WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

SECก.ล.ต.รื้อพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพิ่มอำนาจคุมเข้ม ตลท. สั่งลงโทษได้หากฝ่าฝืน พร้อมโละโครงสร้างบอร์ด ตลท.สร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วม

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้ตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวทางกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ตามความคาดหวังและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทย โดยเปิดรับความคิดเห็นถึงวันที่ 21 เม.ย.59 ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประเด็นดังนี้

      1.ให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถกำหนดความคาดหวังและหลักเกณฑ์ให้ ตลท.ปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดบทลงโทษในกรณีฝ่าฝืน โดยความคาดหวังในการเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ต้องการ คือ  มีแหล่งเงินทุน บุคลากร และระบบงานที่เพียงพอ สำหรับรองรับ การประกอบกิจการ ตลอดจนมีมาตรการป้องกันและรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์   

       มีระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และระบบบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอซื้อเสนอขายและข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อสาธารณชนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม  มีระบบการกำกับตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม มีระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ  มีมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์

            มีหลักเกณฑ์การรับสมาชิกที่เป็นธรรม ชัดเจน แน่นอน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสถานภาพของผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก มีหลักเกณฑ์ที่สมาชิกต้องปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งมีมาตรการกำกับดูแลและลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีหลักเกณฑ์การรับจดทะเบียนหลักทรัพย์และเพิกถอนหลักทรัพย์ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึง คุณภาพของบริษัทเป็นปัจจัยสาคัญ 

             มีมาตรการกำกับดูแลด้านการเปิดเผยข้อมูลและธรรมาภิบาลของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียน  มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือเกิดจากการใช้บริการที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่มีผลหรืออาจมีผลต่อภารกิจหรือความน่าเชื่อถือของการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์

   ทั้งนี้ หาก ตลท.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามเกณฑ์ คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีอำนาจกำหนดมาตรการลงโทษทางปกครอง เช่น ภาคทัณฑ์ ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนปรับทางปกครอง และจำกัดการประกอบการ เป็นต้น

    2. การแก้ไขในประเด็นการกำกับตลาดหลักทรัพย์ด้าน governance โดยเสนอให้ปรับปรุงที่มาของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ จากเดิมที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. 5 คน และโบรกเกอร์ 5 คน เปลี่ยนเป็น ตัวแทนที่ก.ล.ต แต่งตั้งไม่เกิน 2 คน ตัวแทนจากโบรกเกอร์ไม่เกิน 2 คน  ตัวแทนสถาบันหรือสมาคมที่คณะกรรมการก.ล.ต. ยอมรับอีกไม่เกิน 4 คน

      ทั้งนี้ ตัวแทนสถาบันหรือสมาคมที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ยอมรับ อาจประกอบด้วย สถาบันหรือสมาคมที่มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนหรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันหรือสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้และพิทักษ์สิทธิผู้ลงทุน หรือการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกรรมการ

     นอกจากนี้ให้เพิ่มระยะเวลาการดำรงตำหน่งของกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี จากเดิม 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ เพื่อให้การกำหนดนโยบายและการติดตามการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์มีความต่อเนื่องมากขึ้น

      "การแก้ไขในประเด็นนี้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นต่อการกำหนดนโยบายของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯว่าได้สะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องที่หลากหลายขึ้น และเพื่อให้การกำหนดนโยบายและการติดตามการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯมีความต่อเนื่องมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น" ก.ล.ต.ระบุในเอกสารรับฟังความเห็น

               3. ย้ายอำนาจในการเปิดให้โบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ จากตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งเป็น operator มาอยู่ที่ ก.ล.ต. ซึ่งเป็น regulator โดยห้ามมิให้โบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการกระทำที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

     นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องใบอนุญาตและการกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วสำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการสากล ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 18 เม.ย.นี้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

      1. เสนอให้การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่ การเพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ การยกเลิกใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ และการกำหนดกิจการอื่นเป็นธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มเติม เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ก.ล.ต . จากเดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสากล

     2.กำหนดให้ทุนจดทะเบียนชำระแล้วสำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด โดยไม่กำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนชำระแล้วใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ จากเดิมที่ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้การกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วสำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภทมีความยืดหยุ่น อันจะช่วยให้ ก.ล.ต. สามารถกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วได้อย่างเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจที่หลากหลายตามความถนัดของผู้ประกอบธุรกิจ และการปรับเปลี่ยนทุนจดทะเบียนชำระแล้วมีความคล่องตัว ทันต่อพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว อันจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถแข่งขันได้

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!