WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 01:58 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


ไม่ต้องเลือกข้างจีน-สหรัฐ อาเซียนรับบท'ถ่วงดุลอำนาจ'

ข่าวสด อาเซียน

      "ถ้าเกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะเป็นหายนะของโลก" เป็นวาทะของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในวาระประชุมหารือทวิภาคีกับนายจอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ที่กรุงปักกิ่ง

      คำเตือนนี้มีขึ้นในช่วงที่สองมหาอำนาจมุ่งขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มากขึ้น ซึ่งอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งในภูมิภาคนี้ด้วย โดยเฉพาะข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่อาจทำให้อาเซียน "แบ่งฝ่าย" ระหว่างขั้วสหรัฐกับขั้วจีน

      ในการเสวนา TU-ASEAN ประจำปี 2557 วันที่ 7-8 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับท่าทีของอาเซียนในเวทีโลกและความสำคัญในระดับภูมิภาค

      มูฮาดิ ซูเกียโน จากศูนย์ศึกษาสังคมศาสตร์เอเชียตะวันออก เฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา แห่งอินโดนีเซีย กล่าวว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อาเซียนเปลี่ยนท่าทีจากความร่วมมือในเชิงอำนาจมาเน้นผลประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ดึงเอาชาติสมาชิกใหม่ที่ฝักใฝ่ในอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างมาเข้าร่วมกันในความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคด้วยตนเอง และอิงมหาอำนาจน้อยลง

      แม้อาเซียนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปรียบเสมือน "ห้องพูดคุย" ที่หาข้อสรุปหรือแนวทางการปฏิบัติงานไม่ได้จริงจังมาตลอด แต่มีข้อสังเกตว่า อาเซียนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงความร่วมมือจากการเมืองเรื่องอำนาจมาเป็นความร่วมมือเชิงเสรีนิยม และดึงเอาอำนาจในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเข้าประสานความร่วมมือกันได้


การประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุดที่พม่า

       เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ จากศูนย์ศึกษาอาเซียน สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สิงคโปร์ มองว่า ทั้งจีนและสหรัฐต่างมีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะจีนเองเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคมานานแล้ว ได้เปรียบทั้งจำนวนประชากร ขนาด และเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐเองก็มีพันธมิตรที่ใกล้ชิดทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น คอยถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค

      "แต่สิ่งอาเซียนต้องคิดต่อไปคือ เราไม่จำเป็นต้องเลือก "ข้างจีน" หรือ "ข้างสหรัฐ" แต่เราร่วมมือโดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเพิ่มอิทธิพลของอาเซียนทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมและค่านิยม ในฐานะกลุ่มที่มีความเห็นพ้องต้องกัน และส่งเสริมข้อตกลงที่ชาติสมาชิกอาเซียนทุกฝ่ายได้ตกลงกันไว้ โดยมีวิถีแห่งอาเซียนทำหน้าที่เป็นแนวทางในการรักษาความสงบในภูมิภาค อาเซียนอาจไม่ใช้ตัวแสดงที่สำคัญในระดับโลก แต่แน่นอนว่าเรากำลังเล่นบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

      ด้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า แน่นอนว่าสหรัฐต้องการคงอิทธิพลในภูมิภาค ขณะเดียวกัน จีนเองก็ต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้เช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่า ความขัดแย้งและบาดหมางที่สหรัฐกระทำในภูมิภาคนี้ จะทำให้จีนได้ช่องทางเข้ามากระชับสัมพันธ์ เช่นเรื่องการที่สหรัฐไม่เห็นด้วยกับการก่อรัฐประหารในประเทศไทย ทำให้จีนเปิดช่องกระชับสัมพันธ์กับรัฐบาลของคณะรักษาความสงบฯ เป็นต้น 


บรรยากาศในงานเสวนา TU-ASEAN 2014

      ศ.ดร.แคโรลินา เฮอร์นานเดซ จากสถาบันศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการพัฒนา ฟิลิปปินส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชาติสมาชิกอาเซียนแต่ละชาติต่างมีความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีกับมหาอำนาจ แต่อาเซียนจะต้องหาแนวทางที่อาเซียนดำเนินบทบาทเป็นศูนย์กลางเชิงนโยบาย ซึ่งจะช่วยในการจัดการเรื่องปัญหาความหลากหลายในภูมิภาค

       "อาเซียนมองชาติสมาชิกว่า เป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน แต่เราสนับสนุนชาติสมาชิกด้วยกันเองในการดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือไม่ หรือว่าเราเลือกใกล้ชิดและเอื้อผลประโยชน์ให้กับมหาอำนาจนอกภูมิภาคมากกว่า แล้วมาขัดแย้งกับคนในครอบครัวของเราเอง" ดร.เฮอร์นานเดซชี้ 

      "แน่นอนชาติสมาชิกของเรามีความหลากหลาย แต่ถึงจะแตกต่าง เราก็ไม่ควรเอาตัวออกห่างจากค่านิยมร่วมกันในภูมิภาค ซึ่งเน้นแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติ และเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ต้องคำนึงด้วยว่า แนวทางฉันทามติไม่ควรถูกตีความเป็นอย่างเดียวกับความเป็นเอกฉันท์"

      มัคมูร์ เคเลียต ศูนย์ศึกษาความร่วมมือเอเชียตะวันออก อินโดนีเซีย มองถึงค่านิยมในระดับโลกตอนนี้ว่า ประชาคมโลกหันมาให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น และการดำเนินบทบาทของอาเซียนจะมีส่วนสำคัญในการตัดสินอนาคตเชิงโครงสร้างอำนาจในระดับโลกและการถ่วงดุลอำนาจ

      "อาเซียนต้องดำเนินบทบาทที่เป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นศูนย์กลางทั้งในภูมิภาคและในระดับเอเชียแปซิฟิก อาเซียนผลักดันให้จีนปฏิบัติตามข้อตกลงความร่วมมือได้หลายอย่าง และเชื่อว่าเรามีศักยภาพพอในการจัดการกับโครงสร้างเชิงอำนาจของมหาอำนาจระดับโลกที่เข้ามาดำเนินกิจการในภูมิภาค" 

       ขณะที่ รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวเสริมว่า อาเซียนดำเนินบทบาทในการหาสมดุลอำนาจมาตลอด แต่ละชาติมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในแบบของตนอยู่แล้ว ขณะที่ในกรอบภูมิภาคก็มีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งข้อตกลงของอาเซียนที่มีอยู่น่าจะใช้เป็นกรอบสำหรับความร่วมมือได้

       ตอนนี้ ความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคแข็งแกร่งมากขึ้น และมีศักยภาพทั้งในด้านประชากร และเศรษฐกิจซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก หลายชาติอยากเข้ามาร่วมมือกับอาเซียน 

       "อาเซียนจะต้องดำเนินนโยบายในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสองมหาอำนาจ โดยดึงให้จีนเข้ามามีพันธะผูกพัน และดำเนินบทบาทที่ร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสัมพันธ์กับสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ใกล้ชิด เพื่อกันมิให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินนโยบายเผชิญหน้ากันอย่างสมบูรณ์" นักวิชาการรัฐศาสตร์กล่าว 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!