WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

FTIดัชนี เชื่อมั่นอุตฯต่ำสุด 5 เดือนจี้รัฐเร่งเบิกจ่ายกระตุ้นยอดขายรถยนต์วูบ 12%

  ไทยโพสต์ : ศูนย์ฯ สิริกิติ์ * ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม มี.ค.58 ลดต่ำสุดในรอบ 5 เดือน สอท.จี้รัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน 2 แสนล้านบาท วอน กนง.ลดดอกเบี้ยแรง 0.5% กระทุ้งค่าบาทอ่อนด่วน ฟุ้งยอดส่งออกรถยนต์ มี.ค.2558 ทะลุ 1.27 แสนคัน โต 12.63%ดันยอดรวม 3 เดือนโต 12.6% ด้านยอดขายในประเทศยังร่วงต่อเนื่อง 11.8%

   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาห กรรมไทย เดือน มี.ค.2558 อยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากเดือน ก.พ.2558 ซึ่งมีระดับ 88.9 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แล้ว และถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ส่วนในช่วง 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ระดับ 100.4 จากเดือน ก.พ.2558 ระดับ 99.2 ซึ่งเป็นการกลับมาดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจาก ลดลงตั้งแต่เดือน ธ.ค.2558 ระ ดับ 101.7 เนื่องจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งธุรกิจในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เชื่อมั่นว่าผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลช่วงไตรมาส 3 (เม.ย.-มิ.ย.) ของ ปีงบประมาณ 2558 แต่เศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้นจริงหรือไม่ต้องติดตามสถานการณ์จริงอีกครั้ง

    "ภาคเอกชนได้เสนอแนะ ให้รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุนโดยเม็ดเงินลงทุนของ ภาครัฐที่วางไว้ประมาณ 200,000 ล้านบาท ควรจะทยอยออกมาได้ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ" นายสุพันธุ์กล่าว

   นายสุพันธุ์กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 เม.ย.2558 ว่า อยากให้พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% เพื่อทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 3-5% ทันที เพราะปัจจุบันภูมิภาคอ่อนค่าลงไปแล้วเฉลี่ย 6-7% ทำให้การส่งออกไทยเสียเปรียบ โดยการที่ กนง.ลดดอกเบี้ยช่วงที่ผ่านมา 0.25% ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเพียง 2-3% เท่านั้น จึงยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ดูแลค่าเงินบาทอาจใช้เครื่องมืออื่นเข้ามาดำเนินการนอกจากเครื่องด้านดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่ก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นด้วย อาทิ ฐานะการเงินประเทศ

   นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ในเดือน มี.ค.2558 ว่า ในเดือน มี.ค. มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ในปี 2531 โดยมียอดส่งออก 127,619 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.ปีก่อน 12.63% ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จ รูปรวม 3 เดือน มีจำนวน 328,232 คัน โตกว่าช่วงเดียวกันของปี 2557 ถึง 12.6% มีมูลค่า 146,884 ล้านบาท

   ทั้งนี้ สาเหตุที่ยอดส่งออก รถยนต์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากตลาดโลกมีความต้อง การรถอีโคคาร์สูงมาก ส่วนตลาดภายในประเทศเดือน มี.ค.2558 ที่ผ่านมา มียอดขาย 74,117 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.7% ทำให้ยอดขายในประเทศไตรมาส 1 มีจำนวน 197,787 คัน ลดลงจากปีก่อน 11.8% โดยสาเหตุที่ยอดขายลดลงมาจากการลงทุนและการเบิกจ่ายจากภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย ราคาสิน ค้าเกษตรยังไม่ดีขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว

  "กลุ่มอุตสาหกรรม รอดูตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์ที่ชัด เจนอีกประมาณ 2 เดือนจึงจะสามารถสรุปได้ว่าจะปรับลดเป้าหมายหรือไม่ และเท่าไร แต่ทั้งนี้มองว่าหากยอดส่งออกรถยนต์เติบโตในระดับ 10% โดยเฉลี่ยทั้งปี 2558 ก็จะสามารถมาทดแทนยอดขายภายในประเทศที่ลดลง ได้ และอาจจะทำให้ยอดขายรวม ทั้งปีอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.15 ล้านคัน สูงกว่าปีก่อนที่มียอดขาย 1.88 ล้านคัน" นายสุรพงษ์กล่าว.

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งในรอบ 5 ด.เผยเหตุหวั่นภาวะ ศก.-การเมืองฉุดดัชนีร่วง

   บ้านเมือง : ส.อ.ท.เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค.58 ลดลงมาอยู่ระดับ 87.7 จาก 88.9 ในเดือน ก.พ. ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เหตุหวั่นภาวะเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมือง กระตุ้น กนง.ลดดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.50 ด้าน ก.พาณิชย์ เปิดโครงการพี่จูงน้องหวังรายใหญ่ช่วย SMEs ขยายตลาดไป ตปท.

   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค.58 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค.58 ลดลงมาอยู่ระดับ 87.7 จาก 88.9 ในเดือน ก.พ. ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เหตุหวั่นภาวะเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมือง ซึ่งค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากยอดสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณผลิต ต้นทุนและผลประกอบการล้วนลดลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ประกอบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ขีดความสามารถของประเทศลดต่ำลงและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ขณะที่เงินบาทแม้จะอยู่ที่ประมาณ 32.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ากว่าค่าเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ที่ 32.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังแข็งค่ากว่าคู่แข่งเมื่อเทียบกับภูมิภาค

    ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดอยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ที่ 99.2 เกิดจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณผลผลิตและผลประกอบการจะดีขึ้น โดยเอกชนหวังเห็นรัฐบาลเร่งใช้จ่ายงบประมาณ 200,000 ล้านบาทในไตรมาส 2 และ 3 หากไม่ได้จะกระทบหนักต่อเศรษฐกิจ

   ประธาน ส.อ.ท. ยังคาดหวังให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 เม.ย.นี้ ลดดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.50 จากอัตราปัจจุบันร้อยละ 1.75 เพราะคาดหวังจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าร้อยละ 6 ใกล้เคียงกับค่าเงินในภูมิภาค เพราะหากลดลงร้อยละ 0.25 เงินบาทจะอ่อนค่าร้อยละ 0.25 เท่านั้น ซึ่งการลดลงในอัตราสูงจะมีผลต่อจิตวิทยาเมื่อบาทอ่อนค่าจะส่งผลให้การส่งออกดีขึ้น

   นายสุพันธุ์ กล่าวด้วยว่า เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทยเข้าพบหารือเรื่องความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม ซึ่งได้พูดคุยว่า ส.อ.ท.พร้อมช่วยเหลือเนปาล โดยสามารถบริจาคได้ในบัญชีมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดูได้จากเว็บไซต์ของ ส.อ.ท.และพร้อมให้การช่วยเหลือร่วมกับรัฐบาลไทยในการเข้าไปช่วยเหลือเนปาล

   ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในพิธีเปิดตัวโครงการพี่จูงน้อง โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ว่า โครงการพี่จูงน้อง ถือเป็นโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ได้มีโอกาสเปิดตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงพาณิชย์มุ่งหวังจะสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ ช่วยส่งเสริมการตลาด หาช่องทางการจัดจำหน่าย และการทำการตลาดในต่างประเทศ อันเป็นนโยบายที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถ และทักษะเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ให้แข็งแรงและเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

    ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการพี่จูงน้องจะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจแบบรอบด้าน พัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการในลักษณะพี่สอนน้อง ให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น การตลาด การออกแบบสินค้า การจัดจำหน่าย ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และภาคเอกชนต่อภาคเอกชนนั้น จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้า ขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น สร้างงาน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนในชาติได้ต่อไป

    ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก กระทรวงพาณิชย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ยังมีประสบการณ์และความรู้ในการส่งออกน้อยให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเติบโตได้ โดยมีภาครัฐเป็นตัวกลางในการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มสหพัฒน์ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ และบริษัทล็อกเลย์ เป็นพี่เลี้ยงแนะนำช่วยเหลือการต่อยอดธุรกิจ และให้คำแนะนำให้สามารถขยายไปตลาดต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!