WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       คาดผลประชุม FOMC ไม่มีอะไรใหม่ แต่ดัชนีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นน่าจะหนุนการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า กลยุทธ์ระยะสั้นยังเน้นปรับพอร์ต และถือหุ้นปันผล BECL(FV@B45), PTTEP(FV@B195) และวันนี้เลือก PYLON(FV@B8.60) เป็น Top pick คาดงบ 2Q57 โดดเด่น พร้อมปรับเพิ่มประมาณการกำไรขึ้น

สหรัฐ อังกฤษ ยังฟื้นตัว vs ญี่ปุ่น เริ่มชะลอตัวชัดเจน
      ระหว่างที่ตลาดยังรอผลการประชุมของ FOMC ในค่ำคืนนี้ หรือจะรู้ผลอย่างเป็นทางการพรุ่งนี้ เชื่อว่าจะไม่มีประเด็นอะไรใหม่ๆ นอกจากยังคงเดินหน้าตัดลด QE ต่อเนื่องอีกเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ เหลือ 2.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 3 เดือน หรือราวเดือน ต.ค. ก็จะสิ้นสุดการใช้ QE หลังจากนี้ตลาดน่าจะให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แม้ความคิดเห็นอาจจะแตกต่างกัน ในเรื่องของช่วงเวลาอาจจะกว้างคือระหว่าง 1Q58-3Q57 โดยปัจจัยชี้นำระยะสั้นยังสนับสนุน โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ เดือน ก.ค. ขึ้นมาที่ 90.9 จุด ซึ่งนับว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี และสูงกว่าคาด หลักๆ แล้วได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 2557 ขยับขึ้นมาอยู่ 2.1% (แต่นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 1.3%) ทั้งนี้แม้ตลาดบ้านในสหรัฐอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย หลังจากที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุด พบว่ดัชนีราคาบ้าน (จาก S&P/Case Shiller) เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 9.3%yoy แต่หากเทียบเป็นการเปลี่ยนแปลงรายเดือน พบว่าหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีกว่า ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย ในเดือน มิ.ย.ที่ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ผลจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
      เช่นเดียวกับอังกฤษ ล่าสุดพบว่ามีการอนุมัติเงินกู้จำนองบ้านในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 8.4%mom เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และมากกว่าที่คาด หลังจากที่ในเดือน เม.ย. ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้จำกัดการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าความร้อนแรงจากการปล่อยสินเชื่อ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาคอสังหาฯ ซึ่งทำให้การปล่อยสินเชื่อบ้านในเดือน มิ.ย. หดตัว 8.7% จากเดือนก่อนหน้า และจากการสำรวจตลาดบ้าน คาดว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ และทำให้การคาดการณ์ของตลาดที่เชื่อว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นแห่งแรก หรือพร้อมๆ กับสหรัฐ ยังมีอยู่
ขณะที่ ญี่ปุ่น ล่าสุดพบว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแรง กล่าวคือ รายได้ภาคครัวเรือนโดยเฉลี่ยลดลง 6.6% และทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือน (60% ของ GDP) เดือน มิ.ย. ลดลง 3%yoy ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการขึ้นภาษีขายในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบว่า อัตราการว่างงานญี่ปุ่น เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 3.7% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.5% และยังมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งออก เนื่องจากผู้ผลิตญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจัยนี้อาจจะกดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวในงวด 2Q57 และต่อเนื่องใน 2H57

เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หุ้นเล็ก PYLON เด่นสุด
      ที่ประชุม คสช. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 2 แผนงานหลัก คือ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง และ 2) การพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงประตูการค้า เมืองหลัก กทม.และปริมณฑล ทั้งนี้โครงการเร่งด่วน ที่ให้เริ่มดำเนินการทันทีคือ รถไฟรางคู่ (ความกว้างราง 1 เมตร ซึ่งใช้ในปัจจุบัน) 6 เส้นทาง มูลค่าการลงทุนรวม 1.27 แสนล้านบาท และรถไฟรางคู่ (ความกว้างราง 1.43 เมตร) เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับ จีน – สปป.ลาว รวม 2 เส้นทาง เป็นรถไฟระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนรวม 7.41 แสนล้านบาท พร้อมกันนี้ให้เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อเนื่อง
เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศ และรองรับการเปิด AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 ความชัดเจนตรงนี้จึงถือเป็นกระแสข่าวบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามการนำแผนดังกล่าวไปปฎิบัติ ยังต้องติดตามต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการเริ่มขึ้นตอนการประมูลงาน น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่งบประมาณปี 2558 (เริ่ม 1 ต.ค.2557) มีผลบังคับใช้ และกว่าที่จะเดินทางไปถึงจุดที่เริ่มต้นงานก่อสร้าง หรือจุดที่ผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มบันทึกรายได้จากโครงการก่อสร้างดังกล่าว ก็น่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2558 โดยหุ้นกลุ่มแรกที่คาดว่าจะได้ประโยชน์โดยตรง ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แต่จากติดตามการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นพบว่า ราคาหุ้นส่วนใหญ่ได้ปรับตัวขึ้นไปรอแล้ว โดยค่า PER เฉลี่ยของ ITD, CK, STEC ปัจจุบันได้ขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 28 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้สลับเข้าไปลงทุนในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดกลาง - เล็ก ซึ่งได้ประโยชน์ทางอ้อมจากโครงการดังกล่าว แต่ปัจจุบันมีค่า PER ต่ำกว่า 12 เท่า ขณะที่ Fair Value ส่วนใหญ่กำหนดที่ 14 เท่า หุ้นเด่นโดยพิจารณาจาก upside เรียงลำดับมากสุด คือ SEAFCO (FV@B 7.04) 26.8% ตามมาด้วย SYNTEC (FV@B 2.60) 21.5% และPYLON(FV@B 8.60) 20% แต่หากพิจารณาผลกำไรที่โดดเด่นในงวด 2Q57 และมีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการกำไร และ Fair Value จึงเลือก PYLON(FV@B 8.60)

 

ต่างชาติเริ่มชะลอการซื้อ ค่าเงินในกลุ่ม TIP เริ่มอ่อนตัวเล็กน้อย
       วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 546 ล้านเหรียญฯ และ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า ทั้งนี้ยอดสุทธิซื้อส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ที่เกาหลีใต้ ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 14 ราว 332 ล้านเหรียญฯ โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยไต้หวันซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 269 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเช่นกัน ทั้งนี้สวนทางกับไทย ที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 56 ล้านเหรียญฯ หรือ 1.8 พันล้านบาท (ขายสลับซื้อใน 6 วันหลังสุด) ขณะที่ตลาดหุ้นในอีก 2 ประเทศที่เหลือคือ ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซียปิดทำการเนื่องจากเป็นวันสำคัญทางศาสนา
      เป็นที่สังเกตว่าแรงซื้อต่างชาติได้ชะลอตัวในกลุ่ม TIP สะท้อนจากที่มีการสลับขายออกมาในบางประเทศนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ฟิลิปปินส์ และ ไทย ยกเว้น อินโดนีเซีย ที่ยังซื้อสุทธิต่อเนื่อง แต่เริ่มชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินในกลุ่ม TIP หยุดแข็งค่า และกลับมาแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่าอีกครั้ง (เมื่อเทียบกับดอลลาห์สหรัฐฯ) ทั้งนี้หลังจากที่ทุกสกุลแข็งค่าอย่างต่อเนื่องนับจากที่ Fund Flow ไหลเข้าเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2557 เป็นต้นมา คือ ค่าเงินรูเปียะ ของอินโดนีเซียแข็งค่ามากสุด 3% ตามมาด้วยเงินบาทแข็งค่า 2% ส่วนฟิลิปินส์แข็งค่าน้อยสุดเพียง 0.71% อย่างไรในตลาดหุ้นไทย พบว่าต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ โดยที่วานนี้ซื้อสุทธิ อีกราว 6.1 พันล้านบาท

ยังมีแรงขายรับงบ Real sector รออยู่
      ตลาดยังรอปัจจัยบวกใหม่ๆ จึงทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยน่าจะขับเคลื่อนจากการรายงานผลประกอบการงวด 2Q57 เป็นหลัก ถึงแม้จะมีหลายกลุ่มฯ ที่กำไรดีกว่าคาด เช่น ส่งออกอาหาร, สื่อสาร แต่ก็ถูกหักล้างด้วยหลายกลุ่มฯ ที่กำไรลดลง อาทิเช่น ปิโตรฯ, วัสดุก่อสร้าง, บันเทิง และประกันฯ ดังที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เช่น TOP, IRPC และล่าสุด THRE (FV@B 3.73, หลัง XR @B3.52) วานนี้ฝ่ายวิจัยปรับลดคำแนะนำเป็น ขาย จากเดิม ถือ หลังประกาศกำไรสุทธิ 2Q57 ต่ำกว่าคาดมาก โดยลดลง 20.7% qoq ขณะที่แนวโน้มงวด 2H57 คาดว่าจะพลิกกลับเป็นขาดทุนมหาศาลอีกครั้ง หลังเพิ่มทุนเพื่อรองรับการโอนหนี้และต้องมีการชำระค่าตอบแทนกว่า 1 พันล้านบาท ทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2557 พลิกเป็นขาดทุนกว่า 1.12 พันล้านบาท (แต่ก็จะพลิกกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2558-59)

       ขณะที่ DELTA (FV@B 70.4) รายงานกำไรสุทธิงวด 2Q57 เติบโต 6.6% qoq ดีกว่าคาดจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล และยังประเมินว่ากำไรสุทธิ 2H57 จะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 1H57 จากผลิตภัณฑ์ Data Center และ Automotive แต่ประเด็นความเสี่ยงเรื่องเงินบาทแข็งค่าอาจกดดันผลดำเนินงานในช่วง 2H57 ดังกล่าวได้ รวมทั้ง upside ที่เหลือไม่มากนัก จึงแนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ส่วน SVI (FV@B 5.08) คาดการณ์กำไรสุทธิ 2Q57 ลดลง 18.3% qoq แต่เพิ่มขึ้น10.8% yoy จากการลดลงของรายได้พิเศษ ขณะที่ภาพรวม 2H57 แม้เป็นช่วง High Season แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากเงินบาทแข็งค่าเช่นกัน และกดดันต่อประมาณการกำไรทั้งปี 2557 จึงลดความน่าสนใจเข้าลงทุนในช่วงสั้นๆ และสุดท้าย SINGER (FV@B 25) คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงาน 2Q57 ยังไม่ฟื้นตัวเท่าใดนักจากยอดขายที่หดตัว และการปล่อยสินเชื่อที่ยากขึ้น แต่ยังคงคาดหวังได้กับการฟื้นตัวในช่วง 2H57 จากการนำของธุรกิจในกลุ่มตู้เติมเงินมือถือออนไลน์ ซึ่งจะเห็นศักยภาพการเติบโตเป็นอย่างมาก

     นับจากนี้ ทำให้โดยภาพรวมนั้นแม้แนวโน้มผลการดำเนินงานในงวด 2H57 ของบริษัทจดทะเบียนจะฟื้นตัว แต่คาดว่าโอกาสที่ฝ่ายวิจัยจะปรับประมาณการกำไรตลาดขึ้นหลังสิ้นสุดการรายงานงบราวกลางเดือน ส.ค. นี้ มีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผลกำไรในงวด 1H57 ยังไม่ได้โดดเด่นมากนัก
ขณะที่การรายงานผลประกอบการงวด 2Q57 ของตลาดหุ้น S&P500 ยังคงดำเนินต่อไปเกินกว่า 100 บริษัทแล้ว โดยผลที่ออกมาปรากฏว่า ราว 78% มีผลกำไรที่ดีกว่าคาด (65% มียอดขายดีกว่าคาด) และส่งผลให้มีโอกาสปรับประมาณการกำไรตลาดขึ้นมาอยู่ที่ 119.37 เหรียญฯ/หุ้น หลังจากที่สิ้นงวด 1Q57 กำไรตลาดหุ้นอยู่ที่ 117.18 เหรียญฯ/หุ้น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!