WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรรพากร หอบจับวิ่งตามเป้าเศรษฐกิจไม่โตอย่างหวังมั่นใจหลุดไม่ถึง 9 หมื่น ล.

    บ้านเมือง : สรรพากรพับแนวคิดตรวจสอบคนถือครองรถหรู-บ้านแพง เน้นตรวจสอบกลุ่มธุรกิจที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน เก็บภาษีให้ได้มากที่สุด เพราะเศรษฐกิจไม่โต อย่างที่ตั้งประมาณการไว้ เร่งปั๊มรายได้ช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนปิดหีบ มั่นใจหลุดเป้าไม่ถึง 9 หมื่นล้านแน่นอน

    นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในส่วนของแนวคิดก่อนหน้านี้ที่ทางกรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบบุคคลที่ครอบครองรถยนต์หรู ราคาเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงมีบ้านหรู ที่ราคา 4 ล้านบาทขึ้นไปว่า ยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวไม่มีแน่นอน เพราะคำว่ารถยนต์ 3 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นราคาที่ไม่ได้สูง และคนที่มีเงินเดือนสูงพอสมควรก็สามารถที่จะซื้อไว้ครอบครองได้

    "เราจะไม่เข้าไปตรวจสอบคนที่ครอบครองบ้านและรถยนต์หรูแน่นอน แต่เราจะดูการทำธุรกิจจริงที่เป็นอยู่มากกว่า เราจะลงไปดูสิ่งที่ป้องกันไม่ให้มีการตกแต่งรายจ่าย ไม่มีการสร้างต้นทุน และถ้ามีรายได้ก็ให้มายื่นให้ครบถ้วน ยืนยันว่าขณะนี้ เรื่องบ้านแพง รถแพง สรรพากรพื้นที่รับมอบนโยบายที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่มีทิศทางที่จะไปดำเนินการในส่วนนั้นแน่นอน"

    นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้สั่งให้สรรพากรทั่วประเทศช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรให้เก็บภาษีในช่วง 2 เดือนที่เหลือในปีงบประมาณ 2557 อย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้เป็นธรรมกับผู้เสียภาษี โดยมุ่งไปที่กลุ่มผู้เสียภาษีที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี และยังไม่เสียก็ให้เสียให้ถูกต้อง โดยกรมสรรพากรจะมุ่งดำเนินงานให้เกิดความโปร่งใสยิ่งขึ้นในระบบการจัดเก็บภาษี

   "และให้เน้นย้ำเรื่องคำว่าปรองดองกับผู้เสียภาษี ให้ความสุข แต่ถ้ายังเสียขาดอยู่หรือยังเสียไม่ครบถ้วนถูกต้อง กรมฯ ก็ต้องปรับทัศนคติของผู้เสียภาษีให้ถูกต้อง ให้เขาเกิดความเข้าใจ และยื่นเสียภาษีให้ถูกต้อง ในเวลาที่เหลืออยู่ 2 เดือนกว่า เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีในส่วนที่เราต้องร่วมมือกับทางกรมศุลกากรด้วย ไม่ใช่กรมสรรพากรเพียงอย่างเดียว เพราะเรามีภาษีที่เกี่ยวกับการนำเข้า ซึ่งทางกรมศุลกากรจะต้องช่วยจัดเก็บภาษีส่วนนั้นด้วย ก็จะพยายามดูว่ากรมสรรพากรมีพันธมิตรอะไรบ้างในการจัดเก็บภาษี และที่สำคัญต้องดำเนินงานเพื่อแข่งกับเวลาด้วย"

    นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เหลือระยะเวลาประมาณ 2 เดือนกว่าๆ ก่อนที่จะหมดปีงบประมาณ 2557 แต่ตนเชื่อมั่นว่าหากทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างตั้งใจเต็มประสิทธิภาพแล้ว การจัดเก็บรายได้จะต้องดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีด้วย ดังนั้น จึงให้นโยบายกับสรรพากรทั่วประเทศไปว่า ขอให้ดำเนินงานจัดเก็บภาษีอย่างเต็มที่ ด้วยความเป็นธรรม และเป็นกลาง จะเก็บได้เท่าไหร่ก็ขอให้เต็มที่ได้เท่าไหร่ก็ขอให้เต็มที่

     "ผมไม่ได้ตั้งว่าจะต้องทำให้ได้ตามประมาณการณ์รายได้ เพราะเรารู้อยู่แล้วถึงพื้นฐานข้อเท็จจริงว่า การตั้งประมาณการณ์ในปีก่อนนั้น มาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้ 4.6%แต่ในความเป็นจริงเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าน่าจะได้ 2%ดังนั้น การจัดเก็บรายได้จึงต้องเก็บตามสถานการณ์ที่เป็นจริง โดยปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าอยู่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท จากเป้าที่ตั้งเอาไว้ 1.89 ล้านล้านบาท แต่กรมฯ มั่นใจว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ จะสามารถทำให้ยอดรายได้ต่ำกว่าเป้าน้อยกว่า 9 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน"

    นอกจากนั้น ได้มอบนโยบายกับสรรพากรทั่วประเทศไปด้วยว่า กลุ่มธุรกิจอะไรเป็นดาวรุ่ง ยื่นภาษีไม่เป็นไปตามปกติ ก็ให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าไปตรวจสอบและดูแลอย่างใกล้ชิด และสร้างความเข้าใจ ให้ผู้เสียภาษียื่นเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ขณะที่ธุรกิจใดที่ยังลำบากอยู่ก็ให้โอกาสในการสร้างความเข้มแข็ง เพราะถูกว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็เป็นลูกค้าของกรมฯ ในการเสียภาษี หากทำให้เข้มแข็ง วันข้างหน้าก็จะเป็นลูกค้าที่ดีของกรมฯ ต่อไป

      ด้านนางชนาทิพย์ วีระสืบพงศ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหาการเมืองช่วงที่ผ่าน ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้ จะเร่งปรับวิธีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เสียภาษีจ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมาย พร้อมกับให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เสียภาษี ส่วนแนวคิดการต่ออายุสิทธิลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ยังไม่มีความชัดเจนซึ่งขณะนี้กำลังรอรับนโยบายจากอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ สำหรับช่วง 8 เดือนแรกปีงบประมาณ 2557 ยอดจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการรวมกว่า 140,000 ล้านบาท หรือ 9.2%

    ล่าสุด กรมสรรพากรยังร่วมกับเอกชนจัดโครงการคุณ คือ คนดี...ที่เสียภาษีถูกต้องปี 2557 ภายใต้แนวคิดดนตรีสร้างเด็กดี เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก ทัศนคติและค่านิยมที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมให้กับผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นตัวแทนนักเรียนและตัวแทนครูจากโรงเรียนทั่วประเทศที่ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ล้มแนวคิดรีดภาษีรถ-บ้านหรู ลุ้นรายได้หลุดเป้าไม่มาก หนี้ประเทศลด5หมื่นล.

     ไทยโพสต์ : อารีย์ *'ประสงค์'ล้มแผนรีดภาษีรถ 3 ล้านบาท บ้านหรู 40 ล้านบาท ชี้เป็นนโยบายอธิบดีคนเก่า มั่นใจจัดเก็บต่ำเป้าน้อยกว่า 9 หมื่นล้านบาท สบน.แจงหนี้ประเทศลดลงจากเดือนก่อนหน้า 5.13 หมื่นล้านบาท

    นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ว่ากรมสรรพากรจากนี้ไปไม่มีนโย บายตรวจสอบและเก็บภาษีจากคนที่ซื้อรถคันละ 3 ล้านบาท และซื้อบ้านหลังละ 40 ล้านบาท เพราะการซื้อรถและบ้านในราคาดังกล่าว คนที่มีเงินเดือนพอสมควร ก็สามารถซื้อได้อยู่แล้ว ไม่ได้ราคาสูงจนเกินไป และไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปตรวจว่าบุคคลดังกล่าวมีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

    "ผมมอบนโยบายให้ผู้ บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศ แล้ว ว่า กรมสรรพากรไม่มีมาตร การไปไล่ตรวจเก็บภาษีจากคน ซื้อรถและบ้าน นโยบายดังกล่าวเป็นของอธิบดีสรรพากรคนเก่า ไม่ใช่ของอธิบดีคนปัจจุบัน"นายประสงค์ กล่าว

   นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ได้ให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่กรม สรรพากรทั่วประเทศในการเก็บ ภาษีในช่วงที่เหลือของปีงบประ มาณ 2557 อีก 2 เดือนครึ่ง อย่างเต็มที่ และเก็บจากรายได้และผลการดำเนินจริง ไม่ใช่ไปเก็บภาษีจากการขอภาษีเพิ่มจากผู้ประกอบการ แต่ต้องเข้มงวดจากผู้เสียภาษีไม่ครบต้องทำเสียให้ครบ

    สำหรับ การเก็บภาษีของกรมสรรพากรล่าสุดสิ้นเดือน มิ.ย.2557 ต่ำกว่าเป้าอยู่ 9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ประมาณการไว้มาก จากที่ตอนทำการประมาณการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรปีงบ 2557 อยู่บนสมมุติฐานเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4.6% ต่อปี แต่ขณะนี้มีการประเมินกันว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 1.5% ต่อปี ต่อมาเมื่อมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั้งปีไม่ต่ำกว่า 2% ต่อปี ทำให้เชื่อว่าการจัดเก็บในปีนี้ต่ำกว่าเป้าน้อยกว่า 9 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน

    ด้าน น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค.2557 อยู่ที่ 5.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 45.91% ของจีดีพี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 5.13 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 4.55 ล้านล้านบาท หรือ 82.26% และหนี้ระยะสั้น 9.81 แสนล้านบาท หรือ 17.74% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง โดยเป็นหนี้ต่างประเทศราว 3.84 แสนล้านบาท หรือ 6.95% และเป็นหนี้ในประเทศ 5.14 ล้านล้านบาท หรือ 93.05%

    ทั้งนี้ หนี้สาธารณะที่ 5.53 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 3.9 ล้านล้านบาท ลดลง 4.95 หมื่นล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 671 ล้านบาท และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 5.31 แสนล้านบาท ลดลง 251 ล้านบาท และหนี้ของหน่วยงานอื่นของรัฐ 3.65 พันล้านบาท ลดลง 2.19 พันล้านบาท

    สำหรับ หนี้ของรัฐบาลที่กู้โดยตรง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.56 หมื่นล้านบาท ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันในส่วนหนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.25 พันล้านบาท ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ในส่วนของหนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 33 ล้านบาท ส่วนหนี้ในประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 217 ล้านบาท.

อธิบดีสรรพากร คนใหม่รับ‘จีดีพี’โตไม่เข้าเป้า รายได้ภาษีหาย 9 หมื่นล.

    แนวหน้า : 'ประสงค์'อธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ ยกเลิกแผนการเข้าไปตรวจสอบการเสียภาษีของคนรวย ที่ซื้อภาษีรถหรู คฤหาสน์ ชี้มูลค่าไม่มากเกินไป และเป็นนโยบายของอธิบดีคนเก่า ยอมรับจากสภาพเศรษฐกิจฉุดการจัดเก็บรายได้ของ สรรพากร 9 เดือนแรก ของปี’57 พบต่ำกว่าเป้าอยู่ 9 หมื่นล้านบาท จี้เจ้าหน้าที่กรมทั่วประเทศเร่งจัดเก็บ

    นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2557 ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ โดยได้มอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่สรรพากรทั่วประเทศ ในการเก็บภาษีในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2557 ที่เหลืออีกกว่า 2 เดือน อย่างเต็มที่

   ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ กรมสรรพากร 9 เดือนแรก ของปีงบประมาณ หรือ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2557 พบต่ำกว่าเป้าอยู่ 9 หมื่นล้านบาท (จากเป้าตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 1.89 ล้านล้านบาท) เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้มาก เมื่อเทียบกับช่วงจัดทำประมาณการเก็บภาษีของกรมสรรพากรปีงบ 2557 อยู่บนสมมุติฐานเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4.6% ต่อปี ดังนั้นการที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ถึง 4.6% ตามที่ได้ประเมินไว้แต่แรก ส่งผลให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรทั้งปีไม่ได้ตามเป้า แต่การเก็บภาษีอย่างเต็มที่ในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนครึ่ง เชื่อว่าจะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรทั้งปีต่ำกว่าเป้าไม่ถึง 9 หมื่นล้านบาท ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

     อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีการประเมินกันว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่ถึงจากที่ได้ประเมินไว้ และเมื่อมี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั้งปีไม่ต่ำกว่า 2% ต่อปี

     ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดย กรมสรรพากร จะประสานกับกรมศุลกากรในการเข้มงวดเก็บภาษีให้กรมสรรพากร เนื่องจากกรมศุลกากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าให้กรมศุลกากรจำนวนมาก หากมีการประเมินราคานำเข้าสินค้าดีก็จะทำให้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

    นายประสงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กรม ได้พิจารณายกเลิกมาตรการที่ กรมสรรพากรจะตรวจสอบ และเก็บภาษีจากคนที่ซื้อรถคันละ 3 ล้านบาท และซื้อบ้านหลังละ 40 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าการซื้อรถ และบ้านในราคาดังกล่าวคนที่มีเงินเดือนพอสมควร ก็สามารถซื้อได้อยู่แล้ว ราคาไม่ได้มีมูลค่ามากจนเกินไป และไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปตรวจว่าบุคคลดังกล่าวมีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

     “ผมมอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศแล้ว ว่า กรมสรรพากรไม่มีมาตรการไปไล่ตรวจเก็บภาษีจากคนซื้อรถ และบ้าน นโยบายดังกล่าวเป็นของอธิบดีสรรพากรคนเก่า ไม่ใช่ของอธิบดีคนใหม่”นายประสงค์ กล่าว

    พร้อมย้ำว่าการเก็บภาษีหลังจากนี้จะดำเนินการจริง ไม่ใช่เก็บภาษีจากการขอภาษีเพิ่มจากผู้ประกอบการ แต่ต้องเข้มงวดจากผู้เสียภาษีไม่ครบต้องทำให้เสียภาษีให้ครบ

    มีรายงานข่าวจาก กระทรวงการคลัง รายงานผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.2556-พ.ค.2557)พบว่า รายได้สุทธิของรัฐบาลอยู่ที่ 1,360,034 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 93,286 ล้านบาท หรือ 6.4% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.3% โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษี (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) ต่ำกว่าประมาณการถึง 142,666 ล้านบาท หรือ 9.2%

    ก่อนหน้านี้ นายสุทธิชัย สังขมณี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ขอความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ขอรายชื่อผู้ที่ครอบครองรถยนต์ มูลค่าเกินกว่า 3 ล้านบาท ประมาณ 10,000 ราย โดยได้ส่งจดหมายไปถึงผู้ครอบครองรถยนต์เหล่านี้ ทั้งในส่วนที่เป็นบุคคล และบริษัทนิติบุคคล โดยในจดหมายจะเป็นแบบฟอร์มให้ผู้ครอบครองรถยนต์กรอกข้อมูล เช่น ยี่ห้อรถยนต์ รุ่น ขนาดของเครื่องยนต์ แหล่งที่ซื้อ และราคาของรถยนต์ แล้วให้ส่งกลับมายังสรรพากร ว่ามีการจ่ายภาษีสมเหตุสมผลกับการครองครองรถยนต์หรูหรือไม่ นอกจากนี้ อดีตกรมสรรพากร เคยคิดตรวจสอบผู้ที่ครองบ้านราคาแพงเกินกว่า 40 ล้านบาท โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในสนามกอล์ฟ ว่าผู้ครอบครองบ้านดังกล่าว มีรายได้สมเหตุสมผลกับการครอบครองบ้านหรือไม่ด้วย

สรรพากรวางแนวทางเร่งจัดเก็บภาษีช่วงที่เหลือปีงบ 57 หลังพลาดเป้าไปมาก

     นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ ระบุว่า วันนี้ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางเร่งรัดการจัดเก็บภาษีในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 57 เนื่องจากพบว่าในช่วงที่ผ่านมาการจัดเก็บพลาดเป้าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดีในระหว่างนี้จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนบุคลากรภายในกรมสรรพากร เพราะจำเป็นต้องการเร่งรัดการทำงาน โดยขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งหมด เพื่อวางเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆ นี้

   อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 57 ณ สิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 9 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ 1.89 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือจากนี้ได้ให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรทั่วประเทศให้เร่งจัดเก็บรายได้ในส่วนที่ยังสามารถดำเนินการให้ได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยให้ผลการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมายน้อยกว่า 9 หมื่นล้านบาท

   ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงที่ทำการประเมินแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 57 ของกรมนั้นมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้ม GDP จะขยายตัวได้ถึง 4.6% แต่เมื่อเกิดปัญหาการเมืองและปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศ ส่งผลให้ GDP ปีนี้ลดลงเหลือ 1.5% และหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศและเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2% ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงการจัดเก็บรายได้ของกรม

   นอกจากนี้ ได้ยืนยันและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สรรพากรทั่วประเทศในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ด้วยว่า จากนี้ไปกรมจะไม่มีนโยบายในการเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดและเก็บภาษีจากบุคคลที่ซื้อรถยนต์คันละ 3 ล้านบาทขึ้นไป และบ้านราคา 40 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากเห็นว่าการซื้อรถยนต์และบ้านในราคาดังกล่าว คนมีเงินเดือนพอสมควรก็สามารถซื้อได้อยู่แล้ว จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบกลุ่มบุคคลดังกล่าว

    "มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สรรพากรทั่วประเทศแล้ว และยืนยันว่าจะไม่มีการศึกษาหรือดำเนินการตรวจสอบภาษีและรายได้ของบุคคลที่ซื้อรถยนต์ราคา 3 ล้านบาท และบ้านราคา 40 ล้านบาทขึ้นไปอีก แต่จะมีการเข้มงวดในการตรวจสอบภาษีในส่วนต่างๆ มากขึ้น เพื่อป้องกันการตกแต่งบัญชีรายจ่าย หรือต้นทุน" นายประสงค์ กล่าว

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!