WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

nam17


'ในหลวง'รับสั่งตั้ง 122 ศูนย์ บริการนํ้า 53 จังหวัด 
ชัตดาวน์วุ่นแล้ว ชาวนาไม่สนรบ. ลั่นยอมโดนจับ ปทุมฯฮือสูบน้ำ จนท.-ทหารขวาง ชัยนาท-สิงห์บุรี

     งในหลวงงรับสั่งตั้งศูนย์บริการน้ำ122 แห่ง ใน 53 จว.ชาวนาปทุมฯไม่สนชัตดาวน์ 300 คนฮือตั้งเครื่องสูบน้ำ-หวั่นข้าวยืนต้นตาย จนท.ขวาง-รุดเจรจาวุ่น ก่อนยอมให้ตั้งสูบน้ำใส่คลอง 3 วัน ทหารลาดตระเวนตรวจคลองสิงห์บุรี-ห้ามสูบน้ำเข้านา ชัยนาทก็ถูกห้ามด้วย 'ประภัตร โพธสุธน'เจรจาชาวนาสุพรรณฯงดสูบน้ำ-เร่งหาทางช่วย ขณะที่ชาวบ้านปล่อยควายให้กินต้นข้าว ด้านนายกชาวนาไทยโวยรัฐบาลงดปล่อยน้ำ ยันเตรียมวิดน้ำ-สูบน้ำเข้านา ปัดท้าทายรัฐบาลแต่ทำเพื่อปากท้อง หากทหารจะ จับก็ยอมดีกว่าปล่อยให้ข้าวตาย ระบุที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ-เยียวยาไร่ละ 3 พัน แต่นายกฯไม่ฟัง-ไม่ดูแล ขณะที่ไก่อูระบุขอห้ามเกษตรกรสูบน้ำ เพราะต้องใช้น้ำทำประปา ส่งทหาร-จนท.ทำความเข้าใจ แต่ไม่ถึงขั้นต้องไปไล่จับ เชื่อไม่มีบรรยากาศชาวนาชุมนุมเรียกร้อง ส่งรองนายกฯ-รมต.ลง พื้นที่ติดตามภัยแล้ง 'หม่อมอุ๋ย'ชี้แล้งไม่กระทบ เศรษฐกิจภาคใหญ่ เหตุมีที่ทำนา 63 ล้านไร่ 

ในหลวงทรงตั้งศูนย์บริการน้ำ

 

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8997 ข่าวสดรายวัน

 

 

ฮือแย่งน้ำ - ชาวบ้าน 3 อำเภอ จ.ปทุมธานี กว่า 300 คน ร่วมกันวางกระสอบทรายกั้นน้ำที่ใต้สะพานคลองเจ็ด ถ.รังสิต-นครนายก เพื่อดักสูบน้ำจากคลองรังสิตฯ เข้านาข้าวที่กำลังจะแห้งตายเพราะขาดน้ำ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 

 

      เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับความทุกข์ยากจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทาน ในการบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรที่ประสบภาวะภัย แล้ง โดยร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำ โดยจัดศูนย์บริการน้ำอุปโภคบริโภคพระราชทาน ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 122 แห่ง ในท้องที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวม 53 จังหวัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วนในขณะนี้

       โดยตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบหมายให้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จัดตั้งศูนย์บริการน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้ง โดยราษฎรสามารถเตรียมภาชนะไปรับน้ำได้ที่โรงเรียนที่จัดตั้งศูนย์บริการน้ำใกล้บ้านในท้องที่ภาคต่างๆ ทั้งนี้ราษฎรต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ที่ทรงห่วงใยราษฎรที่กำลังทุกข์ยาก และได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยพระราชทานความช่วยเหลือ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดมา

 

ตั้ง 2 พันตลาดชุมชนช่วยชาวนา

     ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กทม. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาระดับชาติ แนวทางการพัฒนาธุรกิจไทยอย่างยั่งยืน เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง (ทีเอ็มเอ) ว่ารายได้ของประเทศร้อยละ 70 มาจากการเกษตร แต่วันนี้ ทุกอย่างตกลงเกือบทั้งหมด ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมาวิเคราะห์ว่าจะต้องสร้างความเข้มแข็งอย่างไร ประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320 ล้านไร่ ทำการเกษตรประมาณ 147 ล้านไร่ มีเนื้อที่ในเขตชลประทานไม่เกินร้อยละ 40 นอกนั้นอยู่นอกเขตชลประทานที่ใช้น้ำฝนอย่างเดียว เมื่อฝนไม่ตกจึงเดือดร้อนทั้งหมด 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องมาดูว่าจะบังคับให้เปลี่ยนการเพาะปลูกทันทีไม่ได้ ต้องสร้างความเข้าใจและจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรไป 800 กว่าศูนย์ ตั้งตลาดชุมชนไปกว่า 2,000 แห่ง เพื่อแนะนำเกษตรกร แต่บางคนไม่ฟังก็ออกมาต่อต้านกล่าวหาว่าจะให้เลิกปลูกข้าว แล้วจะทำอะไรกิน ตนได้ชี้แจงว่าถ้าเลิกปลูกรัฐบาลจะหาเงินไปให้ และให้คำแนะนำปลูกพืชอย่างอื่น แต่ก็ยังสงสัยว่าเงินลงไปไม่ถึง อาจมาจากสาเหตุ 2 อย่าง คือ รัฐบาลทำไม่ได้ดีเรื่องการกระจายข้อมูลข่าวสาร หรือมีคนบิดเบือนที่อยู่ข้างล่าง ยอมรับว่าเป็นห่วงถ้ายังมีคนเหล่านี้อยู่ก็จะทำให้การเดินหน้าประเทศไปไม่ได้

 

มท.1 เผยเริ่มชัตดาวน์ปล่อยน้ำ

      ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันเริ่มต้นวันแรกของการลดการปล่อยน้ำ และไม่ให้ประชาชนสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรของตนเอง โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้า พระยา ยืนยันว่าไม่ได้ห้ามเกษตรกรสูบน้ำ แต่ขอให้รอการประเมินของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำก่อน หากน้ำที่เอาไปใช้อุปโภคบริโภคมีเพียงพอ ก็จะพิจารณาให้เกษตรกรสูบเข้าไร่สวนเป็นอันดับแรก และพื้นที่นาเป็นลำดับถัดไป อย่างไรก็ตามจากการ ที่ให้เจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจ พบว่าเกษตรกรที่ยังคงสูบน้ำเข้าพื้นที่มีจำนวนไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เข้าใจและรอการดำเนินการของรัฐบาล แต่ยังมีปัญหา เช่น บางพื้นที่ข้าวตั้งท้องแล้วเกษตรกรขอสูบน้ำต่อ 2 วัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องให้กรมชลประทานประเมิน ว่าจะสามารถให้น้ำได้หรือไม่ ถ้ากรมชลฯ บอกไม่ได้คือต้องยุติ

      นายจีรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการ กปภ. เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตอย่างรุนแรง ส่งผลให้แหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขาหลายแห่งแห้งขอด แต่ กปภ.มีมาตรการรับมือไว้หลายด้าน ทั้งประสานงานกับกรมชลประทาน หน่วยงานท้องถิ่นและเอกชนในการจัดหาแหล่งน้ำดิบสำรองและเจาะบ่อบาดาลเพิ่มขึ้น ตลอดจนจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา เพื่อรักษาปริมาณน้ำดิบให้สามารถผลิตน้ำประปาได้อย่างเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ขอยืนยันว่าประชาชนจะมีน้ำประปาใช้อย่างไม่ขาดแคลนตลอดช่วงวิกฤตภัยแล้ง ต่อจากนี้ไปจนถึงเดือนส.ค. ขณะเดียวกันขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและไม่กักตุนน้ำประปาไว้ใช้เกินความจำเป็น

 

ไก่อูชี้ห้ามสูบน้ำทำการเกษตร

      ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ไม่ส่งกระทบกับเศรษฐกิจภาคใหญ่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ที่ทำนามี 63 ล้านไร่ อยู่นอกเขตชลประทาน 55 ล้านไร่ ที่เริ่มจะปลูกข้าวในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบนั้นก็มีกระบวนการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจต่างจากที่ผ่านมาที่น้ำน้อยและเกิดภัยแล้งแล้วรัฐบาลช่วยเหลือโดยจ่ายค่าชดเชย หรือจ้างงานเพื่อสร้างรายได้แม้ครั้งนี้พื้นที่เกษตรจะได้รับผลกระทบที่ไม่มาก แต่ต้องแก้ไขโดยเตรียมแผนไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว โดยมีแนวโน้มที่ดีที่ฝนจะเริ่มตกบ้างแล้ว


ห้ามสูบ - กำลังทหารชุดประจำพื้นที่ จ.ชัยนาท ออกตรวจตราพื้นที่ตลอดคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ไหลผ่านอ.มโนรมย์ และอ.เมือง ระยะทาง 20 กิโลเมตร ขอความร่วมมือชาวบ้านหยุดสูบน้ำเพื่อทำการเกษตร เมื่อวันที่ 16 ก.ค.

       ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการลดปริมาณระบายน้ำในเขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วง 2 เรื่อง คือ ปริมาณน้ำที่น้อยลงและการจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้น้ำ และห่วงความรู้สึกของเกษตรกร ซึ่งพื้นที่ในภูมิภาคที่ไม่ใช่ 22 จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีแหล่งเก็บน้อยเป็นอ่างเดียวที่สามารถบริหารจัดการในพื้นที่ใกล้เคียงในลักษณะประปาหมู่บ้าน โดยผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด จะประสานกับฝ่ายปกครอง และทหารเพื่อดูแลทำความเข้าใจกับประชาชน จึงไม่มีปัญหา

     พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น มีน้ำต้นทุนน้อยลงและรัฐบาลปรับลดการระบายจาก 28 ล้านลบ.ม. ให้เหลือ 18 ล้านลบ.ม. โดยลดลงวันละ 2 ล้านลบ.ม. ดังนั้นน้ำ 3 ส่วน คือน้ำกินน้ำใช้ น้ำใช้สำหรับดูแลระบบนิเวศรวมถึงการผลิตน้ำประปา และน้ำที่จะใช้ดูแลภาคการ เกษตร ต้องระบายน้ำเพื่อยืดเวลาให้มีน้ำใช้ไปได้ถึงปลายเดือนส.ค. ซึ่งทหาร ฝ่ายปกครองได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรว่าในช่วงวิกฤตนับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงฝนตกในช่วงกลางหรือปลายเดือนส.ค.นี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันฝ่าวิกฤตไปให้ได้ และขอห้ามเกษตรกรสูบน้ำไปใช้ในภาคเกษตรและอื่นๆ เพื่อจะใช้ทำน้ำประปาสำหรับทำน้ำกินน้ำใช้ และน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจะไหลเข้าสู่คลองประปา จะเปิดให้ประปาท้องถิ่นของพื้นที่ 22 จังหวัด ดึงไปใช้ได้ แต่ยังไม่พอสำหรับการดูแลภาคการ เกษตรได้ ส่วนระยะเวลาการลดการปล่อยน้ำยังกำหนดแน่นอนไม่ได้ แต่จะอยู่ไปถึงช่วงที่คาดว่าฝนจะตก หากไม่ตกตามที่ระบุก็ต้องแก้เป็นช่วงเวลาไป

 

ส่งรองนายกฯ-รมต.ลงพื้นที่

     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจ ซึ่งเกษตรกรบางส่วนรู้สึกเสียใจที่สูบน้ำไปใช้ในช่วงแรก โดยไม่ทราบว่าจะเกิดผลกระทบตามมาในภายหลังที่จะใช้ทำน้ำกินน้ำใช้และต่อพื้นที่ปลายน้ำ และยกเครื่องมือสูบน้ำออกจากเส้นทางน้ำชลประทาน เราไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเราจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและประเมินความเสียหายพื้นที่เกษตรจำนวนเท่าใด และหากฝนตกเพิ่มก็น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นและยังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

      "มั่นใจว่า จะทำความเข้าใจกับเกษตรกร ได้ คงไม่ถึงขนาดไปนั่งเฝ้าไล่จับกัน เพราะบรรยากาศของไทยในวันนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะจะกลายเป็นว่าพี่น้องเกษตรอยากได้น้ำดูแลพืชผลแล้วมีเจ้าหน้าที่ไปขัดขวาง แต่จะเป็นภาพที่ร่วมกันฝ่าวิกฤตที่มีอยู่ในขณะที่น้ำมีจำนวนน้อย จึงต้องให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้ก่อน ส่วนเรื่องเกษตรเมื่อเราตรวจสอบแล้วพบความเสียหายรัฐบาลต้องเข้าไปดูแล เพื่อเยียวยาแน่นอน วันนี้ต้องจัดลำดับความสำคัญของน้ำกินน้ำใช้ก่อน ส่วนการลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อติดตามปัญหาภัยแล้งนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีเวลาจำกัดและมีปัญหาหลายเรื่องเข้ามา จึงสั่งการให้ รองนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปก่อน นายกฯ เองก็จะพยายามหาเวลาในการลงไปดูพื้นที่จริง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

     เมื่อถามว่าหากพบว่า ยังมีเกษตรกรสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรจะมีการดำเนินการหรือให้แจ้งเบาะแสอย่างไร พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คงไม่ถึงกับมีสายด่วน และแต่ละจังหวัดมีศูนย์ดำรงธรรมอยู่แล้ว ซึ่งตนเชื่อว่าจะไม่มีเหตุ การณ์เช่นนั้นขึ้น เพราะทหารและฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ทำความเข้าใจตลอด และมีโครงการที่ทำควบคู่กับมาตรการแก้ภัยแล้ง 

      เมื่อถามว่าหากประชาชนรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไร พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คิดว่าบรรยากาศเหล่านี้ไม่เกิด เพราะในเมื่อน้ำจำกัดต้องเลือกว่านำน้ำไปปลูกกินหรือจะไว้กิน ซึ่งน้ำกินย่อมสำคัญกว่าและต้องดูแลตรงนี้ก่อน เชื่อว่าประชาชนเข้าใจหากอธิบายเหตุผลที่ผ่านมาเราอาจอธิบายไม่ครบถ้วน แต่วันนี้เมื่อทุกคนเข้าใจก็ต้องดูส่วนนี้ก่อน

 

ทส.เร่งขุดเจาะบ่อบาดาล

     ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทส. แถลงถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อสวมต่อการทำงานของคณะกรรม การกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคสช. เป็นประธาน โดยในวันที่ 22 ก.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อเดินหน้าการแก้ปัญหาภัยแล้งต่อไป 

     พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวง ทรัพยากรฯ ได้รับผิดชอบการดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาภัยแล้งแผนใหญ่ทั้งประเทศ 2.แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และ3.การแก้ปัญหาภัยแล้งในด้านการอุปโภคบริโภค โดยมีกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหน่วยงานที่จะเข้าร่วมในการแก้ปัญหาด้วย ในส่วนของการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างบางส่วนรวม 15 จังหวัดนั้น กำหนดเป้าหมายเจาะน้ำบาดาล 511 บ่อ ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 415 บ่อ สามารถสูบน้ำมาใช้ประโยชน์ ได้ประมาณ 230,000 ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 60,000 ไร่ รวม 2,000 ครัวเรือน โดยภายในสิ้นเดือนนี้ต้องดำเนินการให้ทันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

พณ.ตรวจน้ำขวดในห้าง

      ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบการจำหน่ายน้ำบรรจุขวด ที่ห้างแม็คโคร (ห้างขายส่ง) และห้างบิ๊กซี (ห้างขายปลีก) สาขาแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี พบว่าน้ำดื่มบรรจุขวดยังเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และราคายังคงเดิมไม่มีการปรับขึ้น ถึงแม้ว่าช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาสินค้าอาจพร่องไปบ้าง ทางห้างก็ปรับแผนรองรับการซื้อน้ำดื่มของผู้บริโภค ซึ่งห้างได้เตรียมสต๊อกน้ำดื่มบรรจุขวดไว้เพียงพอพร้อมจะมาเสริมตลอดเวลาในช่วงนี้เป็นพิเศษ


ตรวจขายแพง - นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ออกตรวจราคาน้ำดื่มบรรจุขวดในห้างสรรพสินค้าย่าน เเจ้งวัฒนะ ป้องกันการโก่งราคา หลังมีข่าวลือน้ำดื่มขาดแคลน แต่ไม่พบ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.

      นายบุณยฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นราคาน้ำนั้น ยังไม่มีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ประกาศราคาน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกแล้ว ขนาด 500-600 ม.ล. ราคาไม่เกินขวดละ 7 บาท และขนาด 1,500 ม.ล. ราคาไม่เกินขวดละ 14 บาท นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้รับคำสั่งจากรมว.พาณิชย์ ให้เข้าดูแลเรื่องราคาสินค้าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง และเข้าดูแลปริมาณสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เบื้องต้นพบว่ายอดขายน้ำดื่มบรรจุขวดบางที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30-40 เนื่องจากเกิดความวิตกของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาของน้ำประปาไม่ไหลในบางพื้นที่ 

      นางศิริพร เดชสิงค์ ผอ.อาวุโสฝ่ายการตลาด และพัฒนาธุรกิจ FOOD SERVICE บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ห้างแม็คโครในเขตกรุงเทพฯ 11 สาขาและปริมณฑลมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น เท่าตัว ส่วนทางคลองหลวง จ.ปทุมธานี และจ.พระนครศรีอยุธยา ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมทั่วประเทศมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 

ด้านน.ส.วารุณี กิจเจริญพูลสิน ผอ.ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็น เตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปริมาณน้ำดื่มบรรจุขวดจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 27.8 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และภาชนะบรรจุน้ำก็มียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะถังบรรจุน้ำขนาด 66 ลิตร ซึ่งได้รับความนิยมสูง นอกจากนี้ยังเผยอีกว่าภาคเหนือและภาคอีสานจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 โดยขอย้ำว่าราคายังคงเป็นปกติไม่มีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน

 

นายกชาวนาโวย-ยอมให้จับ

     วันเดียวกัน นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประกาศงดระบายน้ำทำการเกษตรว่า หลังจากภาครัฐประกาศไม่ให้ปล่อยน้ำ เพื่อสนับสนุนการทำนา เชื่อว่าข้าวของเกษตรกรอาจยืนต้นตาย เพราะหลังจากรัฐบาลประกาศให้ทำนา 22 พ.ค. ขณะนี้ต้นข้าวที่อายุมากที่สุดมีอายุประมาณ 70 กว่าวัน และยังมีการปลูกใหม่เพิ่ม เพื่อรอน้ำฝน เชื่อว่าข้าวทั้งหมดไม่น่าจะรอด น่าจะยืนต้นตายทั้งหมด ส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนให้ขุดบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำขึ้นมาบรรเทาความแห้งแล้งนั้น ขณะนี้น้ำที่ดูดขึ้นมาส่วนใหญ่เป็นน้ำกร่อยไม่สามารถเอาใส่นาข้าวได้ เพราะจะทำให้ต้นข้าวตาย

      นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าชาวนาไม่มีทางออก คงรวบรวมกำลังเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านผู้ว่าฯทุกจังหวัด เพื่อขอน้ำและคงดื้อลงวิดน้ำ สูบน้ำเข้านา เพื่อพยุงชีพต้นข้าวไว้ โดยไม่ได้ท้าทายรัฐบาลแต่เพื่อปากท้อง หากทหารจะจับชาวนาคงต้องยอม จับก็ต้องจับดีกว่าให้ข้าวตาย ข้าวคืออนาคตของชาวนา เพราะที่ผ่านมาชาวนาลงทุนไปแล้ว ทั้งเมล็ดพันธุ์ ค่าเช่าและปัจจัยการผลิตทั้งหมดต่อไร่ประมาณ 4-5 พันบาท ชาวนาต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ข้าวมีชีวิตรอด เพราะจากที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพื่อเยียวยาสถานการณ์ภัยแล้งสำหรับข้าวไร่ละ 3,000 บาท นายกฯไม่รับฟังและไม่ดูแล บอกเพียงให้ไม่ได้ แล้วชาวนาจะกินอะไร

      "ขณะนี้ชาวนาหนี้สินล้นพ้นตัว อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลบ้าง หากไม่สามารถจ่ายเงินได้ ควรช่วยเหลือหรือดูแลต้นข้าวที่กำลังออกรวง อายุประมาณ 70 กว่าวันให้รอดก่อนได้หรือไม่ ส่วนที่เหลือที่อายุน้อยๆ ก็ให้รอน้ำฝนไป เบื้องต้นรัฐบาลต้องเข้าดูแลหนี้สินเกษตรกร โดยขณะนี้หนี้สินพอกพูน ไม่เห็นอนาคต เพราะตั้งแต่มีชีวิตมา 78 ปี น้ำปีนี้ถือว่าแล้งที่สุด ไม่รู้ว่าเทวดาองค์ใด ทำไมถึงทำร้ายชาวนาได้ขนาดนี้ ชาวนาทุกวันนี้ก็นั่งรอฝนเหมือนกับคนไทยทั่วไป เพราะแล้งมาก" นายวิเชียรกล่าว

 

กาฬสินธุ์อ่วม-ไร่ถั่วลิสงยังตาย

    สำหรับ สถานการณ์ภัยแล้งในต่างจังหวัด ที่จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่นอกเขตชลประทานพบยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและฝนไม่ตก ทำให้พืชไร่และนาข้าวยืนต้นตาย โดยเฉพาะที่อ.ห้วยเม็ก โดยนายวัลลภ ประวัติวงศ์ นายอำเภอห้วยเม็ก พร้อมผู้นำชุมชนต้องเร่งลงพื้นที่สำรวจ เพราะแม้แต่พืชฤดูแล้งอย่างถั่วลิสงยังแห้งเฉาตาย ทำให้ชาวนาและชาวไร่ต่างต้องสิ้นหวัง พร้อมขาดทุนย่อยยับ

     นายวัลลภ กล่าวว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่รุนแรงกว่าทุกปี จึงเร่งสำรวจความเสียหาย โดยเฉพาะในส่วนของพืชผลทางการเกษตร ทั้งนาข้าว ถั่วลิสง อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งพบได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง 

ขณะที่เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 450 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ส่วนระดับน้ำใช้การอยู่ที่ร้อยละ 18 หรือ 360 ล้านลบ.ม. โดยมีการระบายน้ำวันละ 4.45 ล้านลบ.ม. ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ระบายน้ำเฉลี่ย 5-6 ล้านลบ.ม.ต่อวัน 

ที่จ.ร้อยเอ็ด หลังปริมาณน้ำในลำน้ำชีลดลง การประปาร้อยเอ็ดคาดจะมีน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาได้อีกเพียงสัปดาห์เท่านั้น ทำให้ต้องขอน้ำจากเขื่อนลำปาววันละ 1 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้ผลิตน้ำประปา พร้อมประกาศเตือนประชาชนให้ประหยัดน้ำและงดสูบน้ำเพื่อการทำนา

 

โคราช-พิจิตรจ่อวิกฤตประปา

      ที่จ.นครราชสีมา นายนพดล พุ่มกันภัย ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขานครราช สีมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำดิบท่าช้างที่สูบน้ำดิบจากลำน้ำมูน มาใช้ผลิตน้ำประปาใน 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองนครราชสีมา และอ.เฉลิมพระเกียรติ รวม 25,000 ครัวเรือน ล่าสุดปริมาณน้ำดิบที่เหลือในอ่างกักเก็บมีปริมาณเหลือเพียง 1.2 ล้านลบ.ม. จึงคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประชาชนอาจต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปา ส่วนหนึ่งมาจากน้ำมูนลดน้อยลงด้วย เบื้องต้นจึงเตรียมลดการปล่อยประปา ส่งผลให้น้ำประปาช่วงนี้ไหลอ่อนในบางพื้นที่ โดยปริมาณน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาเหลืออีกเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น และต้องรอดูฝนในช่วงเดือนส.ค. หากฝนไม่ตกอาจต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำประปาแน่นอน

      ที่จ.พิจิตร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประปาหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลหนองปล้อง อ.วังทรายพูน ต้องหยุดระบบสูบน้ำจากบ่อน้ำดิบไว้สำหรับผลิตน้ำประปา เนื่องจากมีสภาพแห้งขอดและไม่เหลือน้ำเพียงพอสำหรับสูบมาผลิตน้ำประปา ทำให้ชาวบ้านกว่า 200 หลังเริ่มไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค

     นายสมยศ แสงมณี ชลประธานจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า หลังจากฝนทิ้งช่วงทำให้เกิดสภาวะภัยแล้งอย่างหนัก โดยเฉพาะชาวนา ที่ได้รับผลกระทบ น้ำไม่มีหล่อเลี้ยงต้นข้าว ทำให้นาข้าวเสียหาย อีกทั้งตอนนี้ต้องงดการระบายน้ำทำการเกษตรอีก เนื่องจากน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อย เหลือน้อยเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับการส่งน้ำให้ชาวนาทำการเกษตร เบื้องต้นจึงเตรียมออกประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือให้ประหยัดน้ำ

 

ชาวนาปทุมฯฮือสูบน้ำ

     ที่จ.ปทุมธานี ชาวบ้านต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี ต.บึงบอน อ.หนองเสือ และต.คลองเจ็ด อ.คลองหลวง ประมาณ 300 คน รวมตัวกันกรอกทรายใส่ถุง เพื่อสร้างทำนบกั้นน้ำบริเวณใต้สะพานคลอง 7 ถนนรังสิต-นครนายก เพื่อสูบน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เข้าคลอง 7 หลังจากเกษตรกรทั้ง 3 ตำบลได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะภัยแล้ง จนทำให้พืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับผลกระทบ โดยมีตำรวจและทหารเข้ามาชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาลที่ให้เกษตรกรงดการสูบน้ำเข้านา

ขณะที่นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผวจ.ปทุมธานี สั่งให้เกษตรกรคลอง 11 คลอง 12 และคลอง 13 งดสูบน้ำ เพื่อรักษาน้ำในคลองให้อยู่ในสภาพดันตลิ่งไม่ให้ถนนทรุดตัวไปมากกว่านี้ ซึ่งเกษตรกรที่รู้ว่าไม่ให้สูบน้ำเข้าคลอง 7 ต่างออกมารวมตัวกันมากขึ้น โดยมีทหารค่อยชี้แจง เพื่อรอคำสั่งจากผวจ.ปทุม ธานีที่กำลังประชุมอยู่ ว่าจะให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำเข้าคลอง 7 หรือไม่ 

    ต่อมานายพฤทธิพงค์ ทัศน์อัญชุลีกุล ผอ. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เดินทางมาที่คลอง 7 เพื่อพูดคุยเจรจากับชาวบ้าน โดยมีนายบัณฑิต เจริญสุข เป็นตัวแทนเข้า พูดคุย เบื้องต้นนายพฤทธิพงค์อนุญาตให้ชาวบ้านนำเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว รวม 2 เครื่อง มาติดตั้งและสูบน้ำเข้าคลอง 7 เป็นเวลา 3 วัน แต่ห้ามชาวบ้านสูบน้ำจากคลอง 7 เข้าที่นาหรือสวน เพื่อทำการเกษตร

 

ทหารห้ามชาวนาสิงห์บุรี-ชัยนาท

     ที่จ.สิงห์บุรี ทหารจากป.พัน.723 กองพลทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี พร้อมนายสนอง จันทร์เมือง นายก อบต.โพธิ์ชัย อ.อินทร์บุรี ร่วมออกตรวจประตูน้ำในหมู่ 4 พบปิดสนิทแล้วเหลือน้ำตกค้างเล็กน้อย จากนั้นตรวจสอบตามแนวคลองในพื้นที่หมู่ 1 พบยังมีชาวบ้านสูบน้ำเข้านา โดยขุดเป็นร่องน้ำต่ำ เพื่อให้น้ำไหลเข้าเครื่องสูบลงนาข้าว ทหารจึงขอให้หยุดการสูบ เนื่องจากจะกระทบกับน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนโดยรวม ซึ่งชาวบ้านก็ยินดีปฏิบัติตามและหยุดการสูบน้ำเข้านา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังทราบอีกว่ามีอีก 6 จุดที่ยังใช้เครื่องสูบน้ำเข้านา จึงเดินทางไปขอให้งดการสูบน้ำต่อไป

ที่จ.ชัยนาท ร.ท.สุชาติ ผลโต ผบ.ชุดประสานงานประจำพื้นที่ ชุดที่ 10 จ.ชัยนาท กล่าวว่า ได้รับคำสั่งการจากผบ.บก.ควบคุม มทบ.13 ในการให้ความร่วมมือชลประทานควบคุมดูแลและขอความร่วมมือชาวนาหยุดสูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่ปากคลองที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จนถึงสะพานเบี่ยงเขตติดต่อ อ.ตาคลี จ.นคร สวรรค์ รวมระยะทางประมาณ 20 ก.ม. โดยออกตรวจทั้งกลางวันกลางคืน หากพบการสูบน้ำของเกษตรกรจะขอความร่วมมือไม่ให้สูบน้ำ และหากเกษตรกรร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือจะรวบรวมข้อมูลรายงานขึ้นไปทางบก.ควบคุม มทบ.13 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

 

สุพรรณฯปล่อยควายกินข้าวในนา

      ที่จ.สุพรรณบุรี นายประภัตร โพธสุธน อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านบริเวณประตูระบายน้ำ บ้านทุ่งแฝก หมู่ 3 อ.สามชุก ซึ่งเป็นต้นน้ำก่อนส่งลงคลองให้ชาวบ้านได้สูบเข้าพื้นที่ แต่ขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่น้อยมาก และไม่เพียงพอแบ่งเข้านาได้อีก โดยนายประภัตรพยายามขอร้องชาวบ้านว่าอย่าเพิ่งสูบไปเข้านา เพราะกำลังหารือกับหน่วยงานภาครัฐว่าจะหาทางออกช่วยชาวบ้านโดยการขุดบ่อบาดาล อีกทั้งเตรียมหารือกับพื้นที่ใกล้เคียงให้ลดการสูบน้ำด้วย

     นายพิริยะ ฉันทดิลก นายอำเภอสามชุก กล่าวว่า จากการสำรวจพบความเสียหายกว่า 4.2 หมื่นไร่ จึงต้องหามาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้มีการแบ่งคิวรับน้ำ อีกทั้งจังหวัดก็กำลังหาทางออกเพื่อช่วยเกษตรกรโดยเร็ว และจะหาอาชีพสำรองให้ทำในช่วงนี้

     นายวัชรินทร์ เกิดเอี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.ตลิ่งชัน อ.เมืองสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าวกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่เสียหายไปแล้วเกือบทั้งหมด ทำให้ชาวนาบางส่วนปล่อยวัวควายลงไปกินข้าวแล้วเพราะหมดทางเยียว ยารักษาต้นข้าว

 

ถนนนนทบุรีทรุดตัวเพิ่ม

        ที่จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบถนนเลียบคลองขุนศรีบน เชื่อมต่อ อ.ลาดบัวหลวง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เนื่อง จากมีถนนทรุดตัวเป็นทางยาวกว่า 150 เมตร ลึกกว่า 2 เมตร โดยนายไพรัตน์ จันทร์ผลหอม นายอำเภอไทรน้อย กล่าวว่า ถนนเริ่มทรุดตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งวันที่ 11 ก.ค. เริ่มทรุดตัวเป็นทางยาวลึกขึ้นจนรถไม่สามารถผ่านไปมาได้ 

ด้านนายชลาธร แก้วสำเร็จ วิศวกรโยธาชำนาญการ แขวงทางหลวงชนบท จ.นนทบุรี กล่าวว่า สาเหตุที่ถนนทรุด เนื่องจากน้ำในคลองขุนศรีลดระดับลง ทำให้ถนนทรุดเพราะขาดแรงดัน เบื้องต้นได้ปรับพื้นที่และนำส่วนที่มีน้ำหนักเยอะออก ก่อนนำหินคลุกลงแทนที่ เพื่อทำทางเบี่ยงให้ประชาชนได้สัญจรผ่านไปมาได้ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!