WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

3105 แก่งหางแมวสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง แท็งก์น้ำของอีอีซี
‘แก่งหางแมว โมเดล’ การจัดการน้ำที่มาจากประชาชน

โดย ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ

 

          ท่ามกลางวิกฤตภัยแล้งปีนี้ที่มาเร็วและรุนแรง กระทั่งหลายๆ ฝ่ายวิตกว่าจะเกิดสงครามแย่งน้ำเช่นในปี 2548 ไม่เพียงการเร่งรัดงบประมาณในการดำเนินการตามแผนจัดการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วประเทศ กระบวนการสร้างความเข้าใจเป็นอีกกลไกสำคัญเพื่อลดความขัดแย้ง

          โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี พื้นที่ที่เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำหลักของภูมิภาคตะวันออก ล่าสุดมีการลงนามความร่วมมือแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ โดยจะผันน้ำในปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการเฉพาะกิจ เริ่มในเดือนมีนาคม 2563 จากเดิมวันละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 648,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเสริมความมั่นคงเรื่องน้ำในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

          การที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มาก มีการใช้น้ำในปริมาณมหาศาล โดยมีระยะเวลาของโครงการพัฒนายาวนานถึง 20 ปี (พ.ศ.2560-2580) และฐานทรัพยากรน้ำส่วนหนึ่งนั้นจะดึงไปจากพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำของอำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ผ่านโครงการอ่างเก็บน้ำและระบบท่อส่งน้ำที่กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ในพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งกำหนดไว้ในหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2560-2580 โดยจะมีอ่างเก็บน้ำรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. อ่างเก็บน้ำประแกด ตำบลพวา ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำแล้ว 2 ปี มีขนาดความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. 2. อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ 2 ที่บ้านบ่อชะอม ตำบลพวา ขนาดความจุ 68.1 ล้าน ลบ.ม. 3. อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ตำบลขุนซ่อง ขนาดความจุ 80.7 ล้าน ลบ.ม. และ 4. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด บ้านวังสัมพันธ์ ตำบลขุนซ่อง มีขนาดความจุใหญ่ที่สุด คือ 99.5 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการทำ EHIA เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างตั้งอยู่ทางเชื่อมผืนป่า ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 7,000 ไร่

3105 ดร สมนึก          “จะเห็นว่าบริเวณที่จะทำการก่อสร้างอ่างที่ 4 (คลองวังโตนด) และอ่างเก็บน้ำที่กำลังก่อสร้างอีก 3 แห่ง รวมทั้งระบบชลประทานตอนกลาง ตอนล่าง ท่อส่งน้ำ และสถานีสูบน้ำที่เกี่ยวข้องกับอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ จะทำให้พื้นที่ป่าและพื้นที่ของเกษตรกรรมหายไปรวม 268,000 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำและรองรับน้ำหลาก จนเกิดปัญหาว่าคนในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมวถูกแย่งน้ำ”

          ดร.สมนึก จงมีวศิน ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การป้องกันและจัดการความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ มีขึ้นเพื่อหาแนวทางลดความขัดแย้ง และสร้างความเป็นธรรมในการใช้น้ำกับผู้ที่อยู่ต้นน้ำหรือผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน

          เช่น ผลจากการประชุมหารือกับ 4 ตำบล ในอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 ที่เกิดเป็นข้อเรียกร้องไปยังคณะกรรมการอีอีซี คือ 1. ขอให้รัฐบาลออกมาตรการที่ชัดเจนในการปกป้องผืนป่าตะวันออก ซึ่งเป็นป่าใหญ่ผืนสุดท้าย และเป็นต้นน้ำที่สำคัญของทั้ง 8 จังหวัดในภาคตะวันออก 2. ในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับโครงการอีอีซี โดยกรมชลประทานกำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งซึ่งมีความจุรวมกัน 308 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น กรมชลประทานจะต้องสร้างระบบกระจายน้ำและแบ่งปันน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ก่อน อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนน้ำที่เหลือสามารถนำไปพัฒนาประเทศในส่วนอื่นได้

3105 วิรุฬ          “ผมเห็นด้วยกับกระบวนการวิจัยนี้ และเชื่อว่าถ้ารัฐบาลรับฟัง จะเกิดเป็นรูปธรรม ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม”

          เป็นความเห็นจาก นายพิรุฬห์ เชื้อแขก คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาวังโตนด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการประเด็น “การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ตำบลคลองโพล้ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง เพื่อใช้ในการถอดบทเรียนและแสวงหาทางออกในการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างเพียงพอและยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านวังอีแอ่น ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี

          “ประเด็นคือ ท่อผันน้ำจากสถานีสูบน้ำวังประดู่ไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ดำเนินการแน่นอน ระยะทางประมาณ 45 กม. คนพวาได้แต่นั่งมองน้ำ แต่ยังไม่ได้ใช้น้ำ เราเป็นห่วงว่าถ้าเราไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ออกมาบอกให้หน่วยงานไปช่วยเราขับเคลื่อนมันจะเงียบเหมือนหลายๆ อ่างที่สร้างแล้วไม่ได้ใช้น้ำ”

          ขณะที่ตัวแทนจากตำบลท่าใหม่ นางอินทิรา มานะกุล แลกเปลี่ยนทัศนะในฐานะที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมานานว่า เมื่อครั้งที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ชาวบ้านท่าใหม่เล่าให้ฟังว่า น้ำเค็มเคยรุกถึงตำบลรำพัน ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ทำนา เพราะระบบน้ำจืดลงไปไม่ถึง ฉะนั้น สำหรับท่าใหม่ ทีมศึกษาต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าอ่างเก็บน้ำวังโตนดเสร็จ เราจะต้องมีน้ำมากสักแค่ไหนจึงจะพอแก่การรักษาระบบนิเวศ เพราะวันนี้น้ำเค็มมากกว่าน้ำจืด ที่ผ่านมาเรามองจากประสบการณ์ จากการคาดคะเน ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง

          “วันนี้เรามีแหล่งน้ำที่เสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ 4 เส้น แต่ร่างกายเราไม่สามารถเดินได้ด้วยเส้นเลือดใหญ่อย่างเดียว ต้องมีเส้นเลือดฝอย ซึ่งไม่มีใครรู้ดีเท่าเราซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เราทำที่นี่ก่อนเพราะที่นี่เป็นเส้นเลือดใหญ่สุดของคนเมืองจันท์ ถ้าที่นี่ลงตัวเรียบร้อย มีทั้งคน ทั้งข้อมูล มีระบบการกระจายน้ำ พื้นที่ที่ 2 ก็คือ ลุ่มน้ำจันทบุรี ซึ่งต้องส่งต่อกันได้ เชื่อมโยงกันได้”

          ทางด้านประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด ผศ.เจริญ ปิยารมย์ เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ขับเคลื่อนเรื่องน้ำ จนเกิดฝายกันน้ำเค็ม เกิดท่อน้ำดิบ ระยะทาง 68 กม. กันน้ำเค็มรุกและกักเก็บน้ำจืด เมื่อปี 2525 ว่า ในลุ่มน้ำวังโตนดมีคณะทำงาน 2 คณะ “กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองวังโตนด” จดทะเบียนกับกรมชลประทาน และ “คณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด” อีกคณะ แต่งตั้งโดยกรมทรัพยากรน้ำ การทำงานของคณะทำงานจะประกอบด้วยสมาชิกจาก 3 อำเภอ ทำงานเชื่อมร้อยตั้งแต่ต้นน้ำ คือ แก่งหางแมว นายายอามและท่าใหม่ซึ่งอยู่ปลายน้ำ แต่หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารลุ่มน้ำวังโตนดขึ้นไม่ว่าจะเป็นแต่งตั้งโดยหน่วยงานใดจะเป็นสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือกรมชลประทานก็ดี กลุ่มคณะทำงานทั้ง 2 กลุ่มที่ตั้งขึ้นก่อนหน้าจะหายไป ถือเป็นการส่งไม้ต่อ เพราะในลุ่มน้ำเดียวกันเราจะไม่แบ่งบริหารเป็นตอนๆ แต่ต้องทำงานร่วมกัน

          “เพราะทุกคนคือ เจ้าของน้ำ ดังนั้นการดำเนินงานของเราจึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการไม่นิ่งนอนใจ รอคอยแต่การช่วยเหลือจากรัฐ เราต้องลุกขึ้นมาจัดการน้ำช่วยเหลือกันด้วยตนเอง แต่อย่างมองว่า น้ำเป็นของเรา ให้มองว่า น้ำเป็นสาธารณะ เมื่อถึงยามยาก เราต้องแบ่งปันเพื่อช่วยกัน ไม่เฉพาะในพื้นที่เราแต่ต้องเชื่อมไปถึงพื้นที่ EEC ตามแผนการพัฒนาประเทศที่ถูกวางไว้ตามนโยบายรัฐบาล” ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนดบอกอีกว่า

          “น้ำที่สำคัญที่สุดคือ “น้ำใจ” ณ วันนี้เรายังมีน้ำ เราควรจะช่วยเหลือเจือจานกัน น้ำใจที่เรามีต่อกันจะทำให้การพูดกันระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปด้วยกันได้ดี ไม่มีความขัดแย้ง”

          ดร.สมนึก กล่าวว่า ในฐานะตนเองที่เป็นวิศวกร งานวิจัยในโครงการนี้ได้นำความคิดทางวิศวกรรมมาปรับใช้กับภาคสังคม เพื่อหาทางออกให้ประชาชน เพราะอ่างเก็บน้ำเมื่อสร้างขึ้นแล้วย่อมต้องมีสิ่งทดแทนให้กับคนในพื้นที่ จึงเริ่มจากการออกแบบระบบกระจายน้ำ

          “ปัจจุบันมีการออกแบบไปได้ 2 ตำบล คือ ตำบลพวา กับ ตำบลสามพี่น้อง อย่างอ่างคลองประแกดจะมีการตั้งปั๊มน้ำแล้วเดินท่อกระจายน้ำไปกลุ่มผู้ใช้ นั่นคือ แม้ว่าน้ำจะอยู่ในระดับต่ำสุดก็ยังสามารถสูบน้ำได้ โดยในช่วงแรกทางเทศบาลช่วยในส่วนของค่าน้ำมัน หลังๆ เราใช้การติดโซลาร์เซลล์ โดยท่อนี้จะวิ่งไปตามหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน เหล่านี้ประชาชนเป็นคนคิด ผมขับเคลื่อนในเชิงวิชาการ เพื่อลดความขัดแย้ง”

          ดร.สมนึก ยังบอกอีกว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในเบื้องต้นเพื่อนำข้อเสนอแนะมาจัดทำเป็น “แก่งหางแมว โมเดล” ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริงจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่เสี่ยงเกิดความขัดแย้งอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำที่เป็นธรรม และให้เห็นว่าการจัดการน้ำมาจากประชาชนได้

 


AO3105

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!