WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8685 ข่าวสดรายวัน

ผวา-น้ำท่วม ระดมเกี่ยวข้าว '
ชาวนา'อ่างทอง หวั่นล่ม 'โผงเผง'เก็บของ ขึ้นที่สูง


เร่งเกี่ยว - ชาวนาในพื้นที่ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.อ่างทอง ต่างระดมเกี่ยวข้าวที่กำลังจะจมน้ำ เสียหาย เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะชลประทานเร่งพร่องน้ำระบายเข้าพื้นที่ ไร่นา เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

        สถานการณ์น้ำเจ้าพระยายังสูง ชาวหัวไผ่-อ่างทองเร่งเกี่ยวข้าวหนีก่อนน้ำจะท่วมนา หลังระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงต้องปล่อยน้ำเข้านา ด้านชาวบ้านริมคลองโผงเผงเร่งเก็บข้าวของขึ้นที่สูง บางส่วนรื้อบ้านเก็บอุปกรณ์เลี้ยงปลากระชังหนี หลังระดับน้ำเอ่อเกือบถึงตลิ่ง เจ้าหน้าที่เตรียมสร้างคันดินป้องกัน พร้อมประกาศเตือนให้ชาวบ้านริมเจ้าพระยา-แม่น้ำน้อย ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ขณะที่ผู้ว่าฯ-กรมทหารราบที่ 31 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งศูนย์เฉพาะกิจรับมือน้ำท่วม

เผยจีนปล่อยน้ำตามปกติ

      เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยถึงสถานการณ์ในแม่น้ำโขง ณ วันที่ 7 ก.ย. 2557 ว่าประเทศจีนยังคงระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งเป็นเขื่อนสุดท้ายที่ควบคุมปริมาณน้ำจากประเทศจีนลงสู่แม่น้ำโขง ในปริมาณที่เท่ากับเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา คือระบายน้ำในระดับ 535 ลบ.ม./วินาที ไม่ได้เพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงมากขึ้นแต่อย่างใด ขณะนี้มอบหมายให้สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด โดยจากการวัดระดับน้ำจุดแรกในแม่น้ำโขง ช่วงที่เข้าสู่ไทยที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ณ วันที่ 6 ก.ย. พบว่ายังต่ำกว่าตลิ่ง 7 เมตร ซึ่งน้ำจาก อ.เชียงแสนเหนือ จะไหลผ่านเข้าสู่ประเทศลาวตอนเหนือและวกกลับเข้าสู่ชายแดนไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ปัจจุบันระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 6 เมตร โดยจากการสำรวจปริมาณน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดโดยรอบพบว่า ที่ จ.หนองคาย ยังต่ำกว่าตลิ่ง 2.20 เมตร จ.นครพนม ต่ำกว่าตลิ่ง 3.70 เมตร และ จ.มุกดาหาร ต่ำกว่าตลิ่ง 4 เมตร 


มั่นใจริมโขงน้ำไม่ท่วมแน่
      ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า มั่นใจสถานการณ์น้ำริมฝั่งแม่น้ำโขง จะไม่เกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งแน่นอน เพราะปริมาณน้ำที่ประเทศจีนระบายออกจากเขื่อนลงสู่ลำน้ำโขงนั้นถือว่าไม่มาก และระดับริมฝั่งแม่น้ำโขงในแต่ละจุดของไทย ก็ยังต่ำกว่าตลิ่งมาก ทั้งนี้ ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่หลายจังหวัดประสบปัญหาอุทกภัยแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว และขอให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลมั่นใจว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยเมื่อปี 2554 แน่นอน เนื่องจากขณะนี้ไม่มีปัจจัยที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝนที่ตกในปีนี้ ต่ำกว่าปี 2554 และน้ำเหนือที่ตกลงในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ยังมีปริมาณน้อย 

เตือนเหนือกลางอีสานยังมีฝน
       รายงานข่าวจากกรมชลประทานแจ้ง ถึงสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 7 ก.ย. เมื่อเวลา 06.00 น. ว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้ไทยตอนบนมีฝนตกกระจายเกือบทั่วไป 60-70% ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และภาคตะวันออก บริเวณ จ.ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และปริมาณฝนที่ตกสะสมต่อเนื่อง ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 เมตร
       ส่วนปริมาณฝนสูงสุดรายภาค ภาคเหนือ ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก 12.6 ม.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 15.9 ม.ม. ภาคกลาง ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา 55.0 มม. ภาคตะวันออก ที่ อ.เมือง จ.จันทบุรี 141.5 มม. ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ที่ อ.สวี จ.ชุมพร 10.2 มม. ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ที่ อ.เมือง จ.ระนอง 53.8 ม.ม. ส่วนการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าวันที่ 8-10 ก.ย. ทั่วประเทศจะมีฝนตก 10-30 ม.ม.

อ่างเก็บน้ำยังรับได้อีกมาก
      สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 41,919 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56% (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 18,116 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36%) ปริมาตรน้ำในอ่าง เทียบกับปี 2556 (43,399 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 58%) น้อยกว่าปี 2556 จำนวน 1,480 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง จำนวน 454.11 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 112.62 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 32,772 ล้าน ลบ.ม.
       สำหรับสภาพน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C.2 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,270 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวันก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,232 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 4.38 ม. เขื่อนเจ้าพระยา สถานี C.13 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 998 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวันก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,009 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน เพิ่มขึ้นเป็น 16.00 ม. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง และสูงกว่าวันก่อน ซึ่งอยู่ที่ 15.80 ม. ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนสูง 11.46 ม. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าวันก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 11.50 ม.

สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย
       สถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศขณะนี้ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย เกิดฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมขังและดินสไลด์ 4 อำเภอ คือ 1.อ.เมือง 3 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านดู่ ต.นางแล และต.ท่าสุด 2.อ.แม่ฟ้าหลวง 3 ตำบล ได้แก่ ต.แม่สลองใน เกิดดินสไลด์ในพื้นที่บ้านผาเดื่อ หมู่ที่ 6 และบ้านโป่งไฮ หมู่ที่ 21 ต.เทิดไทย หมู่ที่ 4 และต.แม่ฟ้าหลวง น้ำป่าไหลเข้าท่วมในพื้นที่หมู่ที่ 1, 2, 17, 18 ล่าสุดใน ต.แม่สลองใน และต.เทิดไทย สามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว 3.อ.แม่สาย 2 ตำบล ได้แก่ ต.เวียงคา พื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านแม่สาย และบริเวณใต้สะพาน ไทย-พม่า และด่านแม่สาย หมู่ที่ 5 และ ถ.พหลโยธิน สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ต.แม่สาย น้ำสายเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน หมู่ที่ 1, 2, 7, 10 และ 4.อ.เทิง 2 ตำบล ได้แก่ ต.งิ้ว น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม ต.แม่ลอย หมู่ที่ 3, 5, 8, 10 
       จ.ตาก นั้นยังคงมีน้ำในแม่น้ำวังเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรใน อ.บ้านตาก ยังคงมีมวลน้ำจากจังหวัดลำปางไหลมาสมทบ ระดับน้ำในพื้นที่ทรงตัว ส่วน จ.แพร่ สถานี Y.1C อ.เมือง จ.แพร่ ระดับน้ำอยู่ที่ 6.71 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 1.49 ม. ปริมาณน้ำ 740 ลบ.ม./วินาที 
      สุโขทัย แม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งฝั่งซ้าย ข้ามทางหลวง หมายเลข 101 หมู่ที่ 4 ต.ปากแคว อ.เมือง ความสูงเฉลี่ย 25 ซ.ม. ส่วนหมู่ที่ 7 ต.ปากแคว อ.เมือง พนังกั้นน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวาขาด น้ำไหลข้ามทางหลวง หมายเลข 1195 และระหว่าง ก.ม. 34+400-35+400 น้ำสูง 20 ซ.ม. ขณะนี้ยังไม่สามารถซ่อมแซมพนังกั้นน้ำได้ 
       ส่วนในเขต อ.ศรีสำโรง น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ หมู่ที่ 4, 5 ต.วัดเกาะ อ.ศรีสำโรง จ.พิจิตร เกิดฝนตกต่อเนื่องใน 4 อำเภอ (ทับคล้อ ดงเจริญ เมือง โพธิ์ประทับช้าง) 7 ตำบล 33 หมู่บ้านราษฎรได้รับผลกระทบ 678 ครัวเรือน 2,157 คน ถนนและท่อลอด 2 แห่ง ถนนลูกรัง 5 แห่ง นาข้าว 715 ไร่ พืชไร่ 10 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขัง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ดงเจริญ อ.เมือง และ อ.โพธิ์ประทับช้าง สถานการณ์มีแนวโน้มลดลง สำหรับ จ.ชัยภูมิ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วน จ.นครสวรรค์ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน


ช่วยถึงที่ - พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ว่าที่ผบ.ตร. และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. เยี่ยมเยียนและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในพื้นที่อ.เมือง จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

ปภ.สรุป 28 จังหวัดประสบภัย
       ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ร่องมรสุมกำลังแรง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 28 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สระแก้ว สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เลย เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี อ่างทอง อุตรดิตถ์ หนองคาย มหาสารคาม พิษณุโลก พะเยา นครราชสีมา พิจิตร ชัยภูมิ น่าน จันทบุรี แพร่ สุโขทัย ตาก และนครสวรรค์ รวม 70 อำเภอ 174 ตำบล 737 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,652 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 10 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 23 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 5 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ สุโขทัย เชียงราย ตาก นครสวรรค์ และพิจิตร
       อธิบดีปภ. กล่าวต่อว่า แนวโน้มสถาน การณ์อุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีปริมาณฝนกระจายร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ปภ.จึงประสานจังหวัดและศูนย์ปภ.เขตในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ลำปาง-ถูกน้ำป่าซัดเจ็บ 1
       สถานการณ์ในจ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านสบป๋อน หมู่ 3 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง โดยระดับน้ำสูง 50 ซ.ม.-1 เมตร และเชี่ยวกราก เบื้องต้นมีบ้านเรือนได้รับความเดือดร้อน 30 หลังคาเรือน ชาวบ้านไม่สามารถขนย้ายข้าวของได้ และยังพบว่ามีราษฎรบ้านขุนแหง หมู่ ต.ปงเตา อ.งาว 4 คน เข้าไปรับจ้างปลูกขิงใกล้กับลำห้วย ถูกน้ำป่าซัด 1 คนโดยขาเข้าไปติดกับท่อลอดเหลี่ยมได้รับบาดเจ็บ ส่วนอีก 3 คนวิ่งหนีทัน โดยเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่กู้ภัย และอบต.เข้าช่วยเหลือและนำตัวส่งร.พ.งาว อย่างปลอดภัย
       จากการสอบถามเจ้าหน้าที่อบต.บ้านร้อง อ.งาว ทราบว่า ในพื้นที่มีฝนตกแต่ไม่หนักมาก แต่จะตกหนักในเขตหุบเขาเหนือหมู่บ้าน ทำให้เกิดปริมาณน้ำสะสมไหลลงลำห้วยสบป๋อน จนเอ่อทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน แต่หลังจากนั้น 1 ช.ม. น้ำก็ลดลงสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ น้ำป่ายังไหลเข้าท่วมบ้านขุนแหง หมู่ 7 ต.ปงเตา อ.งาว 10 หลังคาเรือน เพราะเป็นหมู่บ้านท้ายน้ำเขตติดต่อกับบ้านสบป๋อน ต.บ้านร้อง ซึ่งทางอบต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือ ก่อนแจ้งเตือนราษฎรในพื้นที่เสี่ยงคือต.บ้านแหง ให้เตรียมรับสถานการณ์แล้ว

แม่สายล้างถนนหลังน้ำลด 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา นั้นพบว่าระดับน้ำได้ลดระดับลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ ชาวบ้านและเจ้าของร้านค้าที่ตลาดชายแดนไทย-เมียนมา ทั้งด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของไทยและตลาดท่าล้อ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์ ต่างพากันออกมาเก็บข้าวของที่ตกค้างอยู่ภายในร้าน และฉีดน้ำล้างตลอดทั้งวัน เช่นเดียวกับฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ก็ออกมาทำความสะอาดพื้นที่เช่นกัน 

ห่วงเขื่อนจีนปล่อยน้ำ-เฝ้าระวัง
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไศลยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย นำกำลังเจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หน่วยกู้ภัย นำเครื่องจักรออกมาขุดตักดินโคลนและฉีดพ่นน้ำทำความสะอาดร้านค้า ขณะที่สะพานข้ามลำน้ำสายเชื่อมไทย-เมียนมาร์ ก็เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งสองฝั่งเข้าออกตามปกติ และด้านชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงแสน ซึ่งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย แจ้งว่าจะมีมวลน้ำถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่มณฑลยูนนานตั้งแต่วันที่ 4-10 ก.ย. นี้ เพราะมีฝนตกหนักที่ตอนใต้ของจีนเช่นกันนั้น พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ยังไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่หลายฝ่ายก็ติดตามสถานการณ์ โดยคาดว่ามวลน้ำจะไหลมาถึงฝั่งไทยในช่วงค่ำวันที่ 7 ก.ย. นี้

น้ำยมลด-ตกคลองดับ 1 ราย
        ส่วนระดับน้ำแม่น้ำยมในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมใน ต.วัดเกาะ และ ต.บ้านนา กลับสู่สภาวะปกติ ประชาชนต้องเร่งทำความสะอาดบ้านเรือนและที่พัก โดยสาเหตุที่ระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าฯจ.สุโขทัย สั่งให้เปิดคลองสาขาแม่น้ำยม 54 คลอง เพื่อผันน้ำในแม่ยมเข้าคลอง และยังผันเข้าคลองหกบาท ในสายยม-น่าน จึงทำให้ระดับน้ำที่ท่วมลดลง แต่เนื่องจากตลิ่งได้ถูกกัดเซาะ จึงทำให้มีระดับน้ำในแม่น้ำยมไหลเข้าท่วมอยู่ และน้ำยังขยายวงกว้างเข้าท่วมในหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 14 ต.บ้านกล้วย อ.เมือง โดยเฉพาะหมู่ที่ 5 ประชาชนกว่า 10 ครอบครัว ต้องขนย้ายเสื้อผ้าและทรัพย์สิน มาอาศัยยังที่เนินดินในหมู่ 5 โดยจากสถานการณ์น้ำท่วม มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ชื่อนายพเยาว์ คล้ายยา อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่ 1 ต.บ้านหลุม อ.เมือง ที่เป็นลมแล้วตกคลองตาไทร จึงเป็นรายที่ 2 สำหรับน้ำท่วมสุโขทัยครั้งนี้

อุตรดิตถ์หวั่นน้ำเซาะตลิ่ง
       ผู้สื่อรายงานว่าที่ จ.อุตรดิตถ์ จากที่มีฝนตกทุกวันในพื้นที่ อ.น้ำปาด อ.ฟากท่า อ.บ้านโคก และ อ.เมือง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านสูงขึ้นและไหลกัดเซาะตลิ่งพังลงมา เหตุเกิดในพื้นที่ต.วังกะพี้ อ.เมืองอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะบ้านวังกะพี้ หมู่ที่ 6 น้ำได้ไหลกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งห่างจากแม่น้ำน่าน 10 เมตร พังเป็นแถบและยาวเกือบ 500 เมตร สูงเกือบ 20 เมตร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่าน กว่า 30 ครัวเรือน ต่างหวาดผวา เกรงว่าบ้านของตัวเองจะพัง โดยหลายครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก อยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำเจ้าหน้าที่ออกสำรวจและช่วยเหลือ ขณะที่ชาวบ้าน 4 ครัวเรือน เร่งขนย้ายสิ่งของภายในบ้าน พร้อมรื้อหน้าต่าง ประตู หลังคาบ้าน ไม้ฝา โครงไม้ นำไปสร้างและปลูกในพื้นที่แห่งใหม่ 

อ่างทองตั้งศูนย์รับมือท่วม
       ที่จ.อ่างทอง สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในจ.อ่างทอง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าน้ำจะท่วมหนัก โดยนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าฯจ.อ่างทอง หารือร่วมกับพ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรับมือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจ.อ่างทองมีพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งหมด 205 คลอง ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่จุดเสี่ยง 17 คลอง และพื้นที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน 4 คลอง ขณะเดียวกันได้จัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ป้องกันและและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง ปี 2557" ณ อาคารสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 


(บน)รื้อบ้านหนี - ชาวบ้านต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ กว่า 30 ครัวเรือนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำน่าน พากันรื้อบ้านย้ายหนี หลังตลิ่งถูกน้ำไหลกัดเซาะพังเป็นแนวยาวกว่า 500 เมตร หวั่นบ้านถล่มตามไปด้วย เมื่อ 7 ก.ย. 

(ล่าง)พิษน้ำป่า - บ้านเรือนราษฎรใน อ.เกาะช้าง จ.ตราด ถูกน้ำท่วมจมถนนและสะพานหลายแห่งได้รับความเสียหาย ถูกตัดขาด หลัง ฝนถล่มอย่างหนักมาตลอดทั้งคืน และเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายชุมชน เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

ชาวโผงเผงรื้อบ้านหนีน้ำ
       ที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม ทำให้ระดับน้ำบางพื้นที่ใกล้ถึงตลิ่งแล้ว ประชาชนเตรียมเก็บข้าวของขึ้นที่สูง โดยนางบังอร กุลศิริ วัย 61 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พร้อมด้วยมารดาต้องเร่งรื้อบ้านขนาดเล็กที่สร้างไว้เก็บอาหารและอุปกรณ์เลี้ยงปลากระชังริมคลองโผงเผง คลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา หลังระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว โดยทางเจ้าหน้าที่เตรียมจะสร้างคันกั้นน้ำบริเวณดังกล่าว ทำให้บ้านซึ่งอยู่ติดกับคันกั้นน้ำเก่า อาจจะพังเสียหายหากน้ำล้น 

เตือนบ้านริมเจ้าพระยาเฝ้าระวัง
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน อยู่ที่ 998 ลบ.ม/วินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 11.46 เมตร ขณะที่ระดับน้ำที่ไหลผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดเพิ่มระดับขึ้น โดยระดับน้ำที่สถานีโทรมาตร C7A หน้าศาลากลางจังหวัดอยู่ที่ 4.79 เมตร/รทก.น้ำไหลผ่าน 979 ลบ.ม./วินาที ทางเจ้าหน้าที่ได้ประกาศเตือนให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ชี้น้ำเจ้าพระยา-ป่าสักยังสูง
      ที่อยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดคืนที่ผ่านมาฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเช้า ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี มีปริมาณสูงขึ้น
      นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำด้วยความเร็ว 998 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวันก่อนทำให้น้ำสายหลักต่างๆ ของจังหวัดสูงขึ้น 5-7 ซม. น้ำจากคลองบางหลวง อ.บางบาล และคลองโผงเผง น้ำสูงขึ้นเช่นกัน จากการตรวจสอบเหลืออีก 75 ซ.ม. น้ำจะล้นตลิ่ง ส่วนที่ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำน้อย หลายหมู่บ้านได้รับผลกระทบ 
      พระครูพิบูลรัตนากร เจ้าอาวาสวัดบันไดช้าง ต.หัวเวียง กล่าวว่า น้ำท่วมวัดทุกปี ในปีนี้ทางวัดเตรียมทำเขื่อนและถมดินที่บริเวณหน้าวัดติดริมน้ำ เพื่อสร้างแนวป้องกัน และยังดีดกุฏิวัดให้สูงขึ้น พระสงฆ์ภายในวัดจะได้อยู่กันได้ อีกทั้งยังเป็นที่ให้ญาติโยมที่เดือดร้อน อพยพมาอยู่อาศัยด้วย

'พรหมพิราม'ไม่รุนแรง
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำจากคลองเมมที่ผันน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่า เริ่มไหลเข้าท่วมสนามร.ร.วัดเมมสุวรรณาราม ริมถ.พิษณุโลก-สุโขทัย ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก แต่ไม่รุนแรงเหมือนปี 2554 พร้อมจัดเรือท้องแบนไว้เตรียมเอาไว้ ขณะที่ร.ร.รอประเมินระดับน้ำในเช้าวันพรุ่งนี้ว่าจะหยุดการเรียนหรือไม่ 
      ขณะที่บริเวณทุ่งนาบ้านวังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง รวมถึงเขตติดต่อตำบลบ้านใหม่สุขเกษม อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย น้ำจากคลองเมม ที่ผันน้ำจากแม่น้ำยมจาก อ.สวรรคโลก ไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมทุ่งเป็นวงกว้าง โดยที่นาบริเวณนี้ประมาณ 100,000 ไร่ ในพื้นที่ยินดีให้ชลประทานระบายน้ำเข้า เพื่อเป็นแก้มลิง ชะลอน้ำลงสู่ภาคกลาง 
       นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผอ.ชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า ขณะนี้ทางชลประทานจังหวัดจับตาสถานการณ์น้ำจาก จ.สุโขทัย ที่จะไหลเข้าสู่พิษณุโลก พบว่ามวลน้ำเริ่มไหลเข้าสู่เขต ต.ท่าช้าง ต.วังวน อ.พรหมพิราม แล้วแต่ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นน้ำที่ไม่ได้ไหลมาตามแม่น้ำ แต่เป็นการยกตัวขึ้นตาม ทุ่งนา และพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่ก็ต้องรอดูปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอีกครั้ง 

กรมทรัพย์ตรวจระดับน้ำโขง
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเดินทางไปดูสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่แม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งจากการตรวจสอบจนถึงช่วงเวลา 18.00 น. พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง ณ หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน อยู่ที่ประมาณ 4.65 เมตร ซึ่งอยู่ในระดับปกติ โดยที่เรือสินค้าและเรือโดยสารทั่วไปยังคงแล่นไปมาได้ 
      นายชัยพร กล่าวว่า จากการตรวจค่าเฉลี่ยของระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน พบว่าอยู่ในระดับทรงตัวคือราว 4.60-4.70 เมตร แต่จากการที่เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า ทางการจีนจะเปิดน้ำจากเขื่อนลงมาในปริมาณมาก ดังกล่าว จึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดค่าระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำมีสถานีตรวจวัดน้ำอยู่ 11 สถานี ซึ่งค่าปัจจุบันยังห่างจากระดับที่เป็นอยู่มาก

หยุดระบายน้ำ-ดูสถานการณ์
       ที่จ.นครราชสีมา นายชิตชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า สำหรับฝนที่ตกในพื้นที่จ.นครราชสีมา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะตกท้ายเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพียง 30 ล้านลบ.ม. เท่านั้น ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพียง 4 แสนลบ.ม. 

ท่วมหมู่บ้าน 1 เมตร-ส่งเรือช่วย
       ที่จ.ตราด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่อ.เมือง จ.ตราด ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่หมู่ 2 บ้านหนองบัว ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งน้ำท่วมขังทางเข้าหมู่บ้านบัวเขียว ประชาชนในหมู่บ้าน 50 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตราด ต้องนำเรือไฟเบอร์ 5 ลำ ไปไว้ให้ประชาชนใช้ โดยปริมาณน้ำที่ท่วมมีความสูง 1-1.5 เมตร เป็นระยะทาง 200 เมตร 
        นายฐิตินันท์ อุดมสุข ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตราด กล่าวว่า สืบเนื่องฝนที่ตกหนักมาตั้งแต่บ่ายวันที่ 6 ก.ย. และต่อเนื่องถึงเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เช่น ที่บริเวณถ.สุขุมวิทบริเวณหน้าเมืองมีน้ำท่วมสูง 60-70 ซ.ม. ประสานให้เทศบาลเมืองนำรถมาสูบเพื่อช่วยระบายน้ำ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังไม่พบว่ามีน้ำท่วม แต่น้ำเริ่มไหลเอ่อ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เขาสมิง แต่โชคดีที่ไม่มีน้ำป่าไหลมา ขณะนี้ปภ.ตราดจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมเจ้าหน้าที่ หากได้รับแจ้งเหตุก็จะรีบเข้าพื้นที่ทันที

เกาะกูดน้ำป่าท่วมคลองยายกี๋
       ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ ต.เกาะกูด อ.เกาะกูด หลังเกิดฝนตกหนักมาตลอดทั้งคืน ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้ามาทางคลองยายกี๋ และอีกหลายคลอง 
       นายเดชาธร จันทร์อบ นายก อบต.เกาะกูด กล่าวว่า น้ำป่าที่ไหลหลากมาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบ้านเรือนหรือโรงแรมแต่ประการใด มีเพียงต้นไม้ที่ได้รับความเสียหาย และสะพานที่ถูกกัดเซาะบ้าง ส่วนถนนไม่ได้รับความเสียหาย แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง 

เกาะช้างฝนซัดเสาไฟล้ม
       ส่วนที่ อ.เกาะช้าง มีฝนที่ตกลงมาตลอดทั้งคืน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาลงมาที่บริเวณคลองไก่แบ้ ต.เกาะช้าง น้ำล้นเข้าท่วมถนนและร้านค้าหน้ารร.เดอะชิล ระดับน้ำสูง 30-60 ซ.ม. รถจักรยานยนต์ไม่สามารถไปมาได้ 
       นายพีระ เอี่ยมสุนทร นายอำเภอเกาะช้าง กล่าวว่า ที่ ต.เกาะช้างใต้ ที่บ้านสลักเพชรหมู่ 5 น้ำป่าที่ไหลมา ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้นล้มลงขวางถนน และทับเสาไฟฟ้าทำให้ไฟดับ ส่วนที่ ต.เกาะช้างใต้ บ้านไก่แบ้น้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขา ท่วมบริเวณบ้านไก่แบ้ และถนนระดับน้ำสูง 30-60 ซ.ม. และขณะนี้ยังมีฝนตกและคลื่นลมแรง จึงสั่งห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำที่ชายหาดทุกแห่ง

น้ำป่าไหลท่วม 5 หมู่บ้าน
      ส่วนคืบหน้าน้ำท่วมในอ.เมืองตราด ต.ท่ากุ่ม น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลลงมาเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนใน 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 1, 2, 3, 6, และ 7 โดยเฉพาะหมู่ 3 บ้านท่ากุ่ม ประชาชนกว่า 50 ครัวเรือนไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ เนื่อง จากถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูง 50-80 ซ.ม. ส่วนบ้านเรือน 10 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม ทางอบต.ท่ากุ่ม นำเรือไฟเบอร์ไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะที่หมู่ 7 บ้านคลองขัด น้ำท่วมสะพานและถนนมีความยาวกว่า 200 เมตร ประชาชนไม่สามารถเดินทางออกมาจากพื้นที่ได้ 
      นายทวีป กุมภะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านคลองขัด กล่าวว่า น้ำไหลเข้าท่วมถนนและทางเข้าหมู่บ้านตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงบ่าย ระดับน้ำสูงมากกว่า 1 เมตร ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าออกได้ แต่ในช่วงบ่ายระดับน้ำได้ลดลง แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากยังมีเมฆฝนปกคลุมและอาจจะมีน้ำทะเลหนุนใน ช่วงบ่าย 

วังกระแจะ-ไร่นาเสียหาย
        ด้านนายชูรัตน์ กุมภะ นายก อบต.ท่ากุ่ม กล่าวว่า เดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายใน 4 หมู่บ้าน พบว่ามีบ้านเรือนกว่า 100 หลังคาเรือน ถูกน้ำท่วม มีรถยนต์ 2 คัน ได้รับความเสียหาย เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรถูกน้ำท่วม พื้นที่ทางการเกษตรนับ 1,000 ไร่ โดยเฉพาะต้นยางพารามีน้ำท่วมขัง โดยถนนหลายสายที่เข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วม ประชาชนบางส่วนไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ ทางอบต.ประสานปภ.ตราด นำเรือมาช่วยเหลือประชาชนแล้ว
       ส่วนที่ ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด 3 หมู่บ้าน น้ำยังท่วมอยู่ โดยเฉพาะหมู่ 2 บ้านหนองบัว แม้ระดับน้ำจะเริ่มลดลง แต่ก็ยังมีน้ำท่วมหมู่บ้านซอยบัวเขียวกว่า 50 หลังคาเรือน สูงกว่า 1 เมตร ทางทหารเรือนำเรือท้องแบน มาลำเลียงพี่น้องประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านออกมาแล้ว ส่วนที่โรงแรมสุขุมวิทอินน์ ที่อยู่ในพื้นที่ต่ำท่วมกว่า 1.2 เมตร ทำให้ห้องพักทุกห้องถูกน้ำท่วมทั้งหมด นอกจากนี้ ที่บ้านท้ายวัง ซอยท้ายไร่ น้ำได้ท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 10 หลังคาเรือน มีระดับความสูง 50 ซ.ม. ซอยหน้าการไฟฟ้า จ.ตราด น้ำเริ่มลดระดับลง แต่ยังท่วมถนนทางเข้า และทางเข้าหมู่บ้านกรุงไทย บริเวณสะพานน้ำท่วมสูงกว่า 80 ซ.ม.-1 เมตร 

ชาวนาหัวไผ่เร่งเกี่ยวข้าว
        ที่จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาน การณ์น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้น เริ่มกระทบไปในหลายพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะชาวนาที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำในครั้งนี้ เนื่องจากมีการปล่อยน้ำเข้านา เพื่อระบายน้ำทำให้นาข้าวจมน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น ที่บริเวณกลางทุ่งนาหนองเจ็ดเส้น หมู่ที่ 1 ต.หัวไผ่ อ.เมืองอ่างทอง นายบุญสืบ ชูชีพ อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.หัวไผ่ อ.เมืองอ่างทอง ระดมลูกบ้านเกี่ยวข้าวที่จมน้ำ โดยชาวนาต้องใช้เรือขนข้าวหลังจากเกี่ยวเสร็จ แล้วนำขึ้นมาไว้บนฝั่ง 
      นายบุญสืบ กล่าวว่า น้ำที่เห็นนี้มาจากทางชลประทานที่ปล่อยสะสมมา ประกอบกับน้ำฝนด้วยไหลมาลงที่พื้นนาหนองเจ็ดเส้นที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นน้ำจาก อ.มหาราช จ.พระนคร ศรีอยุธยา จากหนองระหารจีน อ.เมืองอ่างทอง และจากคลองหนึ่งฝา ทำให้นาข้าวของตนกว่า 40 ไร่จมน้ำเป็นจำนวนมาก จึงต้องรีบเกี่ยวข้าวโดยจ้างคนมาเกี่ยว หลังจากเกี่ยวแล้วก็ต้องน้ำมาตากไว้ในร่ม ตอนหน้าแล้งก็แย่เพราะข้าวไม่มีน้ำ พอจะทำนาก็ปล่อยน้ำมาท่วม คิดว่าระบบการจัดการน้ำไม่แน่นอน อยากให้สอบถามชาวบ้านก่อน และก็ขอให้ชะลอน้ำให้ชาวนาได้เก็บเกี่ยวด้วย

ตั้งกองทุนช่วยชาวบ้าน
       ที่ถ.ระหว่างหมู่บ้านโคกใหญ่-โคกคำ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสุพรรณ ภูบุญเติม นายกเทศมนตรีต.บัวบาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ชาวบ้านกว่า 1,000 คน ร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเงินสด โดยมีพระครูอนุกูลปริยัติการ (ดร.) รองเจ้าคณะอำเภอยางตลาด นำพระภิกษุ-สามเณร 100 รูปรับบิณฑบาต
       นายสุพรรณ ภูบุญเติม นายกเทศมนตรีบัวบาน กล่าวว่า กิจกรรมถนนสายบุญที่จัดขึ้นครั้งนี้ มุ่งให้ประชาชนเป็นคนดี โดยทำบุญตักบาตร ลดใช้สารเคมีในการเกษตร โดยพื้นที่บัวบาน เป็นที่ราบลุ่มมีกว่า 10 หมู่บ้านที่อยู่ติดกับลำปาวที่อดีตเคยประสบปัญหาน้ำท่วม เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงฤดูน้ำหลากปีนี้ จึงจัดกิจกรรมถนนสายบุญ เพื่อนำเงินสด สิ่งของเครื่องใช้ที่ได้จากการทำบุญ ตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือชาวบ้าน และผู้ประสบภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล 

บิ๊กตู่สั่งทหาร-ปภ.ช่วยเหยื่อท่วม
      พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผบ.ทบ. สั่งการให้ทหารทุกหน่วย ประสานการช่วยเหลือกับทางจังหวัดและปภ. เน้นการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รีบขนย้ายคนและสิ่งของหนีน้ำไว้ก่อน พร้อมกำชับ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ดูแลประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมให้ปลอดภัย รวมทั้งการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ เพื่อเปิดทางน้ำ 
      พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในจ.สุโขทัย ปัจจุบันระดับในแม่น้ำยมทุกจุด ลดลง 20-30 ซ.ม. การไหลล้นตลิ่งของน้ำในจุดวิกฤต ลดลง ประชาชนเดินทางเข้าออกพื้นที่ได้ โดยกองทัพภาคที่ 3 จัดกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 4 จำนวน 4 กองร้อยช่วยเหลือประชาชน เสริมด้วยนักศึกษาวิชาทหาร เข้าช่วยขนย้ายสิ่งของ ทำพนังกั้นน้ำและบริการทางการแพทย์ใน อ.เมือง อ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก โดยที่ อ.เมือง กำลังทหาร 150 นาย บรรจุและวางกระสอบทรายเพื่อชะลอน้ำ และหยุดการไหลของน้ำในพื้นที่หมู่ 7 ต.ปากแคว พร้อมใช้ เฮลิคอปเตอร์บินส่งของช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวในบางจุดที่เรือไม่สามารถเข้าถึงได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!