WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ลุยจับโกงแวตขอคืนภาษีสรรพากรจับมือกรมศุลฯ เอกซเรย์เข้มตู้คอนเทนเนอร์

   บ้านเมือง : กรมสรรพากรผนึกกำลังกรมศุลฯ อุดช่องโหว่การโกงภาษมูลค่าเพิ่ม ลั่นเปิดตรวจทุกตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมเข็นกฎหมายเพิ่มอำนาจอธิบดีกรมสรรพากรเป็นพนักงานสอบสวนและระงับธุรกรรมทางการเงินได้ ขณะที่ผลจัดการเก็บรายได้ปีงบประมาณ 57 พลาดเป้า 120,000 ล้านบาท

    นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ร่วมมือกับกรมศุลกากรเปิดตรวจตู้สินค้าคอนเทนเนอร์สินค้าทั้งที่เป็นสินค้าส่งออกและนำเข้า 100% กรณีที่เป็นสินค้าต้องสงสัยว่า โกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ด้วยวิธีการสำแดงเท็จ คือสินค้าส่งออกไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยกรมศุลกากรจะเปิดตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนสินค้ามากกว่า 10 รายการ เช่น คอมพิวเตอร์ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก และเศษเหล็ก เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยลดการโกงภาษีแวตได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะดำเนินนโยบายคู่ขนานภายในกรมสรรพากร เช่น การตรวจสอบการคืนภาษีแวต และการมอบอำนาจให้ส่วนกลางมีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบการคืนภาษีแวตได้ในทุกกรณี

    "ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรสามารถจับกุม ผู้กระทำความผิดคดีใบกำกับภาษีปลอมและการโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นความเสียหายทางด้านภาษีมากกว่า 7,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการเหล่านี้อย่างเด็ดขาด"

    นายประสงค์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักตรวจสอบภาษีกลางของกรมสรรพากรได้กระจายกำลังเข้าตรวจสอบ บริษัทส่งออกคอมพิวเตอร์รวม 12 บริษัท โดยอ้างว่าได้ส่งคอมพิวเตอร์จากประเทศไทยไปขายในประเทศลาว ฮ่องกง และจีน แต่ปรากฏว่า ไม่มีคอมพิวเตอร์ส่งออกไปยังต่างประเทศจริง โดยได้ประสานไปยังประเทศปลายทางไม่พบสินค้าส่งออกเป็นคอมพิวเตอร์ เพราะเจตนาที่แท้จริงคือ ผู้ส่งออกต้องการขอคืนภาษีแวต 7% จากกรมสรรพากร ทำให้กรมสรรพากรเกิดความเสียหายเบื้องต้น 600 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ถือเป็นภาษีของคนไทยและเป็นงบประมาณของแผ่นดิน โดยจับกุมผู้กระทำความผิดได้มากกว่า 10 คน และที่สำคัญหนึ่งใน 10 คน เป็นตัวการใหญ่ พร้อมกับยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ เอกสารต่างๆ และตู้เซฟได้ด้วย โดยกรมสรรพากรจะนำไปขยายผลและตรวจสอบต่อไป

   ทั้งนี้ ระหว่างปี 2554-2556 มีการโกงภาษีแวตเป็นเงินกว่า 7,000 ล้านบาท แต่หลังจากนี้ไป เรื่องดังกล่าวน่าจะเบาบางลง เพราะกรมสรรพากรวางมาตรการเข้มงวดและกวดขันกับเจ้าหน้าที่สรรพากรในการคืนภาษีแวต และยังมีสำนักตรวจสอบภาษีกลางในการเข้าไปตรวจร่วมกับสรรพากรพื้นที่อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการโกงภาษีดังกล่าวต้องมีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรรู้เห็นเป็นใจอย่างแน่นอน เหมือนกับกรณีการขอคืนภาษีแวตจากการส่งออกเศษเหล็กที่มีการโกงภาษีแวตจากกรมสรรพากรไปมากว่า 4,000 ล้านบาท

   "จากการจับกุมการโกงภาษีแวตจากคอมพิวเตอร์วงเงิน 600 ล้านบาท กรมสรรพากรยังตรวจพบว่าคนกลุ่มเดียวกันยังเปิดบริษัทอีก 50 แห่ง เพื่อออกใบกำกับภาษีปลอมขายให้แก่บริษัทห้างร้านนิติบุคคลอีกด้วย โดยจะเสนอขายในราคา 3-4% ของมูลค่าแวตที่ต้องเสียให้แก่กรมสรรพากร ทำให้ความสูญเสียทางภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านบาท และเมื่อนับรวมกับคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ส่งออกไปขายต่างประเทศจริง แต่คอมพิวเตอร์เหล่านั้นถูกนำมาขายในประเทศไทย ความเสียหายทางภาษีน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2,500 ล้านบาท"

   นายประสงค์ กล่าวต่อว่า การโกงภาษีแวตและการออกใบกำกับภาษีปลอมสามารถทำได้ง่ายมาก หากคนของกรมสรรพากรรู้เห็นเป็นใจ ดังนั้นกรมสรรพากรก็ต้องพยายามปิดช่องโหว่และขันนอตให้แน่นขึ้น เพราะการคืนภาษีด้วยเงินสดหรือเช็คของธนาคาร ก็ยังมีความจำเป็นต่อภาคธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการตัวจริงได้รับความยุติธรรมในระบบภาษีเท่าเทียมกัน และล่าสุดกรมสรรพากรได้เสนอออกกฎหมายกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีก 1 ฉบับเพื่อเพิ่มอำนาจกรมสรรพากรให้สามารถเป็นพนักงานสอบสวนได้ จากเดิมที่อำนาจดังกล่าวอยู่กับตำรวจ และมีอำนาจในการระงับธุรกรรมทางการเงินได้ทันที เพื่อป้องกันการถ่ายโอนทรัพย์สิน จากปัจจุบันกฎหมายระบุว่าผู้ประกอบการสามารถชำระภาษีได้ภายใน 30 วัน หากเกินกว่านั้น ถึงจะระงับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งกรณีนี้ทำให้เกิดการถ่ายโอนทรัพย์สินจนไม่สามารถติดตามหรือยึดทรัพย์สินเหล่านั้นกลับมาได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!