WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cกลศ สมบตศรกรมศุลฯทำใจรายได้ปีงบ'59 วูบ 4 พันล. สินค้านำเข้าหด-หั่นภาษีตามกรอบค้าเสรี

     แนวหน้า : นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ได้ปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2559 ลงจากเดิม 1.2 แสนล้านบาท เป็น 1.16 แสนล้านบาทหรือลดลง 4,000 ล้านบาท เนื่องจาก คาดว่าการเข้าสู่การปรับโครงการกรมศุลกากรระยะที่ 2 ที่มีการปรับปรุงอากรขาเข้าสินค้าอีกกว่า 1,000 รายการ จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกลุ่มต่างๆ ที่ไทยร่วมเป็นภาคี จะมีผลกระทบ ต่อจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ประกอบกับช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ของ กรมศุลกากรลดลงตามสินค้าที่มีการนำเข้าลดลงอย่างเช่น รถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ

      "การปรับโครงสร้างระยะที่ 2 ที่จะมีการปรับลดอากรประเมินว่าภาษีหายไปแน่ๆ 4,000 ล้านบาท แต่ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ เชื่อว่าจะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าจะกระทบเท่าไร และผลการจัดเก็บรายได้ จะหลุดจากเป้าที่ขอปรับลดมาอยู่ที่ 1.16 แสนล้านบาทหรือไม่ตรงนี้ต้องรอดูและทำให้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้กรมศุลกากร พยายามพัฒนาระบบเพื่ออุดรอยรั่วให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากที่สุด" นายกุลิศกล่าว

     ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค. 2558 - ก.พ. 2559) กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 4.83 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,548 ล้านบาท หรือ 3.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว สำหรับยอดจัดเก็บรายได้ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.พ. อยู่ที่ 8,395 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 9,400 ล้านบาท และต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 9,203 ล้านบาท

   อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าสินค้าที่มีมูลค่าการจัดเก็บอากรนำเข้าสูงในเดือน ก.พ. 2559 ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ มียอดการจัดเก็บอากรกว่า 1,355 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ม.ค. ที่มียอดอากรนำเข้า 1,680 ล้านบาท, เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ มียอดอากรนำเข้าเดือน ก.พ. อยู่ที่ 849 ล้านบาท ลดลงจากเดือน ม.ค. ที่มีอากรนำเข้า 857 ล้านบาท, เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบ มียอดอากรนำเข้าในเดือนก.พ. อยู่ที่ 671 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนม.ค. ที่มียอดอากรนำเข้าอยู่ที่ 686 ล้านบาท เป็นต้น

    ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558-กุมภาพันธ์ 2559) จัดเก็บได้ 898,061 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 43,876 ล้านบาท หรือ 5.1% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.8% ) โดยการนำส่งรายได้ของหน่วยงานอื่น 5.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 70% การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 6.1 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5.1% และภาษีเบียร์ 4.4 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12.6%

    อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ของเดือนกุมภาพันธ์ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 154,068 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,369 ล้านบาท หรือ 7.4% (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3.0%) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!