WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BCอสระ วองกศลกจกกร.วาดฝัน ศก.โต 3.5% เอกชนมั่นใจตั้งเป้าส่งออกปีวอกขยายตัวได้แน่

     บ้านเมือง : กกร.คาดเศรษฐกิจไทยโต 3-3.5% เหตุการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงผลักสำคัญ ระบุส่งออกโตได้ 2% ด้านสภาส่งออกฯ คาดเป้าหมายการส่งออกปีนี้ขยายตัว 5% ขณะที่ ส.ผู้ค้าปลีกไทย ชี้เศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัว 3.2-5% จากโครงการใหญ่ของรัฐและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้าไทย 30 ล้านคน

      นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แถลงภายหลังการประชุมนัดแรกปี 2559 ว่า กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว ในระดับ 3-3.5% จากปัจจัยการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นสำคัญ รวมถึงภาพรวมการท่องเที่ยวที่จะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปี 58 ที่มียอด นักท่องเที่ยวเกือบ 30 ล้านคน และการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว นักท่องเที่ยวจีน จะเที่ยวระยะไกล ซึ่งประเทศไทยเป็นเป้าหมายหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

      ด้านการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าประมาณ 2% จากในปีที่ผ่านมาติดลบประมาณ 5% ซึ่งการขยายตัวของภาคการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มตลาดประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะในกลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV แต่ยังมีปัจจัยลบที่น่ากังวลในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และจีดีพีของจีนที่จะเติบโตไม่ถึงประมาณ 7% และจะส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยให้เติบโตลดลง ขณะที่ปัจจัยลบภายในประเทศเช่น ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตร ที่ไม่ดีขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่จะส่งผลกระทบได้แก่ การร้ายในกลุ่มประเทศยุโรป และเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

     นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดหวังว่า การใช้จ่ายโครงการลงทุนภาครัฐจะใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 20% ของโครงการในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจขยายตัว

    นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกปี 2559 ที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณ 5% หรือมูลค่าประมาณ 225,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเดือนละ 18,812.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันผลักดัน ขณะที่สภาผู้ส่งออกฯ คาดการณ์ว่าปีนี้จะส่งออกได้เกิน 219,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเดือนละ 18,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโต 2% ส่วน ธปท.คาดว่าการส่งออกปีนี้จะไม่ขยายตัว หรือมูลค่าประมาณ 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ไม่ฟื้นตัวและการเงินที่ผันผวน ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ขยายวงเพิ่มขึ้น และภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

    นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออกฯ กล่าวว่า การส่งออกปี 2558 ที่ติดลบต่อเนื่องตลอดทั้งปีสะท้อนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย มีเพียงกลุ่มประเทศ CLMV ยังเป็นบวก ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยโดยเฉพาะจีนตกต่ำ ประกอบกับลดค่าเงินหยวน ทำให้การแข่งขันราคาสินค้าของไทยยาก ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง การเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนรอดูท่าที ในส่วนของไทยไม่ได้รับผล กระทบมาก แต่ประเทศคู่ค้าของไทยได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยากต่อการแข่งขันในการส่งออก ประกอบกับส่งออกสินค้าพื้นฐานอื่นๆ บวกลบสลับกันไป มีเพียงอัญมณีที่ส่งออกเติบโตประมาณ 100% ช่วยพยุงรายได้การส่งออก ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไข

      น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาขนผ่านมาตรการช้อปปิ้งช่วยชาติ โดยให้ผู้ที่มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินประมาณ 15,000 บาทจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ได้จ่ายไป มาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีนั้น เป็นสัญญาณที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เพราะก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกินประมาณ 15,000 บาทสำหรับผู้ใช้จ่ายเป็นค่าบริการแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหรือค่าโรงแรมภายในประเทศมาแล้วตั้งแต่วันที่ 16-31 ธันวาคม 2558 ดังนั้นเมื่อรวมกับมาตรการลดหย่อนภาษีเท่ากับว่าประชาชนสามารถลดหย่อนภาษีได้รวมถึงประมาณ 30,000 บาท เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการจับจ่ายในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางเป็นต้นไป ถือเป็นมาตรการที่ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวช่วยดันให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตขึ้นประมาณ 3.05% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 2.8%

     สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะโตขึ้น 3.2-5 % โดยมีปัจจัยมาจากการทำโครงการใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ของรัฐ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยประมาณ 30 ล้านคน

ลุยลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท กกร.ลุ้น 'จีดีพี'ขยายตัว 3.5%ส่งออกพุ่ง 2%

   กกร.ประเมินปีนี้ จีดีพีขยายตัว 3-3.5% ส่งออกเติบโต 2% “ส.อ.ท.คาด ยอดลงทุนจริงๆ ภาครัฐเอกชน ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ด้านสรรพากร ระบุ มาตรการจูงใจเอสเอ็มอีเข้าระบบ ฉุดรายได้ร่วง 1 หมื่นล้านบาท

     นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการ ค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะเติบโต 3-3.5% โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์ และการกระจายงบประมาณของรัฐบาล ขณะที่การส่งออก คาดว่าสามารถขยายตัวได้เพียง 2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะซบเซา โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่คาดว่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 7% และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปก็ยังชะลอตัว ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออก รวมถึงภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระดับโลก

    “ปัจจัยบวกที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะเป็นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ที่คาดว่าค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงอีก ช่วยให้ผู้ส่งออกแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้ดีขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่ผ่านมาของภาครัฐ ในมาตรการซื้อสินค้าไม่เกิน 15,000 บาท สามารถหักลดหย่อนการคำนวณภาษีได้ ช่วยกระตุ้นยอดขายให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเติบโต 15-20% เกิดเม็ดเงินสะพัด 10,000 ล้านบาท ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการอุปโภค บริโภคในประเทศ

      ขณะที่เหตุการณ์การตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน เบื้องต้นการค้าระหว่างไทย-อิหร่าน ยังไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้อย แต่ในอนาคตภายหลังจากที่สหประชาชาติยกเลิกการคว่ำบาตรแล้ว จะมีปริมาณการค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

     นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปีนี้คาดว่ายอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเป็นไปตามเป้าหมาย 450,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นการลงทุนทำธุรกิจจริง 30-40% หรือ 135,000-180,000 ล้านบาท และยังมีเม็ดเงินลงทุนจากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ ค้างท่อปี 2557-2558 อีก 2 ล้านล้านบาท คาดว่าจะลงทุนจริงในปีนี้ 50% หรือ 1 ล้านล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐในโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่จะลงทุนจริง 20% จากวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 380,000 ล้านบาท

      “ผมมั่นใจว่า กรณีดังกล่าว จะทำให้ในปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3%”

     นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การออกพระราชกำหนดยกเว้น และสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 ยืนยันไม่ใช่การนิรโทษกรรมภาษี แต่เป็นการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และจะยกเว้นภาษีจูงใจในปีแรก โดยเสียเพียง 10% ในปีที่ 2 ซึ่งประเมินว่า มาตรการนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มมากขึ้น โดยหากเอสเอ็มอี 81% หรือ 340,000 ราย เข้าสู่ระบบภาษี จะทำให้รัฐเสียรายได้ 10,000 ล้านบาท จากมาตรการจูงใจยกเว้นภาษี แต่จะมีภาษีทางอ้อมกลับคืนมา เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งรายได้ที่สูญเสียไปถือว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการวางรากฐานเอสเอ็มอีของประเทศ

      นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว เป็นจุดหักเหที่สำคัญของประเทศ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีอยู่ในระบบสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น อีกทั้งภาครัฐมีฐานระบบผู้เสียภาษี.

                        ที่มา : www.thairath.co.th

นานาทัศนะเศรษฐกิจโลก/ชี้ส่อฟื้นตัวลุ้นส่งออกไม่ติดลบซ้ำปี'58

    แนวหน้า : 'ดร.สมภพ'ชี้ส่งออกปีนี้น่าจะโตได้ในช่วง 0-3% แต่โอกาสจะไม่เติบโตเลยก็เป็นไปได้ ขณะที่ "ธนวรรธน์" มอง ในแง่ดี เชื่อเศรษฐกิจโลกปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในประเทศ

     นายสมภพ มานะรังสรรค์ ประธานกรรมการสภาสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ให้ความเห็นการส่งออกในปี 2559 ว่า การส่งออกไทยน่าจะโตได้ที่ 0-3% ซึ่งมีโอกาสจะไม่เติบโตเลย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะมีความผันผวนสูง คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสจะปรับ FED Fund Rate อีกประมาณ 4 ครั้งในปีหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมาก โดยอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการส่งออกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างประเทศมีปัญหามากขึ้น โดยหากสินค้าประเทศไหนราคาถูก ผู้บริโภคก็จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศนั้น และจะมีผลทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการค่าเงินในเรื่องนำเข้าและส่งออกสูงขึ้น

      ส่วนการส่งออกปี 2558 ที่ติดลบ ประมาณ 5% ถือว่าเป็นการติดลบที่ หนักสุด ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แต่การติดลบระดับนี้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะ มูลค่าส่งออกไทยยังใกล้เคียงที่ 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

   อย่างไรก็ดี นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองในแง่ดีว่า ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2559 เป็นไปได้ที่การส่งออกของไทยแต่ละเดือนจะมีมูลค่า 19,000-20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน่าจะทำให้การส่งออกไทยในปี 2559 ขยายตัวได้ที่ 3-5% ไม่ยาก

      โดยตลาดส่งออกที่น่าสนใจในปีหน้ามองว่าตลาดเอเชีย และตลาดอาเซียน ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ มีชนชั้นกลางมากขึ้น เป็นตลาดของคนรุ่นใหม่ ต่างจากตลาดยุโรปและญี่ปุ่นที่มีคนสูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนที่อยู่ใกล้กับไทย มีการขนส่งที่รวดเร็วกว่าส่งไปประเทศอื่น และประเทศกัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนามหรือกลุ่ม CLMV เป็นประเทศที่กำลังเริ่มพัฒนาประเทศ และใช้สินค้าไทยเป็นทุนเดิม จึงน่าจะส่งสินค้าไทยเข้าไปได้ไม่ยาก และการที่อยู่ใกล้ไทยมาก ก็จะมีการใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดนได้

       ขณะที่ตลาดจีนก็ต้องเจาะลึกไปเป็นมณฑลมากขึ้น รวมถึงตลาดใหม่ๆอย่าง ลาตินอเมริกา แอฟริกา รัสเซีย ก็เป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม ส่วนการส่งเสริมการค้าภาคบริการของรัฐ มองว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยปกติงานด้านบริการจะอยู่ในเรื่องของการส่งออก เช่น โลจิสติกส์ หากทำให้มีการบริการมีคุณภาพ ก็จะทำให้มีการใช้บริการมากขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ด้วย ขณะที่ทางอ้อม เช่น สปา โรงแรม โรงพยาบาล หากมีการบริการที่ดี จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจเข้ามาเที่ยวในไทย เกิดการซื้อสินค้าไทย เกิดการใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวเลขบัญชีเดินสะพัดของไทย

    นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่าปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ที่ต้องมีการจับตามองคือเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพราะหากราคาน้ำมันลดลงต่ำไปถึงที่ระดับ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ประเทศผู้ค้าน้ำมันรายได้ลดลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ และเศรษฐกิจโลก สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันจะได้รับผลกระทบ และไทยจะได้รับผลทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยลดลงตามไปด้วย รวมถึงจะกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย อีกทั้งเศรษฐกิจโลกก็ยังต้องมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนตลาดการส่งออกปี 2559 จะเน้นในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV รวมถึง จีน สหรัฐ ส่วนยุโรปต้องติดตามดูต่อไป

      นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภาคบริการถือเป็นภาคธุรกิจของไทยที่มีศักยภาพสูง ซึ่งในปี 2559 กระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจบริการมากขึ้น เนื่องจากในปี 2559 น่าจะมีปัจจัยลบอยู่หลายปัจจัยที่ทำให้การส่งออก การค้าสินค้าปกติ มีอุปสรรคค่อนข้างมาก จึงต้องหันมาดันภาคบริการ ให้เข้ามาชดเชยด้านการส่งออก และจะทำให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้นได้

        "นับจากนี้การตั้งตัวเลขเป้าหมายส่งออกอาจเชยไปรึเปล่า ซึ่งในอนาคตการตั้งตัวเลขเป้าอาจไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องกังวลมาก เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการไทยได้เน้นการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งตัวเลขก็จะเป็นการส่งออก จากประเทศนั้นๆ แต่ที่สุดก็จะมีรายได้ เข้าไทยมากกว่า โดยแน่นอนว่าธุรกิจบริการจะเป็นตัวที่ทำรายได้ให้ไทยอย่างมาก และจะชดเชยตัวเลขการส่งออก ที่ลดลงได้"

        ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 5% มูลค่าประมาณ 225,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ โดยเป็นการตั้งเป้าหมายการทำงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันการ ส่งออกให้ถึงเป้าหมาย โดยวาง 7 ยุทธศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศปี 2559-2564 เอาไว้ และได้นำเสนอในที่ประชุม พกค. แล้ว โดยยุทธศาสตร์แรก คือการเปิดประตูการค้า ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการเร่งขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยจะมีการเน้นไปที่ตลาดอาเซียนเป็นหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการค้าชายแดน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การประกอบธุรกิจและการลงทุนในต่างประเทศ และสุดท้ายยุทธศาสตร์ที่ 7 คือการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมส่งออก ทั้งการออกแบบ นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ซึ่งต้องจับตาว่า เมื่อ สิ้นปี 2559 นี้ จะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ หรือติดลบต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!