WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaพรชัย 

สศค. เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี

 

ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 และ 2565

     “เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง”

      นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 ถึง 1.4) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนตุลาคม 2564 ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี

       โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น

      โดยคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.4) และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 ถึง 3.9) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 19.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 18.7 ถึง 19.2) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่ทยอยคลี่คลายลง

       สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0)

         และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

            นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ

       โดยคาดว่า การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 ถึง 1.7) และร้อยละ 3.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 ถึง 4.2) ตามลำดับ ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 ถึง 5.5) ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.4 – 2.4) และยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันกำหนดที่ระดับร้อยละ 1.0 - 3.0 ต่อปี

       ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 2) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

      ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ 3) ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง 4) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ และ 5) ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

       อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ

 

ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2564

     เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สายพันธุ์ Omicron อย่างใกล้ชิด

      นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2564 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สายพันธุ์ Omicron อย่างใกล้ชิด" โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

            เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 16.6 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 4.8 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 46.2 จากระดับ 44.9  ในเดือนพฤศจิกายน 2564

       โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 25.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 8.8 อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -29.1 และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.2

            เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.3 การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -10.4 ต่อปี แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.7

       สำหรับ การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนธันวาคม 2564 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.2 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1

            มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 24,930.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.2 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 23.0 โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป และยางพารา ที่ขยายตัวร้อยละ 48.1 24.9 23.7 และ 22.7 ตามลำดับ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน

           อาทิ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 4) สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 45.0

        ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 54.4 36.5 และ 35.0 ตามลำดับ

            เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.8 จากระดับ 85.4 ในเดือนก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 230,497 คน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือน

        โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย สหรัฐฯ และสวีเดน โดยได้รับปัจจัยสนับนุนจากมาตรการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศให้เข้ามาไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว (Test and Go) เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 15.95 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 31.8

      ขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.1 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -4.2 ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพด มันสำปะหลัง สุกร และไก่ อย่างไรก็ดี ผลผลิตอ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ยังคงขยายตัว

            เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.17 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.29 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 อยู่ที่ร้อยละ 59.6 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับ เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 246.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สศค.คาดจีดีพีปี 65 โต 4% หวังท่องเที่ยวพุ่ง 1,536% กู้ชีพเศรษฐกิจ

 สศค. คาดจีดีพีปี 65 โต 4% อานิสงส์ส่งออกโต 3.6% ส่วนท่องเที่ยวคาดฟื้นแรง 1,536% ชี้โควิด-เศรษฐกิจการเงินโลก-ราคาพลังงาน ปัจจัยเสี่ยงต้องจับตา ด้านปี 64 คาดจีดีพีขยายตัวได้ 1.2%

 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% และการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ 7 ล้านคน ขยายตัว 1,536% ต่อปี และสร้างรายได้ 400,000 ล้านบาท

 ขณะที่การนำเข้าในปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 5.4% ด้านการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 1.2% ด้านการลงทุนภาคเอกชน คาดโต 5% และการลงทุนภาครัฐคาดโต 3.7%

 ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% ขณะที่สมมติฐานการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าอยู่ที่ 33.1 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนน้ำมันดิบดูไบคาดว่าจะอยู่ที่ 72.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัฐในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 65 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 65 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนที่เหลือคาดว่าจะเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง

 

 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม 5 ด้าน ประกอบด้วย

 1.ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ปัจจุบันและสายพันธุ์ที่อาจจะเกิดใหม่ในอนาคต

      2.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก เช่น การส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

     3.ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังเปราะบาง

 4.ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ จากการผลิตยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่

 5.ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในยตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

      อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการทางการคลัง และการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ

      สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 64 สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง 0.9-1.4% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 19% การส่งออกขยายตัว 24.3% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 0.2% การลงทุนเอกชนขยายตัว 3.7% ด้านการบริโภคภาครัฐขยายตัว 2.6% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 5.9% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2%

      ด้านนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอย่างใกล้ชิด

       โดยการส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค. 64 มีมูลค่า 24,930.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24.2% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 23.0% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป และยางพารา สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ

      รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

     ส่วนการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 64 ขยายตัวได้ 33.4% สำหรับด้านบริการด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 230,497 คน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย สหรัฐ และสวีเดน โดยได้รับปัจจัยสนับนุนจากมาตรการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศให้เข้ามาไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว (Test and Go)

    ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค.64 อยู่ที่ 2.17% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.29% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 64 อยู่ที่ 59.6% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธ.ค. 64 อยู่ในระดับสูงที่ 246.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C JGC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

hino2021

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!