WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คสช.สั่งศึกษารถไฟเร็วสูงสบน.รับลูกลงทุนตามแผนแม่บทสู่ประตูอาเซียน

    บ้านเมือง : แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับ รถไฟความเร็วสูงในประเทศลาวและจีน ทั้งนี้ การศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนรถไฟความเร็วสูง แหลมฉบัง-หนองคายดังนั้น เพื่อดูศักยภาพของเส้นทางสายนี้ มีเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเส้นทางในประเทศลาวนั้น รัฐบาลจีนจะลงทุนให้กับประเทศลาวทั้งหมด

    อย่างไรก็ตาม เส้นทางแหลมฉบัง-หนองคาย นั้น ไม่ได้อยู่ในแผนการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงใน 4 สายทาง คือโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร, เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร, เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร และเส้นทาง กทม.-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 9,282 กิโลเมตร รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 7.8 แสนล้านบาท

     แหล่งข่าว กล่าวว่า แผนแม่บทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้นคาดว่า คสช.จะมีการพิจารณาในสัปดาห์นี้ โดยจะยังไม่มีแผนการลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูง แต่จะเน้นการลงทุนในระบบรางคู่ และถนน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง เช่น สายสีชมพู เส้นทางช่วงแคราย-มีนบุรี และเส้นทางสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีนบุรี เป็นต้น ทั้งนี้ ตามแผนการลงทุน จะแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก ช่วงปี 57-58, เฟสที่ 2 ปี 59-60 และเฟสสุดท้าย ปี 61-65 รวมระยะเวลา 9 ปี ช้ากว่าแผนการลงทุนเดิมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่กำหนดลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท ไว้ 7 ปี

     ทั้งนี้ แม้จะมีการลงทุนตามแผนแม่บทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ฉบับ คสช. แล้วก็ตาม ภาระหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะไม่เกิน 50% ของจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดภาระหนี้สาธารณะ ไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี และจะสามารถทำให้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล สมดุลได้ภายในปี 60

    นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งให้นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์แทนตน โดยกล่าวว่า ในฐานะที่นางสาลินีเคยทำงานเป็นผู้บริหารของ ธปท. เชื่อว่าจะสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่สะสมอยู่ในธนาคารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีที่นางสาลินีจะสามารถเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวอย่างเต็มเวลา

    ขณะนี้ ตนได้เตรียมส่งมอบผลการดำเนินงานทุกด้านให้แก่นางสาลินี เพื่อให้สามารถสานงานต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีคดีฟ้องร้องทุจริตอดีตผู้บริหารของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีคดีใหญ่ๆ กว่าสิบคดีที่ต้องการให้นางสาลินีได้เข้ามาช่วยสานต่อ เพื่อผลประโยชน์ต่อธนาคารและผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ คดีทุจริตส่วนใหญ่นั้นได้ถูกตรวจพบโดย ธปท. ดังนั้นจึงมั่นใจว่า คดีทุจริตดังกล่าวจะได้รับการสะสาง

   สำหรับ ผลการดำเนินงานในช่วงที่ตนเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ หรือตั้งแต่ปี 54 ถึงปัจจุบันนั้น ตนสามารถบริหารงานธนาคารให้มีกำไรก่อนหักสำรองหนี้สูญทุกๆ ปี ล่าสุดปี 2556 ธนาคารมีกำไรก่อนหักสำรองฯ ประมาณ 1.6 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 389 ล้านบาท โดยยอดหนี้เสียได้ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผลจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีประสิทธิภาพในช่วงปี 52-54 ทำให้หนี้ทยอยกลับมาตกชั้นเป็นหนี้เสีย ทำให้ยอดหนี้เสียยังทรงตัวในระดับสูง

    ในช่วงปี 52-54 ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น โดยปลายปี 54 ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9.75 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อในช่วงต้นปี 52 จำนวน 4.34 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อในระยะแรกๆ นี้ จะยังไม่แสดงอาการหนี้เสีย แต่จะเริ่มปรากฏในช่วงปีถัดมา ทำให้ยอดการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในช่วงปี 53-55 เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!