WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Fสพนธ มงคลสธกกร.จ่อลดจีดีพี-ส่งออกติดลบเพิ่ม อ้อนบีโอไอจูงใจภาษีมากขึ้น รอลุ้นผลมาตรการกระตุ้นใหม่

     นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 2 ก.ย.นี้ คาดว่า กกร.จะมีการปรับตัวเลขประมาณการการส่งออกและอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีใหม่อีกครั้ง โดยเบื้องต้นส่งออกคาดว่าจะติดลบ 4% จากเดิมตั้งเป้าว่าจะติดลบ 2% เท่านั้น และจีดีพีจะโตต่ำกว่า 3% จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 3.5% “การปรับเป้าตัวเลขดังกล่าว มีปัจจัยหลักมาจากตัวเลขส่งออก 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ที่ล่าสุดติดลบ 4.66% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะจีนก็ยังคงชะลอตัว ทำให้ตลาดส่งออกหลักๆยังคงไม่ดีขึ้นและยังมีปัญหาค่าเงินหยวน ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและประเมินแนวโน้มอีกครั้ง ส่วนสหรัฐฯที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มจะค่อยๆฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น”

     สำหรับ การลงทุนในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้นักลงทุนทั่วโลกชะลอการลงทุนออกไป เพื่อรอประเมิน ความชัดเจนก่อน ดังนั้นหากรัฐบาลจะเร่งให้เกิดการลงทุน ก็ควรจะมีการปรับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จูงใจด้านภาษีมากขึ้นในบางอุตสาหกรรม จากที่ถูกตัดลดลงไปตามยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอ

   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนอยู่ระหว่างติดตามและประเมินผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของจีดีพีของประเทศมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะล่าสุดที่กระทรวงการคลังเตรียมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงการขนาดเล็ก 130,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนในระยะยาว รัฐบาลต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบราง และส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลต่อเนื่อง “ภาคเอกชนยังต้องการเห็นความคืบหน้าจากภาครัฐในการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-อินเดีย ไทย-ปากีสถาน ไทย-ตุรกี รวมถึงการผลักดันการค้าชายแดนให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)”.

   ที่มา : www.thairath.co.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!