WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      ยังเป็นสัปดาห์ของการปรับฐาน ทั้ง Sell on fact หลังหุ้น ธ.พ. รายงานงบฯ และหุ้นส่งออกอาจจะเผชิญปัญหาระยะสั้น หลังเงินบาทแข็งค่ากว่า 1 เดือน กลยุทธ์ยังเลือกรายตัวที่กำไรโดดเด่นงวด 2Q57 มี P/E ต่ำ และ Div Yield สูง คือ BECL(FV@B45) โดยราคาหุ้นยังมี upside 20%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น & สหรัฐ ยังคงนโยบายการเงินเช่นเดิม
     ผลการแถลงต่อสภาคองเกรสของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังคงมีมติให้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ 0.25% ต่อไป และไม่มีกำหนดระยะเวลาในการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายที่แน่นอน แม้ภายหลังการตัด QE สิ้นสุดภายในเดือน ต.ค. นี้ โดยต้องการมั่นใจต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ทั้งนี้ยังมีความกังวลต่อตลาดแรงงาน ใน 2 เรื่องคือ อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำ หากพิจารณาจำนวนคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานคิดเป็น 62.8% ของผู้ที่มีอายุในวัยทำงาน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในรอบ 36 ปี แม้อัตราการว่างงานได้ที่ลดต่ำลง 6.1% ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม (ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นของ FED ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) แต่ต้องการเห็นระดับ 5.5% ซึ่งเป็นระดับก่อนวิกฤติซับไพร์ม และกังวลต่อระดับค่าจ้างที่ยังทรงๆ ตัว แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีความคาดหวังว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าเดิม คือระหว่างช่วง 1Q58 - 3Q58 ซึ่งคาดว่าประเด็นนี้น่าจะมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโลกอีกครั้งหนึ่ง
     ส่วนทางด้านฝั่งญี่ปุ่น ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ไม่มีอะไรใหม่ โดยยังคงการใช้ปริมาณเงิน QE ที่เดิมคือ 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี (690 พันล้านเหรียญฯ) ต่อไป ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากอัตราเงินเฟ้อ ได้ยืนเหนือ 2% ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน และเฉลี่ยจากตั้งแต่ต้นปี 2557 ถึงปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8% ถือว่าบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหลุดพ้นภาวะเงินฝืดไปแล้ว ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีน้ำหนักมากขึ้น หลังจากที่อัตราการว่างงานที่ลดลงลงเหลือ 3.5% เมื่อเดือน พ.ค. (เทียบกับระดับสูงสุด 5.5% เมื่อ ก.ค. 2552) ซึ่งอาจจะกดดันให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ต้องทยอยปรับขึ้นค่าแรงงานในไม่ช้า (หลังจากบริษัทขนาดใหญ่อย่าง โตโยต้า และพานาโซนิค ได้ปรับขึ้นค่าจ้างไปก่อนหน้า) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อ อันเกิดจากค่าแรงงานในระยะต่อไป (cost push) อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการถัดไปที่ญี่ป่นจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชดเชยผลกระทบจากการขึ้นภาษีขาย 3% ในเดือน เม.ย. 2557 คือ การลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงให้ต่ำกว่า 30% จากปัจจุบันที่สูง 35.6% โดยจากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กพบว่า 38% (จากเดิม 58%) คาดว่าจะในปีนี้ ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักต่อการหนุนตลาด ไม่แรงเท่ากับ QE

ปรับฐาน..หลังดัชนีตอบรับเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนตามปกติ
      นับตั้งแต่ต้นปีที่เกิดปัญหาการเมืองลากยาวมาจนกระทั่ง คสช. เข้ามาควบคุมบริหารประเทศเมื่อวันที่ 23 พ.ค. นั้น SET index ได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะมีการปรับฐานบ้างในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังการยัดอำนาจ โดยหากพิจารณาผลตอบแทนตลาด จากต้นปีจนถึงวานนี้ (ytd) พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงราว 24% และเมื่อพิจารณารายกลุ่ม พบว่าการปรับขึ้นส่วนใหญ่มาจาก Domestic เป็นหลักกล่าวคือ กลุ่มการแพทย์-โรงพยาบาล เป็นกลุ่มที่ปรับขึ้นมากสุดถึง 45% ตามมาด้วยรับเหมาฯ 44% อสังหาฯ 40% ธนาคารพาณิชย์ 39% ท่องเทียว-โรงแรม 35% หลักทรัพย์-เช่าซื้อ 32% และชิ้นส่วนฯ 27.2% ที่เหลือรองลงมาคือให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดคือ ประกัน 25.7% ขนส่ง 24.9% ค้าส่ง-ค้าปลีก 24.6% วัสดุก่อสร้าง 23.5% ส่วนกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดมีอยู่หลายกลุ่มคือ ICT, ชิ้นส่วนรถยนต์ บันเทิง เกษตร อาหาร พลังงาน และปิโตรเคมี รายละเอียดดังปรากฏในภาพข้างต้น
   ทั้งนี้หากพิจารณาตลาดในภูมิภาค พบว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศในกลุ่ม TIP ได้แก่ ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ปรับขึ้นเพียง 18.64% และ 16.03% ตามลำดับ และหากพิจารณาความถูกแพงของตลาดหุ้นไทยกับเพื่อน ๆ พบว่าตลาดหุ้นไทยมีค่า current P/E ที่สูงถึง 16.07 เท่า แต่อยู่ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย ซึ่งมี current P/E ราว 16.84 เท่า ยกเว้น ฟิลิปปินส์ ที่มีค่าสูงกว่า คืออยู่ที่ 19.46 เท่า แต่ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นจีนที่มีค่าเพียง 8.58 เท่า และสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ (15.6 เท่า) ฝรั่งเศส (15 เท่า) อังกฤษ (14 เท่า) และเยอรมัน (13.96 เท่า) จากสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ระดับ Expected P/E ที่ 15-16 เท่า ทำให้ตลาดมีโอกาสปรับฐานค่อนข้างสูง จึงแนะนำให้ทยอยปรับพอร์ตการลงทุนโดยการขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มที่ขึ้นมาแรง และมี upside หรือราคาหุ้นเกินมูลค่าเหมาะสม เช่น กลุ่ม ธ.พ., โรงพยาบาล และสลับไปลงทุนในกลุ่มที่ยัง laggard ขึ้นน้อยกว่าตลาด และมีค่า P/E, P/BV ต่ำ upside สูง เงินปันผลสูง หรือเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดเด่นในงวด 2Q57 และ 2H57

ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทย หนุนเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องกว่า 1 เดือน
      วานนี้กระแสเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคหนาแน่นขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 442 ล้านเหรียญฯ เทียบกับวันก่อนหน้า ที่ซื้อสุทธิเพียง 3 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้เป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ซื้อสุทธิอย่างหนักถึง 273 ล้านเหรียญฯ และ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 (เทียบกับวันก่อนหน้าซื้อเพียง 17 ล้านเหรียญฯ) ตามมาด้วยไต้หวันที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 94 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทยยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ราว 50 ล้านเหรียญฯ (1.6 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบ 3 เท่าตัว) ขณะที่อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 แต่ลดลง 31% เหลือราว 22 ล้านเหรียญฯ สุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 3 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 63%
   เป็นที่สังเกตว่านักลงทุนสถาบันในไทย ได้สลับมาขายสุทธิ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันดัชนีวานนี้ กล่าวคือกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิวานนี้ราว 1.5 พันล้านบาท หลังจากที่เป็นผู้ซื้อสุทธิมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิสะสมสูงถึง 4.1 หมื่นล้านบาท สวนทางกับต่างชาติยังคงซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิอย่างหนักราว 1.1 หมื่นล้านบาท โดยซื้อสุทธิต่อเนื่อง 13 วัน รวม 8.2 หมื่นล้านบาท หนุนให้เงินบาทยังคงอยู่ในระดับแข็งค่าต่อไป ที่ระดับ 32.14 บาทต่อเหรียญฯ ถือว่าเป็นการแข็งค่าต่อตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

หุ้นส่งออก อาจจะถูกขายจากเงินบากที่แข็งค่า หลีกเลี่ยงระยะสั้น
      ทั้งนี้ พบว่าเงินบาทแข็งค่าราว 1% ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา (จาก 32.5 บาทต่อดอลลาร์ มาเป็น 32.17 บาท) และหากยังคงแข็งค่าต่อ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อภาคส่งออก โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพการทำกำไร แม้จะได้รับการชดเชยจากตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวก็ตาม โดยหุ้นส่งออกที่มีรายได้หลักในรูปสกุลดอลลาร์ ซึ่งทำให้หุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสปรับฐาน โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (DELTA, KCE) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถือว่าให้ผลตอบแทนชนะตลาดมาก กล่าวคือ หากพิจารณาดัชนีกลุ่ม ETRON พบว่าให้ผลตอบแทนที่สูงมากในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ytd) คือ ราว 27.2% เทียบกับดัชนีให้ผลตอบแทน 24.2% จึงเชื่อว่าอาจจะเป็นจังหวะของการปรับฐานได้

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!