ลดลง 9% เทียบกับ SET ลดลง 6% (8 ธ.ค. - วานนี้) ด้วยความกังวลว่าโครงการก่อสร้างโรงงาน สำหรับการผลิตและสำรวจก๊าซธรรมชาติแหล่งสำคัญๆ ของโลกจะชะลอตัวไปด้วย (LPG Module) ซึ่งจากการสอบถามบริษัทมั่นใจว่างานก่อสร้างใหม่ๆ ยังมี แต่แน่นอนว่าปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้ผู้ลงทุนอาจจะต้องข้อมูลในการตัดสินอย่างระมัดระวัง ซึ่งนักวิเคราะห์ ASP ก็ได้จัดทำประมาณการกำไรขาดทุนที่ระมัดระวังอยู่แล้ว โดยเฉพาะในปี 2559 ประเมินไว้ว่าจะมีกำไรเพียง 2.64 พันล้านบาท หรือหุ้นละ 1.79 บาท เทียบกับ ปี 2558 คาดว่าจะทำกำไรในระดับ 3.198 พันล้านบาท หรือหุ้นละ 2.16 บาท เติบโต 24% จากปี 2557 ทั้งนี้เนื่องจากงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบันจะสามารถรับรู้รายได้และกำไรได้เต็มที่ในปี 2558 และ บางส่วนจะรับรู้ในปี 2559 ซึ่งนักวิเคราะห์ ASP ประเมินไว้ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการประมูลโครงการก่อสร้าง LPG Module ใหม่ๆ มากที่ประเมินไว้ ก็อาจจะทำให้มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจุบันราคาหุ้น STPI ลงมาจนมีค่า Expected PER 8.59 เท่า ซึ่งนับว่าต่ำมาก ขณะที่มีเงินปันผลสูงถึง 5.38% จึงเป็นหุ้นที่เหมาะกับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว และ เน้นเงินปันผล ติดตาม อ่านรายละเอียด Equity talk วันนี้

หุ้นที่แนะนำใน Market talk

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!