WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAธปท.ยังจับตาฟองสบู่อสังหาฯ เข้มข้น-ชี้ดบ.ต่ำทำระบบการเงินเปราะบาง

     ธปท.เผยผลประชุม กนง.เมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา คงจีดีพีปีนี้ - ปีหน้าที่ 4.4% และ 4.2% ตามลำดับ พร้อมเฝ้าระวังฟองสบู่อสังหาฯ เข้มข้นมากขึ้น หลังพบยอดสินเชื่อใหม่ - บ้านหลัง 2 พุ่ง สวนทางมาตรฐานการปล่อยกู้ที่ต่ำลง พร้อมส่งสัญญาณเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังคณะกรรมการบางส่วนกังวลดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานจะกระทบระบบการเงินให้เปราะบางเป็นวงกว้างมากขึ้น

       ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 6/2561 วันที่ 19 กันยายน 2561 โดยคณะกรรมการฯ ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2561 และ 2562 มีแนวโน้มขยายตัวเท่ากับที่ประเมินไว้เดิมที่ร้อยละ4.4 และ 4.2 ตามลำดับ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ตได้เร็วกว่าคาดและยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวดี

       ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ให้ติดตามการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินที่อาจสะท้อนจากการประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร โดยเฉพาะการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของ ธพ. ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (loan-to-value: LTV) เกินร้อยละ 90 ที่เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (loan-to-income: LTI) ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2ขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นโดยมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลงเช่นกัน ประกอบกับสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีทิศทางปรับสูงขึ้น ขณะที่ยังมีอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่

      นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่คณะกรรมการฯติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) พฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีสัญญาณปรับลดลงชัดเจนประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อีกทั้ง อัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลกระทบต่อฐานเงินออมในอนาคต และ (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นอื่น ๆ ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูง ทำให้สินทรัพย์ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องและเป็นแรงกดดันให้ต้องแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมทั้งการออกตราสารหนี้ของภาคธุรกิจในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำค่อนข้างกระจุกตัวในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักและลงทุนกิจการในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น

         ทั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจัดการได้ ขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินที่เริ่มสะสมความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่าความเปราะบางในระบบการเงินเริ่มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น และส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานซึ่งส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร ซึ่งการพึ่งพามาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

        นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต โดยเห็นว่าหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มทยอยลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้าง policy space ในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น คณะกรรมการฯ จะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent)ทั้งแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!