WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8691 ข่าวสดรายวัน


ต้านเขื่อน สะเอียบฝาก'บิ๊กตู่'
วอนหยุดผลักดันแก่งเสือเต้น เหตุต้องโค่นป่า 11 จว.-4 หมื่นไร่'บิ๊กป๊อก'ลุยตรวจน้ำเจ้าพระยา


เสือเต้น - นายสมมิ่ง เหมืองร้อง และแกนนำชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ อ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาล เรียกร้องให้หยุดบริหารจัดการให้น้ำท่วมโชว์สื่อ และยุติการผลักดันเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น เมื่อวันที่ 13 ก.ย.

      ชาวสะเอียบฝาก "บิ๊กตู่" ไม่เอาเขื่อนลุ่มน้ำยม-แก่งเสือเต้น พร้อมออกแถลงการณ์ ชี้น้ำท่วมสุโขทัยเป็นการสร้างสถานการณ์โชว์สื่อ วอนรับฟังเสียงประชาชนลุ่มน้ำยม เหตุป่า 30,000-40,000 ไร่จะถูกทำลาย ขณะที่สุโขทัยเร่งซ่อมพนังแตก แม่ฮ่องสอนสั่งจับตาน้ำป่าหลากซัด น้ำมูนล้นตลิ่ง-จม "พิมาย" ซ้ำ "บิ๊กป๊อก" ลุยตรวจเขื่อนเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน เล็งใช้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย รมว.เกษตรฯตรวจแผนจัดการน้ำกรุงเก่า

สุโขทัยเร่งซ่อมพนังแตก

     เมื่อวันที่ 13 ก.ย. สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมและมาตรการรับมือในต่างจังหวัด นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผวจ.สุโขทัย สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมริมตลิ่งแม่น้ำยม หมู่ 7 ต.ปากแคว อ.เมืองสุโขทัย หลังถูกกระแสแม่น้ำยมกัดเซาะจนขาด เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา และหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ แต่ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเริ่มลดลง เจ้าหน้าที่จึงซ่อมแซมด้วยการใช้ดินเสริมจุดที่ถูกกระแสแม่น้ำยมกัดเซาะจนขาด และอัดพนังดินให้แน่น เบื้องต้นคาดใช้เวลาดำเนินการ 15 วัน 

       ส่วนความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ทำให้ประชาชนในต.ปากแคว รวม 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1, 2, 4, 6 และหมู่ 7 มีชาวบ้านเดือดร้อน 450 ครอบครัว บ้านเรือนของประชาชนเสียหายพังทั้งหลัง 4 หลัง เสียหายบางส่วน 17 หลัง โรงเก็บยาสูบพังทั้งหลัง 4 หลัง พื้นที่ทางการเกษตรอยู่ในระหว่างการสำรวจ และในครั้งนี้มีทรัพย์สินของประชาชนเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก

ไร่นาพิจิตรเละ 2 พันไร่

      ที่จ.พิจิตร นายสมยศ แสงมณี ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดพิจิตร เผยว่า สถานการณ์แม่น้ำยมที่ไหลผ่านอ.สามง่าม และอ.โพธิ์ ประทับช้าง ได้เอ่อล้นตลิ่งและไหลท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร แต่วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง หลังพบน้ำจากจ.สุโขทัย บางส่วนได้ไหลหลากไปตามทุ่งนาและพื้นที่แก้มลิง รวมทั้งเร่งระบายน้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ตลอดจนปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือลดลงต่อเนื่อง 

      สรุปสถานการณ์น้ำท่วมทั้งน้ำป่าไหลหลากและแม่น้ำยมล้นตลิ่งรวม 5 อำเภอ 11 ตำบล 65 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 1,500 ครัวเรือน พืชผลการเกษตรเสียหาย 2,884 ไร่ 

สะเอียบฮือต้านเขื่อนลุ่มน้ำยม

       ที่จ.แพร่ นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำชาวบ้านต.สะเอียบ อ.สอง อ่านแถลงการณ์ต่อต้านการสร้างเขื่อนลุ่มน้ำยม หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำท่วมใน จ.สุโขทัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงผลักดันสร้างเขื่อนลุ่มน้ำยมว่า ชาวบ้านขอเรียกร้องให้หยุดสร้างสถานการณ์บริหารน้ำท่วมในจ.สุโขทัย โชว์สื่อ และโปรดรับฟังเสียงประชาชนลุ่มน้ำยม เพราะเหตุน้ำท่วมจ.สุโขทัย ผิดปกติไปจากทุกปี เนื่องจากปริมาณน้ำไม่มาก แต่กลับสร้างสถานการณ์บริหารจัดการให้น้ำท่วมโชว์สื่อ เพื่อให้เกิดกระแสเรียกร้องสร้างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่างหรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่แม่น้ำยมมีเขื่อนบ้านหาดสะพานจันทร์ กั้นลำน้ำยมที่อ.สวรรคโลก ก่อนถึงจ.สุโขทัย ซึ่งสามารถกั้นน้ำและผันเข้าคลองหกบาท โดยทำให้น้ำไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยน้อยลง แต่การบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับปล่อยให้ปริมาณน้ำเกิน น้ำจึงล้นพนังกั้นน้ำ

       นายสมมิ่ง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ฝาย แม่ยม อ.สอง สามารถผันน้ำเข้าคลองชลประทานขนาดใหญ่ฝั่งซ้ายได้ถึง 77 ก.ม. และคลองชลประทานขนาดใหญ่ฝั่งขวาอีก 64 ก.ม. อีกทั้งยังมีคลองชลประทานขนาดเล็ก (คลองไส้ไก่) อีกกว่า 200 ก.ม. หากผันน้ำเข้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ปริมาณน้ำที่ไหลไปยังจ.สุโขทัย คงจะไม่มากอย่างที่เกิดขึ้น


คลองถนน - สภาพถนนในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ถูกน้ำท่วมสูงหลังเกิดพายุฝนกระหน่ำนานกว่า 1 ชั่วโมง โดยเทศบาลไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน โดยเฉพาะถนนคนเดิน หรือตลาดเซราะกราว แม่ค้าเก็บของกันแทบไม่ทัน เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 13 ก.ย.

       "กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ ขอแสดงความเสียใจกับเหตุน้ำท่วมสุโขทัย และขอให้กำลังใจกับผู้ประสบภัย ที่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำให้ท่วมโชว์สื่อ เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการเรียกร้องเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น" นายสมมิ่งกล่าว

จี้ยุติผลักดันสร้างเขื่อน

      นายสมมิ่ง กล่าวอีกว่า หน่วยงานบางแห่งจัดฉากพานายกฯ ลงพื้นที่ เพื่อสร้างกระแสปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่างขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่ในวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีรับฟังเสียงประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ที่จ.พิษณุโลก ในส่วนของลุ่มน้ำยมได้มีข้อสรุปชัดเจนว่าเสียงประชาชนลุ่มน้ำยม ได้เสนอการพัฒนาระบบเหมืองฝาย และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วแม่น้ำยม รวมทั้งเร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นประเด็นสำคัญ แต่หากบางหน่วยงานยังผลักดันเขื่อนอยู่อีก ถือเป็นการสวนกระแสเสียงประชาชนลุ่มน้ำยมทั้ง 11 จังหวัด อันก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาอย่างแน่นอน เพราะป่าที่มีอยู่ 30,000-40,000 ไร่จะถูกทำลาย ชุมชนก็จะไม่เป็นสุข กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าจึงขอให้หน่วยงานต่างๆ ยุติการผลักดันเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยให้หันมาใช้แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง

       นายสมมิ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานยุติการผลักดันเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่างและ เขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งขอเรียกร้องให้กรมชลประทานคืนงบประมาณผูกพันในการศึกษาเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้นให้กับแผ่นดิน โดยกลุ่มราษฎรรักษ์ป่าจะยื่นหนังสือถึงกรมบัญชีกลางและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อเร่งรัดให้กรมชล ประทานคืนงบประมาณผูกพันให้กับแผ่นดินโดยด่วน

พะเยาทำอ่างเก็บน้ำ-แก้มลิง

     ที่จ.พะเยา นางกัญญาณัฐ ศรีใจ รองนายกเทศมนตรีตำบลงิม อ.ปง กล่าวว่า หลังเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่จากน้ำป่าไหลหลากเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสียหายกับรางระบายน้ำ ลำเหมืองและตลิ่งข้างลำน้ำในพื้นที่ทั้ง 10 หมู่บ้านอย่างมาก เทศมนตรีตำบลงิมจึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมขอความร่วมมือจากชาวบ้านช่วยกันซ่อมแซมลำเหมืองที่ถูกน้ำกัดเซาะ เพื่อให้พร้อมรับและระบายน้ำได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีดินโคลนมาทับถม ทำให้เกิดความตื้นเขินอย่างมาก

นางกัญญาณัฐกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้คือ การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขึ้นในลุ่มน้ำงิมหรือแม่น้ำสาขา แต่ต้องเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กเท่านั้น เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก หรือแก้มลิง จำนวน 2-3 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำไม่ให้มีภัยแล้งและไม่ให้น้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้ต้องดูแลป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์ เพื่อดูดซับและชะลอความเร็วของน้ำด้วย

สามหมอกสั่งจับตาน้ำป่า

      ที่จ.แม่ฮ่องสอน นายเพิ่มวิทยา กันทะทรง ปภ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า รับแจ้งเหตุมีถนนถูกน้ำป่าพัดเอาเศษหินดินทรายมาปิดทับเส้นทาง บริเวณบ้านรักไทย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณก่อนถึงบ้านทบศอก ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จึงประสานงานไปยังแขวงการทางจังหวัด เพื่อนำรถแบ๊กโฮเปิดเส้นทาง ก่อนใช้ได้ตามปกติ

      นายเพิ่มวิทยา กล่าวต่อว่า ขอแจ้งเตือนไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่บนเทือกเขา โดย เฉพาะต.หมอกจำแป่ บริเวณบ้านรักไทย บ้านรวมไทย (ปางอุ๋ง) บ้านทบศอกและหมู่บ้านที่อยู่ติดกับลำน้ำแม่สะงี ต.หมอกจำแป่ และลำน้ำแม่สะงา ในต.ห้วยผา ให้ระมัดระวังน้ำป่าไหลหลากช่วง 1-2 วัน และให้ย้ายสิ่งของมีค่าไว้ที่สูงด้วย 

น้ำมูนล้นอีก-จมพิมาย

       ที่จ.นครราชสีมา หลังปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของจ.นครราชสีมา ไหลไปสมทบที่ลำน้ำมูน อ.พิมาย ส่งผลให้ลำน้ำมูนมีระดับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนที่อาศัยติดกับลำน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ บริเวณบ้านสระเพลง หมู่ 2 เขตเทศบาลตำบลพิมาย อ.พิมาย โดยระดับน้ำท่วมขังสูงกว่า 40 ซ.ม. ทำให้ประชาชนต้องเร่งขนย้ายทรัพย์สินภายในบ้านกันอย่างอลหม่าน

       ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ (เขื่อนระบายน้ำพิมาย) เจ้าหน้าที่ยังคงเปิดประตูระบายน้ำที่ระบายลงสู่คลองส่งน้ำธรรมชาติทั้ง 6 บาน เต็มพิกัด เพื่อเร่งระบายปริมาณน้ำจำนวนมากให้ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำโดยเร็ว หลังจากปริมาณน้ำภายในลำน้ำมูลมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในพื้นที่ต่ำบางจุดเริ่มมีระดับที่ไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน พร้อมทั้งยังเปิดประตูระบายลงสู่คลองส่งน้ำชลประทานและลำน้ำเค็ม รวม 5 บาน ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนระบายน้ำพิมายเฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 ล้านลบ.ม.ต่อวัน

พิษฝนถล่มจมเมืองบุรีรัมย์

       ที่จ.บุรีรัมย์ เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องนาน 1 ช.ม. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังถนนหลายสายในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ โดยเฉพาะถนนจิระ บริเวณหน้าสภ.เมืองบุรีรัมย์ ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ช.ม. ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ รวมทั้งยังมีถนนธานี ถนนสุนทรเทพ ถนนรมย์บุรี ถนนแสนสุข ถนนอินจันทร์ณรงค์ ถนนสุคนธมัต ถนนพิทักษ์และถนนปลัดเมือง บางช่วงรถจอดติดยาวเหยียด แถมน้ำยังทะลักเข้าบ้านและร้านค้าที่อยู่ติดถนนได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ น้ำยังท่วมขังถนนคนเดิน "เซราะกราว วอล์คกิ้ง สตรีท" สูงกว่า 30 ซ.ม. จนทำให้พ่อค้าแม่ค้ากว่า 200 แห่ง ไม่สามารถวางขายสินค้าได้

        ด้านนายบุญส่ง สุทธิโคตร ผอ.กองช่วงสุขาภิบาล สำนักงานเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมขัง เนื่องจากท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก ประกอบกับมีสิ่งปฏิกูลอุดตัน จึงทำให้น้ำไหลได้ไม่สะดวก แต่คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ

"บิ๊กป๊อก"ตรวจเขื่อนเจ้าพระยา

       ที่จ.ชัยนาท พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าฯ 19 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา โดยประชุมวางแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงบูรณาการครอบคลุม ทั้งมิติการบริหารจัดการน้ำและมิติการดูแลประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงใช้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเป็นช่องทางประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนให้ชี้แจงข้อมูลสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่

        ทั้งนี้ จากการรายงานสถานการณ์น้ำทราบว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ถือเป็นปกติของสถานการณ์น้ำในช่วงเดือนก.ย.ของทุกปี โดยเป็นลักษณะของน้ำหลากลงสู่พื้นที่ลุ่มตอนล่างของประเทศ รวมถึงปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตราปกติ การระบายน้ำจะส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อีกทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรับมือ บริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเชิงรุกครอบคลุมทุกมิติ โดยระยะเร่งด่วนให้กำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ ควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำร่วมกันดูแลรักษาสภาพ คูคลอง ลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้มีความคล่องตัว ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

       สำหรับ การเตรียมพร้อมรับมือ ให้มุ่งเน้นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการระบายน้ำอย่างเหมาะสม เชื่อมโยงกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ คำนึงถึงการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ส่วนการปฏิบัติการให้สนธิกำลังทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายพลเรือนและหน่วยทหารภายใต้การบัญชาการของผู้ว่าฯ

ปภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัย

       ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปภ.ได้ประสานให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นศูนย์กลางในการเตรียมการป้องกัน แก้ไขปัญหาและประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สำหรับจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานให้เร่งสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพเดิมและช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ 

รมว.เกษตรฯตรวจแผนจัดการน้ำ

    ที่จ.พระนครศรีอยุธยา นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวง นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูรณ์ รองปลัดกระทรวง นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมคณะลงพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล สำนักชลประทานที่ 10 อ.บางบาล เพื่อติดตามโครงการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตร เป็นพื้นที่รับน้ำนอง เพื่อการบรรเทาอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแนวพระราชดำริ "แก้มลิงพื้นที่บางบาล 1" จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่แก้มลิง บริเวณวัดใหม่กบเจา ต.กบเจา อ.บางบาล และเดินทางไปตรวจสภาพพื้นที่น้ำท่วมบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา 

       นายปีติพงศ์ กล่าวว่า โครงการแก้มลิงพื้นที่บางบาล 1 เป็นโครงการนำร่องในการบริหารจัดการและพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการบรรเทาอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ด้วยการเก็บกักน้ำหลากไว้ในพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะบริหารจัดการพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในลักษณะแก้มลิงบางบาลอีก 8 แห่ง สำหรับพื้นที่แก้มลิงแห่งนี้มีพื้นที่ 27,450 ไร่ ปลูกข้าว 2 ครั้ง เท่าที่รับฟังการรายงาน ขณะนี้เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ หากน้ำหลากจำนวนมากจะสามารถรับน้ำได้เต็มทุ่ง หลังจากนี้รัฐบาลจะจัดทำแผน 3 อย่างคือ 1.เร่งรัดจัดทำโครงการเตือนภัย เกี่ยวกับน้ำท่วมและภัยแล้ง 2.ปรับการทำแผนในการสร้างอาชีพใหม่ 3.ปรับโครงสร้างจากการทำนา เป็นการปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน ลักษณะแบบผสมประสาน เพราะการปลูกข้าว 

      นายปีติพงศ์ กล่าวต่อว่า จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาทราบว่าจะมีพายุเข้ามาอีก 1 ลูก หากฝนตกเหนือเขื่อนจะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ยังมีไม่มากสามารถรับน้ำได้ หากตกท้ายเขื่อนประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนบ้าง จึงประสานทางจังหวัดให้ช่วยเหลือและแจ้งเตือนภัยตลอดเวลา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!