WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
     เชื่อว่าตลาดยังให้น้ำหนักต่อผลการประชุมแจ๊คสัน โฮล ขณะที่การเมืองในประเทศ น่าจะสะท้อนในราคาหุ้นไทยแล้ว กลยุทธ์ยังให้เลือกซื้อหุ้นที่จะมีผลกำไรสดใสในงวด 2H57 คือ HANA(FV@B44) และ SRICHA(FV@B43.4) และ GFPT(FV@B18) วันนี้เลือก HANA(FV@B44) เป็น Top pick

สหรัฐยังฟื้นตัวแข็งแกร่ง vs ยุโรปยังเผชิญกับภาวะชะลอตัว
     สหรัฐ การรายงานดัชนีชีนำเศรษฐกิจล่าสุดยังแสดงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เริ่มจากตลาดแรงงาน ล่าสุด พบว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 16 ส.ค. ปรับตัวลง 14,000 ราย สู่ระดับ 298,000 ราย ซึ่งถือว่าระดับ ใกล้เคียงกับในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวใน ปี 2549 ตามด้วย ตลาดบ้าน กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ค. ขยายตัว 2.4%mom (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และขยายตัวเร็วสุดในรอบ 10 เดือน) สอดคล้องกับยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.ค. ขยายตัวเร็วสุดในรอบ 8 เดือน และ การอนุญาตก่อสร้างบ้าน (บ่งชี้การก่อสร้างในอนาคต) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน เดือน ส.ค. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อการผลิตเบื้องต้น (PMI) เดือน ส.ค. ขยายตัวเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ เดือน เม.ย. 2553


ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะช่วยเพิ่มน้ำหนักต่อประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้หรือไม่ ต้องติดตามผลการประชุม แจ็คสันโฮล ในปลายสัปดาห์นี้ และ ถ้อยแถลงของนางเยนเลน (ประธาน FED) ในช่วงค่ำๆ ของวันนี้ตามเวลาไทย อย่างไรก็ตามตลาดคาดหมายว่า นางเยนเลน น่าจะยังคงมุ่งความสนใจไปที่ ตัวเลข อัตราการว่างงาน ควรจะปรับลดลงให้อยู่ในระดับ 5.5% ซึ่งเป็นระดับก่อนวิกฤติซับไพร์ม (จากระดับ 6.2% ในปัจจุบัน) ก่อนที่จะมีการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า โดยตลาดคาดหมายว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายราวกลางปี 2558


ยุโรป ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังเป็นไปอย่างล่าช้า ล่าสุด พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) รวมทั้งภาคการผลิต และภาคบริการ ชะลอตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน (แยกเป็นดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น เดือน ส.ค. ชะลอตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และ PMI ภาคบริการ เดือน ก.ค. ชะลอตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน) ทั้งนี้หากต้องการให้เศรษฐกิจยุโรปในปี 2557 ขยายตัวได้ 1.2% ตามที่ IMF คาด ในช่วง 2H57 ต้องขยายตัวได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1.6% ต่อไตรมาส (จาก 1H57 ขยายตัว 0.8%) ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 3 ประเทศในยุโรป (เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี) ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว และล่าสุด แม้เห็นสัญญานการฟื้นตัวของสเปน แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้ รวมทั้งยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ 0.4% ใน ก.ค. (ห่างจากเป้าหมาย 2%) และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง 11.5%


ขณะที่ความตรึงเครียดทางการเมืองระหว่างภูมิภาคในเขตปกครองตนเองไคเมีย ยังคงมีอยู่ รวมถึงการคว่ำบาตรทางการค้าระหว่าง ยุโรป (รวมถึงสหรัฐ) ที่มีต่อรัสเซีย น่าจะกดดันเศรษฐกิจยโรปใน 2H57

สนช. มีมติเอกฉันท์เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 191 คะแนน เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีก็จะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน เข้ารับตำแหน่ง โดยที่ล่าสุดได้มีการเผยแพร่โผ คณะรัฐมนตรีผ่านสื่อ อย่างเช่น มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ, นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง, พล.อ.ฉัตรชัย สิริกัลยะ เป็น รมว.พาณิชย์, นายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช เป็น รมว. อุตสาหกรรมเป็นต้น อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูความชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะเห็นในช่วงสัปดาห์หน้า


โดยภาพรวมของตลาดหุ้น เชื่อว่าได้ตอบรับกับกระแสข่าวเชิงบวกดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากผลที่ออกมาดูเหมือนไม่ได้ต่างจากที่คาดหมาย ประเด็นที่ต้องติดตามจากนี้ไป คงเป็นเรื่องการเดินหน้านโยบายที่สำคัญต่างๆ ว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วเพียงใด และ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ สิ่งที่คาดว่าน่าจะเห็นการเดินหน้าเร็วขึ้น ได้แก่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นตัวช่วยทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ, ช่วยการกระจายรายได้ และ เป็นการอัดฉีดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่งด้วย โครงการที่น่าจะเห็นการประมูลเร็วที่สุดน่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต – คูคต) มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท ตามด้วย โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ 7 เส้นทาง 1.39 แสนล้านบาท และ รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 3 เส้นทาง คือสายสีส้ม (ตลิ่งชัน – มีนบุรี) 9 หมื่นล้านบาท สายสีชมพู (เคราย-ปากเกร็ด) มีนบุรี 5.9 หมื่นล้านบาท และ สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 5.6 หมื่นล้านบาท) แนวทางดังกล่าวจะสร้างกระแสการเก็งกำไรหุ้นรับเหมาก่อสร้างเฉพาะที่ยังมี upside คือ SEAFC0 (FV@B 7.04), PYLON (FV@B 8.60) ราคาปิดวานนี้ ยังมี upside 10.87% และ 10.97% ตามลำดับ ขณะที่ยังมีหุ้นรับเหมาก่อสร้างอีกกลุ่มหนึ่ง แต่เน้นงานก่อสร้างในต่างประเทศ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในงวด 2H57 และ มี upsideสูง ได้แก่ STPI(FV@B28.5) มี upside สูงถึง 28.46% (จ่ายเงินปันผลราว 3.8%) และ SRICHA(FV@B43.4) มี upside 17.3% แต่เงินปันผลสูง 7.3% จึงเป็นหุ้นเหมาะสมกับการลงทุน

ต่างชาติชะลอการซื้อหุ้นในภูมิภาค
แม้ว่าวานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ยอดซื้อกลับลดลงถึง 77% เหลือราว 108 ล้านเหรียญฯ และยังเป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศเช่นเดิม กล่าวคือ สูงสุดยังไต้หวัน ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 61 ล้านเหรียญฯ (แต่ลดลง 66% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยอินโดนีเซียซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 35 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 21%) ส่วนเกาหลีใต้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ยอดซื้อลดลงถึง 95% เหลือราว 12 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือไทยซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 และลดลง 96% เช่นกัน เหลือราว 0.6 ล้านเหรียญฯ (18 ล้านบาท) ส่วนตลาดในฟิลิปปินส์ปิดทำการเนื่องจากวัน Ninoy Aquino Day
เป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนต่างชาติได้ชะลอการซื้อขายหุ้นในภูมิภาคหลังจากที่ซื้อต่อเนื่องอย่างหนัก 2 วันก่อนหน้า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการีรอการเข้าซื้อเพื่อรอดูผลการประชุมแจ๊คสัน โฮล ที่จะมีขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ ทำให้เชื่อว่าในวันนี้น่าจะยังเป็นการเข้าซื้อสลับขายเบาบางต่อไป ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ของไทยนักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 8.3 พันล้านบาท (หลังจากที่ซื้อติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญฯ

ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง จากสถานการณ์ในอิรักที่ผ่อนคลายชั่วคราว
การรายงานสต็อกน้ำมันดิบล่าสุดสหรัฐสัปดาห์ล่าสุด ลดลงถึง 4.5 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้จะลดลงเพียง 1.75 ล้านบาร์เรล) สู่ระดับ 362.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 57 ทั้งนี้เป็นเพราะโรงกลั่นมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 93.4% จาก 91.6% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่สต๊อกน้ำมันสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มเพิ่ม-ลด แตกต่างกัน กล่าวคือ น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.55 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 212.7 ล้านบาร์เรล (แม้อยู่ในช่วงของ driving season) สวนทางกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ (heating oil) ที่ลดลงราว 9.6 แสนบาร์เรล อยู่ที่ 122.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.55 ล้านบาร์เรล และ 3 แสนบาร์เรล ตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ต.ค. ยังคงทรงตัวระดับต่ำ โดยอยู่ที่ 93.93 เหรียญฯต่อบาร์เรล (แต่ยังคงลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า) และ เช่นเดียวกับ Brent และ ดูไบราคายังคงทรงตัวลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 99.50 และ 100.61 เหรียญฯต่อบาร์เรลตามลำดับ เนื่องจากปัญหาการสู้รบในอิรักที่ผ่อนคลายลงชั่วคราว แม้ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันจะอยู่ที่ 105 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ก็ตาม แต่ราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวจะกดดันหุ้นน้ำมัน ทั้ง PTTEP และ PTT ให้อ่อนตัวช่วงสั้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาค่าการกลั่นพบว่าได้ฟื้นตัวระยะสั้น ๆ จากระดับ 3 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขึ้นมาที่ระดับ 4.8 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จึงอาจจะสลับมาลงทุนในหุ้น โรงกลั่นที่ได้ประโยชน์การค่าการกลั่นที่ฟื้นตัว ได้แก่ BCP (FV@B 36) และ TOP (FV@B 56)

หุ้นส่งออกยังโดดเด่นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
หลังจากที่ได้นำเสนอที่มีผลกำไรโดดเด่นในงวด 2H57 เมื่อเทียบกับงวด 1H57 ไปแล้ว 2 กลุ่ม คือ เกษตร-อาหาร และ ภาคก่อสร้าง วันนี้ขอนำเสนอหุ้นส่งออก ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกทำให้ผลกำไรในงวด 3Q57 น่าจะโดดเด่นที่สุดของปี โดยเฉพาะหุ้นชิ้นส่วนฯ โดยนักวิเคราะห์ ASP ประเมินว่าผลประกอบการน่าจะเข้าสู่ช่วง High Season และน่าจะเติบโตต่อเนื่องจนถึงปี 2558 โดยได้อานิสงส์จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก อาทิ ยานยนต์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น พิจารณาจากหุ้นรายตัว ดังนี้
DELTA (ซื้อ : FV@B70.4) คาดกำไรสุทธิ 2H57 จะปรับสูงขึ้นจาก 1H57 ตามผลิตภัณฑ์ Data Center และ Automotive คาดการณ์ขณะที่กำไรสุทธิปี 2557 เติบโต 14.6% และ คาดว่าจะเติบโต 16% ในปี 2558 ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปัจจุบันมี Expected P/E 12.5 เท่า แต่จะลดลงเหลือ 10.7 เท่าในปี 2558 ขณะที่มี Dividend Yield ราว 4.5% นับว่าน่าสนใจระดับหนึ่ง
KCE (ถือ : FV@B40.5) คาดกำไรงวด 3Q57 จะทำ new high สูงสุด จากผลิตภัณฑ์ Automotive และทั้งปี ปี 2557 น่าจะเติบโตถึง 52.2% (ฐานกำไรปี 2556 ต่ำ ) และ ปี 2558 แม้จะเติบโต 13% แต่ราคาตลาดอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ Fair Value แล้ว นอกจากนี้ Expected P/E ปี 2557 อยู่ที่ 12.7 เท่า และ 11.3 เท่าในปี 2558 ขณะที่อัตราเงินปันผลเพียง 2.5% จึงมีความน่าสนใจน้อย
SVI (ซื้อ : FV@B5.08) แนวโน้มกำไรสุทธิ 2H57 จะปรับสูงขึ้นจาก 1H57 เช่นกัน โดยจะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเติมทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ (ตามอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ กล้องดิจิตอล) คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2557 เติบโตถึง 93% (ฐานกำไรปี 2556 ที่ต่ำจากผลกระทบจากน้ำท่วม) และ คาดว่าจะเติบโต 46.5% ในปี 2558 ขณะที่ Expected P/E ปีนี้และปีหน้าอยู่ที่ 7.1 และ 8.6 เท่า ตามลำดับ ราคาปัจจุบันยังมี upside 19.25% และ ยังมีเงินปันผลราว 5.2% จึงถือว่าเป็นหุ้นน่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
HANA (ซื้อ : FV@B44) กำไรสุทธิ 2H57 จะเติบโตจาก 1H57 และต่อเนื่องปี 2558 ได้แรงหนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 2557 จะเติบโตถึง 50.3% ซึ่งได้รวมเงินประกันจากน้ำท่วม 1300 ล้านบาท แต่หากตัดรายการนี้ กำไรปกติยังเติบโต 48.5% ปี 2558 จะเติบโต 23% มีค่า Expected P/E 8.4 เท่าในปีนี้ และ 11.1 เท่าในปีหน้า ขณะที่ราคาปัจจุบันยังมี upside 19.7% และ เงินปันผลราว 4.2% จึงถือว่าเป็นหุ้นน่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
หากพิจารณาในแง่ของราคา พบว่า HANA โดดเด่นกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มฯ ทั้งนี้เรื่อง PER ต่ำสุด และ upside สูงสุด จึงเลือก HANA เป็น Top Pick

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!