WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โฟกัส: '3 ล้านล้าน' กับ 5 ยุทธศาสตร์ลงทุน ระบบราง ทางบก-น้ำ-อากาศ

   ไทยโพสต์ : สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ประชาชนคงได้รับความสุขกันทั่วทุกภูมิภาค หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา'สั่งเดินหน้าคืนความสุขให้ประชาชน ซึ่งดูจากแนวทางแผนบริหารงานแล้ว เป็นการคืนความสุขให้ประชาชนแบบระยะยาวกันเลยทีเดียว

    โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า "ทุกย่างก้าวการเดินหน้าของ คสช.เน้นไปที่การประชุมกับปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีประจำกระทรวง เพื่อติดตามการปฏิบัติงานตามโครงการนั้นๆ พร้อมทั้งสั่งให้มีการรายงานปัญหาที่มีอยู่ เพื่อที่จะเร่งเดินหน้าและขับเคลื่อนทุกโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน"

    สำหรับ ข้อดีของการเข้ามาตรวจสอบทุกโครงการของ คสช. คือ สั่งให้ตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ที่ยังคงค้างการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2557 สำหรับโครงการที่จะเข้าดำเนินการตรวจสอบ ได้แก่ โครงการซึ่งเป็นแผนงานขนาดใหญ่ที่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทในขั้นต้น จะให้ฝ่ายต่างๆ พิจารณาตรวจสอบก่อน และแจ้งให้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป แล้วจัดทำเป็นข้อเสนอให้หัวหน้า คสช.ต่อไป

    ในการทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการของ คตร.จะดำเนินการตรวจสอบมี  3 ลักษณะ 1.หากโครงการใดที่ คตร.เข้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีความเหมาะสม จะให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ต่อไป  2.โครงการที่เข้าตรวจ สอบแล้วพบว่าต้องทบทวนเปลี่ยนแปลง จะให้ส่วนราชการแก้ไขให้เหมาะสมก่อนแล้วถึงจะดำเนินการ และ 3.โครงการที่ คตร.พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมจะให้ยกเลิกและหยุดดำเนินการ จะเห็นได้ว่ามีความเฉียบขาดทีเดียว

    มาดูกันว่า ในส่วนของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นของกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านี้ได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการที่มีความเหมาะสม เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผท.ทอ.) ในฐานะรองประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ พิจารณา

   "มองเห็นว่าประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งเป็นจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ให้สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็ว และสร้างจุดเชื่อมต่อที่สะดวกกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ส่วนแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมนั้น พบว่า ในภาพรวมมีทิศทางเดียวกับแนวทางของ คสช."พล.อ.อ.ประจิน ระบุสำหรับโครงการที่อยู่ในแผน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังไม่มีการยกเลิก หรือถอดออกจากแผนแม่บท ซึ่งทาง คสช.ขอเวลา 2 สัปดาห์ในการศึกษาข้อมูลพิจารณาความสำคัญของโครงการเพื่อดำเนินการต่อไป หากมีโครงการใดที่ต้องสานต่อจะเสนอให้คณะผู้บริหาร คสช.พิจารณา

   ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่มีการดำเนินการไปแล้ว จะมีการดำเนินการต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนผู้บริหาร  ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจินได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารายละเอียดแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งไทยทั้งหมด โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมเดิม ที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า 10 สาย การปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินของกรมทางหลวง (ทล.) ถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) การก่อสร้างท่าเทียบเรือ การขุดลอกร่องน้ำ รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยาน

   ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ถือเป็นยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2565 กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากแผนเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วจะดำเนินการใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นแผนแม่บทที่มีโครงการรวมทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จากเดิมที่ไม่ได้ใส่โครงการทางอากาศไว้

    ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ยังไม่มีการนำเสนอในแผนครั้งนี้ เพราะอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559

   ด้าน นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุภายหลังการประชุมนำเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ต่อ พล.อ.อ.ประจิน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ขอให้ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกจากแผนไปก่อน เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน

    ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า และนำกลับมาเสนอให้ พล.อ.อ.ประจินพิจารณาอีกครั้งก่อนวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ซึ่งแผนการใช้เงิน จะต้องมีการระบุรายละเอียดการใช้เงินแต่ละปีให้ชัดเจน

    ทั้งนี้ ได้ตัดโครงการไฮสปีดเทรนออกไปก่อน เพราะเห็นว่าไม่ได้เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วน ไม่ต้องรีบทำ โดยหากในอนาคตกระทรวงจะนำเสนอเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้

    ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าวงเงินโดยรวมมากกว่าวงเงินตาม  พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาลก่อน เนื่องจากว่า พล.อ.อ.ประจินต้องการให้มีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมพร้อมกันทั้งหมด ทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งตาม  พ.ร.บ.กู้เงินของเดิมไม่มีการลงทุนทางอากาศ ทำให้วงเงินน้อยกว่าแผนที่นำเสนอครั้งนี้

   ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า  ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย จะเป็นยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มจากแผนเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วจะดำเนินการใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์นี้จะถือเป็นแผนแม่บทที่มีโครงการรวม ทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จากเดิมที่ไม่ได้ใส่โครงการทางอากาศไว้

    ทั้งนี้ ในส่วนการลงทุนนั้น หน่วยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะสามารถใช้เงินลงทุนของตัวเองได้ ดังนั้นในส่วนโครงการที่เป็นของหน่วยงานราชการนั้น หลังจาก คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาแล้ว จะต้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดสรรงบประมาณอีกครั้ง

   โดยกระทรวงคมนาคม ได้จัดแผนออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.ยุทธศาสตร์รถไฟ จะมีโครงการรถไฟระหว่างเมือง เช่น รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 1.16 แสนล้านบาท คือ 1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท 2.มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท 3.ถนนจิระขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท 4.นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ เป็นงานปรับปรุงทางราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว

    2.โครงการติดตั้งเครื่องกั้นถนนเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้น 3.โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ และ 4.โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม โครงการก่อสร้างทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,364 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คือ 1.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. 2.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. 3.สุราษฎร์ธานีปาดังเบซาร์ ระยะทาง 339 กม. 4.ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. 5.ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. และ 6.ชุมทางถนนจิระอุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 696 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2  ล้านล้าน คือ 1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. 2.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. และ 3.ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง ระยะทาง 15 กม.

   2.ยุทธศาสตร์ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย ถนนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

   3.ยุทธศาสตร์ถนน เช่น โครงการถนนเชื่อมภูมิภาค เชื่อมระหว่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 ระดับ เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการทางพิเศษเชื่อมภูมิภาค 5 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-พระราม 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

   4.ยุทธศาสตร์ทางน้ำ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการขุดลอกร่องน้ำ การบำรุงรักษาร่องน้ำ

   5.ยุทธศาสตร์ทางอากาศ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการจัดจราจรทางอากาศ และการจัดซื้อเครื่องบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส โดยเฟส 1 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างหรือศึกษา วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เฟส 2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2559-2560

   สำหรับโครงการใหม่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการที่ต่อเนื่องมาจากเฟสแรกอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเฟส 3 คือโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีการนำเสนอในที่ประชุม แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ คือเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก หรือกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย

   ทั้งหมดนี้ ถือเป็นการเดินหน้าประเทศไทยในยุคทหารควบคุมอำนาจ ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่สุดแล้วบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

   จากนี้ไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด คงต้องรอหลังจากทุกโครงการผ่านกระบวนการพิจารณาความเหมาะสม ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ตามสโลแกน "คืนความสุขให้ประชาชน".

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!