WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

head

'พรบ. งาช้าง' มีผลบังคับใช้ เตือนขึ้นทะเบียนด่วนใน 90 วัน

      อส.ประกาศ พรบ. งาช้าง มีผลบังคับใช้แล้ว เตือนผู้มีงาช้างบ้าน หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างบ้านไว้ในครอบครอง ต้องแจ้งภายใน 90 วัน (22 ม.ค. - 21 เม.ย. 58) ขณะที่ผู้ค้างาช้างบ้าน ต้องมาขอใบอนุญาตก่อนดำเนินการ ฝ่าฝืนมีโทษหนัก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ย้ำ 'งาช้างแอฟริกา'ผิดกฎหมาย ห้ามมีไว้ในครอบครอง และค้าขายเด็ดขาด เตรียมออกปฏิบัติการตรวจสอบปราบปรามเข้มข้นทั่วประเทศ

      นายนิพนธ์ โชติบาล ออส. เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย โดย ครม. ได้มีมติให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉ.แก้ไข เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 เพื่อสกัดกั้นขบวนการค้างาช้างแอฟริกาข้ามชาติผิดกฎหมาย และกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการครอบครองและการค้างาช้างในประเทศไทยตามคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) หากประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม อาจถูกคว่ำบาตรทางการค้า CITES  เช่น ผลิตภัณฑ์หนังจระเข้ กล้วยไม้ กิ้งก่า หนังงู และนกแก้ว เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยกว่า 47,000 ล้านบาท

     สำหรับ แผนปฏิบัติการงาช้างดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการตรวจสอบ จับกุม ปรามปราม และควบคุมการครอบครองและค้างาช้างในประเทศไทย โดยเฉพาะการตราและแก้ไขกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ

      1. การตรา พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉ. 3) พ.ศ. 2557 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 57 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 57

      2. การตรา พรบ.งาช้าง พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 58 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 58 ซึ่งแผนฯ ดังกล่าว จะส่งผลให้

      1. การครอบครองและค้างาช้างบ้าน และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างบ้าน จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด

      2. กรณีที่พบว่า มีการครอบครอง และค้างาช้างแอฟริกาที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายถือเป็นความผิดทันที

      3. การตรวจพิสูจน์ชนิดงาช้าง สามารถทำได้โดยการตรวจ DNA โดยภาระดังกล่าวเป็นของผู้ครอบครองและผู้ค้า

     ทั้งนี้ อส. ได้เปิดให้ประชาชนที่ครอบครองงาช้างบ้าน และผลิตภัณฑ์จากงาช้างบ้าน รวมทั้งผู้ค้างาช้างบ้าน มาจดทะเบียนการครอบครอง และขออนุญาตค้างาช้างบ้าน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

 1. ผู้มีงาช้างบ้าน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างบ้านไว้ในครอบครอง ต้องแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท

 

     กทม. สามารถแจ้งการครอบครองได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

     สำหรับท้องที่ต่างจังหวัด สามารถแจ้งการครอบครองได้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และสาขา

ภายในวันที่ 21 เม.ย. 58 หรือสามารถแจ้งได้ทางไปรษณีย์ที่ ตู้ ปณ. 555 ปณศ.จตุจักร กทม. 10900 โดยใช้แบบแจ้งการครอบครองที่ อส. กำหนด

สามารถดาวน์โหลดแบบแจ้งได้ที่ WWW.DNP.GO.TH

ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 09 8950 5436, 08 8206 1223, 09 9563 6658

โทร./โทรสาร 0 2579 4621, 0 2561 4838 ในวันและเวลาราชการ หรือโทรสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 2. ผู้ประสงค์ค้างาช้าง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 3. การนำเข้า-ส่งออกงาช้างบ้าน ต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เช่นเดียวกับผู้ประสงค์ค้างาช้างบ้าน

      นายนิพนธ์ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากการบังคับใช้กฎหมายหลักทั้ง 2 ฉบับแล้ว ยังได้ดำเนินการออกกฎหมายลำดับรอง รวม 17 ฉบับ เช่น ประกาศกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อสกัดการค้างาช้างข้ามชาติ และการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการสัตว์พาหนะ โดยกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดตั๋วรูปพรรณช้างแบบใหม่ และเพิ่มข้อมูลวิทยาศาสตร์ เช่น ข้อมูลDNA หมายเลขไมโครชิพ เพื่อป้องกันการสวมทะเบียนช้าง หรือนำงาช้างจากต่างประเทศมาขายโดยอ้างเป็นงาช้างบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายทั้งหมด จะทำให้สามารถควบคุมการค้างาช้างบ้าน และปราบปรามการลักลอบค้างาช้างแอฟริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมากฎมายที่ใช้อยู่เดิม ควบคุมได้เฉพาะการนำเข้าและส่งออกเท่านั้น แต่กฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้วนี้ สามารถควบคุมการค้าและการครอบครองทั้งงาช้างบ้านและงาช้างแอฟริกาได้ทั้งระบบ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ถูกคว่ำบาตรทางการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย
IMG_6755
2
3
4
5

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!