WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ม.44 ปราบรุกป่า-ที่รัฐ บิ๊กตู่ใช้อีก ออกคำสั่ง-ให้ทหารลุย เล็งรื้อสนามแข่งรถ-บ้าน โบนันซ่า 103 ไร่ทับพื้นที่ เจ้าของต้องแจงใน 15 วัน สปก.จ่อฟ้องค่าเสียหาย บิ๊กหนุ่ยแฉนายทุนวิ่งขอ

     มติชนออนไลน์ :  กรมป่าไม้สรุปโบนันซ่ารุกป่าสงวนฯ-ส.ป.ก. 103 ไร่ สั่งรื้อสนามแข่ง-บ้านพัก 16 หลัง ส.ป.ก.เล็งฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่ม ลุยตรวจถือครอง 35 ล้านไร่ สำนักอุทยานฯชี้เกาะหลีเป๊ะรีสอร์ต-ร้านค้าอื้อ เหลือพื้นที่ครึ่งเกาะ

    ความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบโครงการโบนันซ่า รีสอร์ต เขาใหญ่ บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า เขานกยูง เขาอ่างหิน ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นำมาสร้างสนามแข่งรถ และสร้างบ้านพักในพื้นที่เชิงเขากว่า 30 หลัง ในพื้นที่กว่า 151 ไร่ และล่าสุดสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาออกมาระบุผลการสำรวจพื้นที่สนามแข่งรถโบนันซ่าเบื้องต้นพบว่า ที่ดิน 5 แปลง กว่า 50 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนเขาสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน และหากตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มาหลังการประกาศเขตป่าสงวนก็อยู่ในข่ายที่จะต้องเพิกถอน น.ส.3 ก.

      เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า หลัง ส.ป.ก.นครราชสีมา ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับโบนันซ่าข้อหาบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 79 ไร่ ได้กำชับให้เร่งดำเนินคดีให้เร็วที่สุด ซึ่งนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้สั่งการเป็นเรื่องเร่งด่วนให้ทวงคืนพื้นที่กลับมาให้ได้ เพราะที่ดิน ส.ป.ก.จำนวนมากไปตกอยู่ในมือของนายทุนและผู้บุกรุก นอกจากนี้ ส.ป.ก.จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากโบนันซ่าด้วยหลังยอมรับแล้วว่าไม่มีเอกสารสิทธิรับรองการใช้ประโยชน์ตามที่เคยระบุไว้ ส่วนจะเรียกร้องค่าเสียหายเท่าใดคงต้องรอเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศก่อนว่าพื้นที่ถูกถมปรับสภาพเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด 

     "ส.ป.ก.นครราชสีมา ทราบอยู่แล้วว่าโบนันซ่ารุกล้ำเข้ามาประมาณ 79 ไร่ ส่วนสาเหตุที่ข้าราชการไม่กล้าเข้าไปดำเนินการ เพราะไม่อยากทะเลาะกับนักการเมือง จึงไม่อยากไปยุ่ง ผมบอกได้เลยว่าถ้าไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการ กษ. คนปัจจุบันไฟเขียวให้เข้าไปจัดการแบบลุยแหลก วันนี้อาจจะยังไม่สามารถทวงคืนที่ดินได้" นายสรรเสริญกล่าว และว่า ขณะนี้ ส.ป.ก.อยู่ระหว่างเดินหน้าตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดที่จัดสรรไป 35 ล้านไร่ว่า ถูกเปลี่ยนมือ ถือครอง หรือรุกล้ำโดยนายทุนมากน้อยเพียงใด เนื่องจาก 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าการตรวจสอบยังล่าช้า ดังนั้น ส.ป.ก.ส่วนกลางจะวางเกณฑ์ 2 เรื่องให้ชัดเจนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ดำเนินการตามกฎหมายได้ง่ายขึ้นได้แก่ 1.วิธีการตรวจสอบพื้นที่ และ 2.วิธีการดำเนินคดีจะต้องง่ายกว่าเดิม ซึ่งในวันที่ 16 เมษายนนี้ จะจัดประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศ

เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายในการตรวจสอบจะเล็งไปที่พื้นที่แปลงใหญ่ขนาดพันไร่ที่มีนายทุนครอบครองอยู่ไม่กี่ราย โดยตนจะเจรจากับนายทุนเพื่อขอคืนพื้นที่ หากไม่สำเร็จจะส่งรายชื่อไปให้ทหาร และเจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้าไปดำเนินการเพราะเรื่องนี้ที่ดินของรัฐ ทหารได้แสดงความห่วงใย และต้องการจะจัดสรรให้เป็นธรรม

ด้าน นายสุรวุฒิ ใจกิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา กรมป่าไม้ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบที่ดินสนามแข่งรถโบนันซ่าว่า ขณะนี้ทางสำนักฯป่าไม้ที่ 8 ได้รวมรวบเอกสารหลักฐานต่างๆ ครบแล้ว เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ถูกบุกรุกทั้งที่เป็นเขตป่าสงวน และเขต ส.ป.ก.รวม 103 ไร่ ผู้บุกรุกจะมีความผิดตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยทางสำนักฯ ป่าไม้ที่ 8 ได้สั่งไปยังหน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ นม.1 (ปากช่อง) ในฐานะเป็นหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำหนังสือแจ้งให้โบนันซ่าทำการรื้อถอนบ้านพัก 16 หลัง ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับสนามแข่งรถ แท็งก์น้ำ และพื้นที่ถนนในสนามแข่งรถ และจะเปิดโอกาสให้โบนันซ่าหาหลักฐานเอกสารสิทธิการครอบครองมาแสดงภายใน 15 วัน หากไม่มีเอกสารสิทธิมาแสดง ก็จะแจ้งให้ทำการรื้อถอนภายใน 30 วันต่อไป หากครบกำหนดไปแล้วยังไม่รื้อถอน ทางกรมป่าไม้จะเข้าทำการรื้อถอนเอง ซึ่งกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยอธิบดีกรมป่าไม้ได้เร่งรัดให้หน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่เตรียมเอกสารหลักฐานอย่างรอบคอบ เพื่อดำเนินการให้ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 และผู้อำนวยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า คดีของโบนันซ่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประสานมายังกองทัพภาคที่ 2 จึงได้ทำงานด้วยกันในฐานะที่เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย อีกทั้งการที่ทหารเป็นฝ่ายไปเปิดพื้นที่โบนันซ่าเมื่อมีการร้องขอขึ้นมาทหารก็ต้องดำเนินการไป ส่วนพื้นที่อื่นๆ การเดินหน้าทวงคืนพื้นที่เป็นเพราะต้องการที่จะให้ผืนป่าอันเป็นทรัพยากรของชาติกลับมาเป็นของชาติเหมือนเดิมไม่ใช่เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 

รายงานข่าวแจ้งว่า เลขาธิการ ส.ป.ก.ได้มีคำสั่งย้ายด่วน นายเลิศศักดิ์ สุขสวัสดิ์ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดนครราชสีมา ให้ไปดำรงตำแหน่ง ส.ป.ก. จังหวัดอุดรธานี โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งนายเลิศศักดิ์ได้เดินทางไปรับตำแหน่งใหม่แล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา โดยการโยกย้ายครั้งนี้เป็นการโยกย้ายนอกฤดูกาลที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะมาจากสาเหตุการทำคดีการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก.เขาเชื่อม และคดีโบนันซ่า เขต อ.ปากช่อง

สำหรับกรณีสถานีตำรวจภูธร (สภ.) หลีเป๊ะ บนเกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล ถูกบันดาหยา รีสอร์ต ฟ้องร้องขับไล่ โดยกล่าวหาว่า สภ.หลีเป๊ะบุกรุกที่ดินมีเอกสารสิทธิของรีสอร์ต จนสร้างความหนักใจให้กับกรมอุทยานแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการบุกรุกอุทยานแห่งชาติตะรุเตาบนเกาะหลีเป๊ะ ทั้งที่เมื่อปี 2532 กรมตำรวจในขณะนั้นได้ทำเรื่องถึงกรมป่าไม้ขอใช้ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เพื่อสร้างหน่วยบริการประชาชน สภ.หลีเป๊ะในปัจจุบัน และกรมป่าไม้ได้กันที่ดิน 10 ไร่ ให้ใช้ทำประโยชน์ และปัจจุบันที่ดินของ สภ.หลีเป๊ะเหลือเพียงแค่ 36 ตารางวา เท่านั้น

นายสมัคร ดอนนาปี ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวบรวมเอกสาร การอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศเพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปของการออกเอกสารสิทธิ ที่ทางรีสอร์ตกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินถูกต้องนั้นว่าเอกสารออกถูกต้อง ชอบธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ชอบก็ต้องให้เพิกถอน โดยในวันที่ 9 เมษายน จะมีการประชุมเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินชุมชน ชาวเกาะหลีเป๊ะ มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเล เป็นประธานการประชุม จะมีการหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินในภาพรวมในเกาะหลีเป๊ะ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯจะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วย

ผอ.สำนักอุทยานฯกล่าวต่อว่า เกาะหลีเป๊ะมีพื้นที่ทั้งหมด 1,250 ไร่ เดิมทั้งหมดเป็นที่ของอุทยานฯ มีที่ราชพัสดุ แค่ 36 ตารางวาเท่านั้น แต่ปัจจุบันตรวจสอบพบว่ามีเอกชนเข้ามาบุกรุกเกือบจะครึ่งเกาะ หรือประมาณ 500 ไร่ และนอกเหนือจาก 12 รีสอร์ตที่ได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว จะมีการเข้าแจ้งความเพิ่มอีก 10 แห่ง

เมื่อถามว่า การที่ สภ.หลีเป๊ะถูกฟ้องร้องจะส่งผลกระทบต่อรูปคดี หรือคดีที่กรมอุทยานฯ แจ้งความกับรีสอร์ตที่บุกรุกพื้นที่หรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า ในเรื่องของรูปคดี คงจะไม่กระทบเพราะหลักฐานต่างๆ ที่มีค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในเรื่องความสะดวกในการทำงานนั้นกระทบแน่นอน เพราะถ้า สภ.เกิดแพ้คดีขึ้นมาก็ต้องไม่มีที่ทำงาน และต้องมาขอใช้ที่กรมอุทยานฯเพิ่ม ดังนั้น กรมอุทยานฯจึงต้องเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจนว่าที่ดินจำนวน 10 ไร่ ที่ สภ.หลีเป๊ะใช้อยู่เดิมเป็นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ในระหว่างนี้ที่คดียังไม่พิพากษาให้ดำเนินการไปตามกระบวนการ ส่วนการพิสูจน์ทราบพื้นที่เป็นเรื่องของกรมอุทยานฯที่จะต้องไปดำเนินการ แต่ในส่วนของการใช้พื้นที่สร้าง สภ.หลีเป๊ะนั้นได้พูดคุยแล้ว ซึ่งทางกรมอุทยานฯจะต้องไปดำเนินการกับทางรีสอร์ตที่อ้างว่ามีการบุกรุกที่ดิน ทั้งนี้ทางกรมอุทยานฯแจ้งว่าหากไม่สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้จะหาพื้นที่ส่วนอื่นที่ไม่มีข้อพิพาทมาให้จัดสร้าง สภ.หลีเป๊ะต่อไป 

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงกรณีคณะทำงานกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตรวจสอบการบุกรุกที่ดินรีสอร์ตโบนันซ่าว่า สำนักงาน ปปง.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมตรวจสอบคดีดังกล่าว แต่ขั้นตอนอยู่ระหว่างการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของความชัดเจนทางคดีในการบุกรุกพื้นที่ เพราะยังต้องรอการชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา การพิสูจน์เอกสารสิทธิต่างๆ ไม่ต้องห่วงหากพบว่ามีการกระทำผิด ปปง.พร้อมเข้าดำเนินการยึดอายัดทรัพย์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีคดีลักษณะของการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติที่ ปปง.เข้าไปตรวจสอบทั่วประเทศ มากกว่า 40 เรื่อง ในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานการประชุมผู้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ประจำปีงบประมาณ 2558 มีผู้ประกอบการและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 500 คนเข้าร่วมประชุมว่า ได้รับรายงานในเรื่องการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งว่ามีเรื่องการขออนุญาตใช้ประโยชน์ตกค้างกว่า 1,000 เรื่อง ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และรับตำแหน่งมา 8 เดือนก็ยังตกค้างอยู่ ที่สำคัญมีการมาเสนอยื่นผลประโยชน์ให้ก็มี ทั้งติดต่อมาโดยตรงและผ่านคนใกล้ชิดให้เร่งการอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ซึ่งได้บอกว่าอย่ามาวิ่งกับตน อย่างไรก็ตามเงื่อนไขการอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าเดิมยังมีข้อหละหลวมคือ เอื้อประโยชน์ให้คนที่เข้าไปขอใช้ประโยชน์ แต่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เช่น ขอใช้พื้นที่ปลูกสวนปาล์ม แต่พอหมดสัญญาอนุญาตแล้วกลับสร้างปัญหา คือ ทิ้งชาวบ้านไว้อยู่ในป่าให้รัฐต้องแก้ปัญหาต่อ

"ได้สั่งการให้อธิบดีกรมป่าไม้ไปตรวจสอบเงื่อนไขการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยเฉพาะที่ขอใช้ประโยชน์พื้นที่ 3-4 หมื่นไร่ ต้องขอดูก่อน เพราะจากนี้ต้องนำที่ดินเข้าโครงการจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรที่ยากจนที่ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญท่านต้องยอมรับด้วยว่าในรายที่ขอใช้ประโยชน์เป็นจำนวนหมื่นๆ ไร่ ส่วนมากเป็นนอมินีทั้งนั้น การขอให้เร่งรัดการใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่มีปัญหา แต่ต้องทำด้วยความโปร่งใส การขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าโดยเฉพาะกิจการเหมืองแร่โพแทสบางที่ขอใช้พื้นที่ 4 หมื่นไร่ เหมือนเป็นการจองสิทธิ ทำไมขอสำรวจกันจำนวนมาก" พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว 

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ 102.29 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.62 ของประเทศ ปัญหาการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า บางครั้งไม่ได้ขอในพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ยังเป็นป่าสมบูรณ์อยู่ จึงต้องมีการปรับลดขนาดลงให้ใช้ประโยชน์เท่าที่จำเป็น ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาว่าบางพื้นที่มีการทำประโยชน์นอกพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ โดยเฉพาะในส่วนของสมาคมเหมืองแร่ขอฝากด้วยว่าถ้าทำผิดเงื่อนไข รมว.ทส.ได้สั่งการเข้มงวดจะไม่ต่ออายุให้กับคนที่ทำผิดเงื่อนไขมีการบุกรุกพื้นที่ข้างเคียง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!