WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานพิเศษ: ศึกษา 'ฮ่องกง' ต้นแบบกำจัดขยะอันตราย

    ไทยโพสต์ : 'ขยะ'กำลังสร้างปัญหาอย่างมากให้กับสังคมไทยในขณะนี้ เนื่องด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นซึ่งก่อให้เกิดจำนวนขยะอย่างทวีคูณ และสังคมไทยยังขาดทั้งวินัยการคัดแยกขยะ การทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ความซื่อสัตย์ในการกำจัดขยะอันตรายของโรงงานต่างๆ และอิทธิพลที่เรียกหาผลประโยชน์จากกองขยะ ทำให้ขยะไม่ได้ถูกกำจัดอย่างเหมาะสม

    ส่งผลให้วันนี้ สังคมไทยประสบปัญหากองขยะมหึมาหมักหมม แถมเกิดไฟลุกไหม้ สร้างปัญหามลภาวะทางกลิ่น ควันไฟ และทำลายสุขภาพของผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับกองขยะต่างๆ และปัญหาดังกล่าวเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งเร่งด่วนให้แก้ปัญหาขยะอย่างรวดเร็ว

    ขยะถูกจำแนกออกเป็นหลายประเภท แต่ขยะที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ขยะจากครัวเรือน และขยะอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม (กากอุตสาหกรรม) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการดูแลกากอุตสาหกรรมอย่างจริงจังและเบ็ดเสร็จมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มเห็นเร็วๆ นี้

     ต้นแบบการกำจัดกากอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำมาปรับใช้กับเมืองไทยคือ การดำเนินการของโรงงาน Chemical Waste Treatment Centre (CWTC) ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวในฮ่องกงที่สามารถบริหารจัดการกับกากของเสียได้อย่างครบวงจร

    เมื่อวันที่ 27-29 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนศึกษาดูการบริหารจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมที่ CWTC ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว โดยออกแบบให้มีประสิทธิภาพรองรับของเสียทางเคมีได้ 100,000 ตันต่อปี การบริหารจัดการและดำเนินการของ CWTC ในปัจจุบันได้ว่าจ้างบริษัท Ecospace จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้การดูแลของรัฐบาลฮ่องกง

    โดยมีกระบวนการหลักในการกำจัดกากอุตสาหกรรม ได้แก่ การเก็บรวบรวมของเสียทางเคมี, การวิเคราะห์ข้อมูลโดยรวมของของเสีย และการบำบัดของเสียทางเคมี ส่วนกระบวนการบำบัดหลักๆ มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ การแยกน้ำออกจากน้ำมัน การบำบัดทางกายภาพและทางเคมี และการใช้เตาเผาอุณหภูมิสูง

     นอกจากนี้ ยังมีระบบหลายอย่างถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนกระบวนการบำบัดในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ภาชนะบรรจุของเสีย ถังเก็บ ห้องแล็บ ห้องปฏิบัติการและระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม โดยของเสียที่นำมาเก็บรวบรวมจะจำแนกตามอุตสาหกรรมและถูกรายงานตามแบบแผน โดยมีการใช้ระบบติดตามผ่านสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) ทุกกระบวนการ ซึ่งรวมถึงการปนเปื้อนของอากาศ ส่วนที่ตกค้างและการปล่อยน้ำเสีย เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม

    ขณะเดียวกัน จะมีการรายงานประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ ประกอบด้วย การรายงานภาวะน้ำทิ้ง การรายงานการจัดเก็บของเสียตกค้าง รวมถึงการดูแลการควบคุมการปล่อยก๊าซเสียโดยระดับของไดออกซิน ซึ่งวัดได้จากสภาวะปกติและที่ปล่องควันของเตาเผาขยะนั้น จะต้องรายงานและติดตามผลให้กับรัฐบาลฮ่องกงโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นประจำ นอกจากนั้นยังต้องวางแผนซ่อมบำรุงเชิงป้องกันและแก้ไขในสภาวะฉุกเฉินด้วย

    ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงจะมีการชดเชย 100% สำหรับค่าใช้จ่ายในการบำบัดในอนาคตภายใต้แผนควบคุมของเสียทางคลินิก ซึ่ง CWTC เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลจัดการของเสียเหล่านี้ โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมาย เพื่อให้มีการจัดการกากของเสียอย่างเหมาะสม

     ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดของเสียทางการแพทย์ จะต้องส่งของเสียเหล่านี้ไปยังผู้จัดเก็บของเสีย ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการด้านสุขภาพชั้นนำต้องส่งของเสียทางคลินิกเหล่านี้มายัง CWTC เพื่อให้มีการกำจัดอย่างถูกต้อง เป็นมูลค่า 2,715 เหรียญฮ่องกงต่อของเสีย 1,000 กิโลกรัมด้วย

      ส่วนทางด้านประเทศไทย ปัจจุบันมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน แต่มีการจัดการอย่างถูกต้องในปี 2557 เพียง 1.03 ล้านตันเท่านั้น

      นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายให้กากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตันในปี 2558 นี้ โดยที่ผ่านมาได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายนำโรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องให้ได้กว่า 90%

      นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างจัดตั้งนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ตามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ผ่านองค์กร NEDO ทำการศึกษาพื้นที่รองรับกาก อุตสาหกรรม 6 พื้นที่ทั่วประเทศ

   เบื้องต้นเป็นพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก ภาคละ 1 แห่ง เนื่องจากทั้ง 3 ภาคมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนานมาก โดยพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมฯ กำจัดกากอุตสาหกรรมจะมีประมาณ 5,000-10,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่กำจัดกากครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งจะจัดเป็นพื้นที่กันชน เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน

   ส่วนภาคอื่นๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะทำการศึกษาว่าควรจัดตั้งเป็นศูนย์รวบรวมและขนถ่ายกากอุตสาหกรรม หรือจะสามารถจัดตั้งเป็นนิคมฯ กำจัดกากอุตสาหกรรมร่วม

    นอกจากนี้ ภายในปี 2558 จะมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบติดตามยานพาหนะโดยใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) สำหรับขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลการขนส่งกากอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพสำหรับติดตามเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมจากต้นทางไปยังปลายทาง และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์และมาตรฐานการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับผู้ให้บริการ รวมทั้งเพื่อให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมและผู้รับกำจัดสามารถตรวจสอบการขนส่งกากอุตสาหกรรมจากต้นทางไปยังปลายทาง

    ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณ 14 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบรับสัญญาณจากรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่จำนาน 3,400 คัน ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งระบบเสร็จเดือน ก.ย.2558 จากนั้นวันที่ 1 ต.ค.2558 จะเริ่มสำรวจรถขนส่งกากอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนไว้ทุกคันต้องติดจีพีเอส หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษทางกฎหมายต่อไป

    นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมเปิดศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรม (จังหวัดระยอง) ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ในเดือน เม.ย.2558 โดยเป็นโครงการนำร่อง เพื่อกระจายอำนาจการอนุญาตกากอุตสาหกรรมลงในพื้นที่โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวหนาแน่น แทนการที่จะต้องมาอนุญาตจากส่วนกลางที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าศูนย์ฯ จะสามารถติดตามดูแลโรงงานได้ใกล้ชิดมากกว่า และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการด้วย ก่อนที่จะพิจารณามอบอำนาจให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไป

    ปัจจุบันโรงงานที่เข้าระบบส่งกากไปบำบัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีเพียง 5,300 ราย และมีโรงงานที่ยังไม่เข้าระบบดังกล่าวอีก 62,000 ราย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่าหากนำกฎหมายมาใช้อย่างเข้มงวดดังที่ได้กล่าวมา จะทำให้โรงงานกลับมาเข้าระบบได้ถึง 90% ในอีก 5 ปีจากนี้

     อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายมาบังคับใช้อาจทำได้ไม่ 100% แต่ต้องอาศัยการมีจิตสำนึกของโรงงานอุตสาหกรรมที่จะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน ต้องช่วยกันรักษาให้ดีที่สุด เพื่อสุขภาพของคนไทยด้วยกันสืบต่อไป.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!