WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรรพากร ชง 3 แนวทางจัดเก็บภาษีมรดกให้ คสช.พิจารณา พร้อมเสนอแก้เกณฑ์ภาษีควบรวมกิจการ

   นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีมรดกจากหลายภาคส่วน ทั้งจากนักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจากประเทศต่างๆ โดยพบว่า มีความแตกต่างกันในวิธีปฏิบัติ แบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1.จัดเก็บจากกองมรดก 2.จัดเก็บจากผู้ให้มรดก และ 3.จัดเก็บจากผู้รับมรดก ซึ่งกรมฯ ก็กำลังพิจารณาข้อดีและข้อเสียว่า จัดเก็บจากแนวทางใดจึงจะเหมาะสมและปิดช่องโหว่ได้มากที่สุด

    การจัดเก็บภาษีดังกล่าว มุ่งเน้นสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียภาษีมากกว่าการจัดเก็บรายได้ เพราะผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นมรดก ควรที่จะมีการเสียภาษี โดยบางรายมีทรัพย์สินจำนวนมาก และได้ยกให้กับลูกหลาน แต่ไม่มีภาระภาษี ซึ่งกรมฯ เห็นว่า หากผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากจะต้องมีการเสียภาษี ก็ไม่น่าจะกระทบกับรายได้มากนัก

   โดยมองว่า แม้สถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพย์สินจะเกิดขึ้นระหว่างประเทศกันมากขึ้น แต่เชื่อว่า จะไม่กระทบต่อการจัดเก็บภาษีมรดก เพราะไม่ว่า ผู้ที่ถือครองทรัพย์สินในประเทศใดๆ ก็ต้องเสียภาษีในประเทศนั้นๆ ส่วนผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ประเภท เงินสด หรือตราสารหนี้ในต่างประเทศ ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะต้องนำเงิน หรือผลกำไรกลับมาในประเทศ

   "ไม่ว่าผู้ถือครองทรัพย์สินจะอยู่ประเทศใด เขาก็จะต้องเสียภาษีในประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว ขณะที่ อัตราภาษีของเราก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และผมเชื่อว่า ผู้ที่มีทรัพย์ในต่างประเทศ ถึงจุดหนึ่งจะยกให้ลูกหลาน ก็ต้องมีการจัดการ หรือ เคลื่อนย้ายทรัพย์สินกลับมา" นายประสงค์ กล่าว

   ส่วนกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแผนจะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขภาษีในการควบรวมกิจการนั้น อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าว จะต้องขึ้นอยู่กับว่ากิจการใดที่เราต้องการส่งเสริม โดยผู้เสนอจะต้องศึกษาว่า ธุรกิจใดมีความเหมาะสม เพราะบางธุรกิจให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่บางธุรกิจส่งเสริมแล้วให้ประโยชน์แก่สังคม เช่น การควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเมื่อควบรวมแล้วจะทำให้การปล่อยสินเชื่อในระบบดีขึ้น รองรับการแข่งขันในอาเซียน เป็นต้น

   สำหรับ แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณปี2557และ ปี2558 นั้น ในส่วนของปีงบปี2557 ต้องยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้จะพลาดเป้าหมายแน่นอน หรือ ราว 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ยอดการจัดเก็บในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5 พันล้านบาท

  ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ ปี 2558 นั้นเชื่อว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะเริ่มเข้าที่เข้าทางหลังจากที่กรมฯ ได้ปรับลดภาษีลงและทำให้รายได้หายไปมากกว่าเป้าหมาย ประกอบกับ ทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่า จะดีขึ้น ก็เชื่อว่า จะทำให้รายได้ขยายตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2557 ประมาณ 10%

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!