WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ชงคสช.ดัน 8 ข้อคุมคอรัปชั่น บสย.ปล่อยกู้อุ้มเอสเอ็มอีฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก

      บ้านเมือง : นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นฯ ย้ำมาตรการเร่งด่วน 8 ข้อที่ได้นำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปก่อนหน้านี้ โดยขอให้ คสช. ผลักดันทั้ง 8 เรื่องให้สำเร็จก่อนการจัดตั้งสภาปฏิรูป ซึ่งมั่นใจว่าหาก 8 เรื่องได้รับการแก้ไขจะช่วยหยุดปัญหาคอรัปชั่นในสังคมไทยได้ สำหรับ 8 เรื่อง มี 4 เรื่องที่ คสช. สามารถประกาศเป็นนโยบายของรัฐได้ทันที ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย ประกอบด้วย การสร้างความไว้วางใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน, รัฐเป็นผู้นำในการต่อต้านคอรัปชั่น, กำหนดให้มีมาตรฐานที่โปร่งใสในกระบวนการให้บริการของภาครัฐ, แก้ปัญหาคอรัปชั่นในรัฐวิสาหกิจ ส่วนอีก 4 เรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือการแก้ปัญหาเรียกเงินสินบนในการออกใบอนุญาต, การแก้ปัญหาคอรัปชั่นที่ต้นตอ, การแก้ไขปัญหาประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ และการสร้างมาตรการทางกฎหมายเพื่อจับกุมลงโทษคนโกง

     นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วยประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แถลง "แผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอส เอ็มอี" มาตรการฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อในปีแรกให้เอสเอ็มอี ผ่านโครงการ PGS 5 โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระชำระค่าธรรมเนียม ค้ำประกันแทนเอสเอ็มอี ปีแรกวงเงิน 926 ล้านบาท โดยเปิดให้ยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือจนครบวงเงินค้ำประกัน 55,000 ล้านบาท คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เม็ดเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าของวงเงินค้ำประกัน หรือเป็นสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 500,000 ล้านบาท

     นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์เริ่มให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยได้ดีอีกทางหนึ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่วงเงินร้อยล้านพันล้านบาท มีการแข่งขันค่อนข้างสูง จึงได้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยต่ำลง แต่ยอมรับว่าเอสเอ็มอีมีระบบบัญชีงบการเงินที่ยังไม่มีมาตรฐาน ธนาคารจึงต้องมีแผนวัดผลดำเนินการและดูแลเอสเอ็มอีให้มากขึ้น โดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ประมาณ 2-3 ล้านราย จากเดิมเข้าถึงสินเชื่อเพียง 700,000-800,000 ราย ยอมรับว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเริ่มดีขึ้น ประชาชน นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น การลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มเดินหน้าจากงบประมาณปี 2558 จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ประมาณ 4-4.5% ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ประมาณ 8-10% คาดว่าทั้งปี จีดีพีจะเติบโตประมาณ 2.5-3% ทำให้สินเชื่อปีนี้น่าจะขยายตัวดีขึ้น

      นายธัชพล กาญจนกูล ประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กล่าวว่า แบงก์รัฐร่วมขับเคลื่อนเอสเอ็มอี เพราะเป็นวาระแห่งชาติ จากที่ผ่านมาธนาคารออมสินลงนามไปแล้วกับ 6 พันธมิตรในการช่วยเหลือคัดกรองเอสเอ็มอี เพื่อส่งมาให้พิจารณาสินเชื่อในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้น่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรม เนื่องจากเอสเอ็มอีในระบบมีกว่า 2.9 ล้านราย และพบว่าประมาณ 2.3 ล้านรายเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสัดส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตถึงประมาณ 37% หากเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นจะมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากกว่าประมาณ 40% มีความสำคัญเหมือนกับหลายสาขาเงินทุน

     ซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินมีมาตรการสนับสนุนผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ ซึ่งขณะนี้มีทยอยเข้ามากู้ 2,000-3,000 รายแล้ว และเดือนหน้าจะเร่งเดินหน้าโครงการเต็มที่

      นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารออมสินจะเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นอีก 20,000-30,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดทั้งปี 70,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.5% ซึ่งถือเป็นอัตราขยายตัวที่เร็วมากเพราะความต้องการสินเชื่อรายย่อยมีอัตราการเติบโตสูง ขณะที่ครึ่งปีหลังนี้ หากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มอีก 20,000-30,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะให้สินเชื่อใหม่ตลอดทั้งปีนี้ขยายตัวถึง 90,000 ล้านบาท

      พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้หารือกับนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และคณะรวม 15 เพื่อนำเสนอแผนการส่งเสริมการลงทุนและแผนการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยยังได้นำเสนอแผนการปฏิรูปตลาดทุนไทยด้วยมาตรการ 3 ข้อ คือ 1.การใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือหรือช่องทางลงทุนของภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพในรัฐวิสาหกิจ 2.การสร้างระบบการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของรายได้ประชากรในระยะยาว และ 3.การปฏิรูปโครงสร้างของตลาดทุนมากขึ้น และไม่เป็นภาระต่อเงินงบประมาณ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!