WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      สวัสดีปีใหม่ ส่งท้ายปีเก่า ขอให้นักลงทุนทุกท่าน ร่ำรวยความสุข และเงินทอง.... วันสุดท้ายของปี 2557 คาดตลาดหุ้นคงเงียบเหงา แนะนำถือหุ้นปันผลข้ามปี STPI (FV@B 30.30) เป็น 1 ในหุ้นปันผลเด่น

น่าจะเป็นอีกวันที่เงียบเหงา แต่อาจมีแรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์
      วานนี้ตลาดหุ้นทุกประเทศในภูมิภาคกลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังจากหยุดพักผ่อนในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 270 ล้านเหรียญฯ แต่เป็นการซื้อสลับขายรายประเทศ กล่าวคือไต้หวันซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ราว 348 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 3 เท่าตัว) ส่วนไทยสลับมาซื้อสุทธิราว 28 ล้านเหรียญฯ (925 ล้านบาท, ซื้อสลับขายสุทธิใน 3 วันหลังสุด) สวนทางกับเกาหลีใต้ที่สลับมาขายสุทธิราว 94 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ อินโดนีเซียขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ราว 7 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 97% จากวันก่อนหน้า) ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายสุทธิราว 5 ล้านเหรียญฯ
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นักลงทุนแต่ละกลุ่มยังคงซื้อขายเบาบาง เว้นแต่กลุ่มพอร์ตโบรกเกอร์ที่ขายสุทธิออกมาถึง 1.5 พันล้านบาท และเชื่อว่าในวันนี้จะยังมีแรงขายหลงเหลืออยู่จากนักลงทุนกลุ่มนี้อยู่ เนื่องจากยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปียังสูงถึงราว 4.6 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนกลุ่มอื่นๆน่าจะสลับซื้อขายเบาบางเนื่องจากใกล้วันหยุดยาว

นโยบายดอกเบี้ยต่ำ อาจถูกถ่วงด้วยปัญหาในกรีซ และ อเมริกาใต้
     ดังที่ได้กล่าวไปใน Market Talk ในหลายฉบับก่อนหน้า ถึงความจำเป็นที่ธนาคารกลางในหลายประเทศ จะต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปอีกระยะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้า เช่น ในยุโรป ญี่ปุ่น และจีน นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก จากราคาน้ำมันดิบโลกที่ตกต่ำกว่า 50% จากต้นปี 2557 (ทำให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยสุทธิเป็นบวก) จึงทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในปี 2558 เช่น ประเทศจีน ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.4% เหลือ 5.6% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่น หลังชัยชนะในการเลือกตั้ง นายชินโซ อาเบะ ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ได้พิจารณาผ่านร่างงบประมาณพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่เป็นเงินกว่า 3 ล้านล้านเยน (2.9 หมืนล้านเหรียญฯ) แม้คิดเป็นเพียง 4% เมื่อเทียบกับวงเงิน QE ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน (ราว 80 ล้านล้านเยน เพิ่งมีการปรับเพิ่มจาก 60-70 ล้านล้านเยน เมื่อ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา) ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่น่าจะยังต่อเนื่องในปี 2558
แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเศรษฐกิจในบางแห่งของโลก อาจจะกลับมากดดันเศรษฐกิจโลกในปี 2558 เริ่มจากประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในอเมริกาใต้ กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจชะลออย่างชัดเจน สะท้อนจาก GDP Growth งวด 3Q57 หดตัว 0.8% จากงวด 3Q56 ซึ่งถือว่าหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 (ทำให้ IMF คาดว่าปี 2557 จะหดตัว 1.7% และหดตัวต่ออีก 1.5% ในปี 2558) ซึ่งเกิดจากปัญหาในประเทศคือ การผิดนัดชำระหนี้สินต่างประเทศ และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกลดลง มากกว่านำเข้า ล้วนกดดันให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง และกดดันค่าเงินเปโซ อ่อนค่ากว่า 30% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน
และเช่นเดียวกับกรีซ ดูเหมือนปัญหาทางการเมือง อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้มาตรการรัดเข็มขัด หากการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในต้นปี 2558 พรรคฝ่ายค้าน (นำโดย พรรค Syriza) ซึ่งต่อต้านการใช้มาตรการรัดเข็ดขัด ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่ และสามารถขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีต่อจากนาย Papulius ก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการชำระหนี้คืน หลังจากที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก TROIKA ในช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะในปี 2552 เป็นต้นมา) ซึ่งประเด็นนี้อาจจะปัจจัยกดดันที่กลับมาสร้างความกังวลต่อตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นอื่น ๆ ของโลกได้

ปี 2557 SET ให้ผลตอบแทน 16% แม้มีปัญหาการเมือง
ปี 2557 เป็นอีกปีที่ SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 16% (เทียบกับปี 2556 ลดลง 6.7%) แม้มีปัญหาทางการเมืองรุมเร้า โดยหากย้อนมองภาพตลาดหุ้นไทยตลอดปีนี้ พบว่าเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก เนื่องจากตลาดฯ ถูกกดดันหนักจากความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้วันทำการแรกของปี 2557 ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,205 จุด (ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของปี) แต่หลังจากนั้นตลาดฯ ได้ซึมซับข่าวร้ายมาตั้งแต่ 4Q56 ก็ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง แม้จะมีปรับฐานเป็นระยะ ในช่วงกลางเดือน พ.ค. (คสช. ยึดอำนาจ), ปลายเดือน ก.ค. (Fed เตรียมถอนวงเงิน QE ก้อนสุดท้ายในเดือน ต.ค.) จนกระทั่ง SET ขึ้นไปทำจุดสุงสุดของปีที่บริเวณ 1,602 จุด ซึ่งกลายมาเป็นแนวต้านสำคัญที่ดัชนีไม่สามารถฝ่าขึ้นไปได้ตลอดเดือน ต.ค. – พ.ย. ท่ามกลางกระแสการเก็งกำไรหุ้นขนาดกลาง-เล็ก, ค่า P/E ที่พุ่งขึ้นไปเกือบ 18 เท่า บวกกับปัจจัยต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น (Fed ยุติ QE, เศรษฐกิจยุโรปตกต่ำ, ราคาน้ำมันโลกดิ่ง) ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยที่เปราะบางเป็นทุนเดิม ต้องเผชิญกับการปรับฐานในเดือนสุดท้ายของปี
ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนชนะ SET ได้แก่ การแพทย์–โรงพยาบาล ให้ผลตอบแทนสูงถึง 50% ตามมาด้วย ขนส่ง 36.7% รับเหมาก่อสร้าง 35% ธนาคารพาณิชย์ 30.3% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 30.1% หลักทรัพย์ 30% อสังหาฯ 23.6% ท่องเที่ยว-โรงแรม 22% ไอซีที 20.6% วัสดุก่อสร้าง 20% ขณะที่กลุ่มที่ผลตอบแทนด้อยกว่า SET ได้แก่ กลุ่มเกษตรฯ 13.6% ประกันฯ 10.2% บันเทิง 9.1% ส่งออกอาหาร 7.7% ค้าปลีก-ค้าส่ง 7% ยานยนต์ 5.4% พลังงาน -2% และ ปิโตรเคมี –24%
ส่วนปีหน้า 2558 แนวโน้ม SET น่าจะได้แรงขับเคลื่อนที่ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (ASP คาด GDP Growth อยู่ที่ 3.5% vs 0.8% ในปี 2557) และผลกำไรตลาดปี 2558 ที่ดีขึ้น โดยคาด EPS จะอยู่ที่ 103.65 บาท เติบโตจากปี 2557 ถึง 16.7% ซึ่งถือเป็นการเติบโตในอัตราที่สูง โดยระดับดัชนีปัจจุบันที่ 1,500 จุด จะทำให้ค่า PER ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่บริเวณ 14.5 เท่า ซึ่งยังถือเป็นระดับที่สามารถเรียกความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนระยะยาว ขณะที่ดัชนีเป้าหมายมีโอกาสขึ้นไปได้ถึง 1,658 จุด หรือ Expected PER 16 เท่า ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าน่าจะเติบโตได้โดดเด่นในปี 2558 หรือได้ประโยชน์จากสถานการณ์โลก ได้แก่
  ขนส่ง คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มจะเติบโตถึง 240% โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการเดินเรือคอนเทนเนอร์ (RCL) และสายการบิน (AAV) และการพลิกกลับมามีกำไรของ THAI
  ประกันฯ เติบโต 47% หลักๆ มาจาก BLA หลังตั้งสำรองฯ จำนวนมากในปีนี้
  ปิโตรฯ เติบโต 37% จากฐานที่ต่ำในปีนี้ โดยเฉพาะ PTTGC เติบโตโดดเด่น
  ชิ้นส่วนฯ โต 28% จาก DELTA เติบโต 17% และ KCE เติบโต 7%

ขณะที่ สื่อ-บันเทิง และ ค้าปลีก-ส่ง เติบโตใกล้เคียงกับ SET ที่ 23% และ 21% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี อาจต้องระวังแรงขายจากการขายคืนหน่วยลงทุน LTF ที่นักลงทุนสามารถขายคืนได้ (ถือเกิน 5 ปีปฎิทินขึ้นไป) ซึ่งคาดว่าอาจมีแรงขายออกมาราว 20-30% ของมูลค่า LTF ที่ครบกำหนดประมาณ 1.41 แสนล้านบาท แต่หาก SET เกิดการปรับตัวลง นักลงทุนก็ควรถือเป็นโอกาสในการทยอยซื้อหุ้นที่พื้นฐานดี Dividend Yield สูง เข้าพอร์ตการลงทุน เพราะที่ระดับ SET Index ประมาณ 1500 จุด จะให้ค่า PER ณ สิ้นปี 2558 เพียง 14.5 เท่า บนสมมุติฐาน EPS Growth ปี 2558 ที่ 16.78% ซึ่งเป็นระดับที่สามารถเข้าลงทุนระยะยาวได้ จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนเช่นเดิม คือ ถือหุ้น 50% โดยกลยุทธ์การลงทุน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
  หุ้น PER ต่ำ/เติบโตสูง ฝ่ายวิจัยแนะนำ SPALI(FV@B 31.96) PER 8.6 เท่า, Growth 16.8%, AIT(FV@B 53) PER 11.2 เท่า, Growth 10.7%
  หุ้นจ่ายเงินปันผลสูง โดยให้ความสำคัญไปที่หุ้นที่จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง เป็นหลัก เนื่องจากจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในช่วง 4–5 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับที่สูงกว่าหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 1 ครั้งต่อปี ฝ่ายวิจัยเลือก STPI(FV@B 30.30) เป็น Top Pick เนื่องจากจ่ายปันผล คิดเป็น div. yield สูงถึง 4% นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบด้าน valuation ที่ดี กล่าวคือ มี PER ต่ำเพียง 11 เท่า มี growth ปี 2558 สูงถึง 23% และยังมี upside สูงถึง 56%

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!