WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8614 ข่าวสดรายวัน


พลิกปม 396 โรงพักฉาว ปัดฝุ่นเดินหน้าโครงการ เพิ่ม 1.7 พันล.-รื้อคดี วัดใจคสช.ปราบทุจริต

แฟ้มคดี

   ร่วมเดือนแล้ว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามาทำหน้าที่องค์รัฏฐาธิปัตย์ แม้ภารกิจหลักที่ประกาศไว้ คือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สลายสีเสื้อ สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ

   แต่กระนั้นภารกิจประจำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ก็ยังต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประเทศต้องหยุดชะงัก 

    ทั้งโครงการก่อสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้าน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติใจป้ำเสนอให้ใหม่ในวงเงิน 3 ล้านล้าน

0

    อีกด้านหนึ่งก็ออกมาตรการถี่ยิบ เพื่อจัดระเบียบสังคม เปิดแนวรบกับมาเฟีย ผู้มีอิทธิพลต่างๆ ทั้งคิวรถตู้เถื่อน วินจักรยานยนต์ ปราบหวย บ่อน ซ่อง เรียกคะแนนนิยมได้ในระดับหนึ่ง

   แต่ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่กัดกินสังคมไทยอย่างหนักมาทุกยุคทุกสมัย ก็คือการ ทุจริตคอร์รัปชั่น 

    ซึ่งการแก้ปัญหาก็ต้องใช้ความเด็ดขาดจริงจัง ไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ สิ่งที่คาทิ้งไว้ต้องปัดกวาดให้หมดจด

    อย่างปัญหาโครงการสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ที่รัฐบาลอนุมัติงบฯก่อสร้างเรียบร้อย จัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อย แต่งานก่อสร้างกลับ ไม่เดินหน้า

    ข้าราชการตำรวจต้องดัดแปลงห้องส้วมเป็นห้องขังผู้ต้องหา ส่วนที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องใช้ใต้ถุนแฟลต บางที่ต้องไปอาศัยศาลเจ้าเป็นที่นั่งประชุม

     สุดท้ายครบเวลาตามสัญญา

    บางแห่งยังเหลืออยู่แค่เสาเข็มสนิมเขรอะ!?!

     ย้อนปูมคดีโรงพักร้าง 

    ที่มาของโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนทั่วประเทศ 396 หลัง วงเงิน 6,672 ล้านบาทของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็น 1 ในโครงการไทยเข้มแข็งในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงที่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2551 

     โดยเริ่มมีเรื่องอื้อฉาวมาตลอด จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 เข้ามารับช่วงบริหารประเทศ โครงการนี้ก็เป็น 1 ในโครงการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 

    จนกระทั่ง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย นำมาเป็นข้อมูลปราศรัยอภิปรายไม่ไว้วางใจร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ดูแลรับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

    โดยกล่าวหาว่าบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ดูแลกำลังพล เพราะตำรวจนับหมื่นนายทั่วประเทศไม่มีโรงพักทำงาน เนื่องจากการก่อสร้างโรงพักทดแทนไม่แล้วเสร็จตามกำหนด

    บางแห่งผู้รับเหมาทิ้งงานหนีไปดื้อๆ ทั้งที่ทุบโรงพักเก่าทิ้งแล้ว แต่โรงพักใหม่ก็มีแค่เสาเข็ม 

    เมื่อสืบสาวเรื่องราวลึกเข้า ความจริงก็เริ่มปรากฏ ว่าโครงการนี้มีการทำสัญญาระหว่างปี 2552-2554 ซึ่งเป็นสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และมีรองนายกฯ ที่คุมตำรวจชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งเลขาธิการ กปปส. อีกตำแหน่งหนึ่ง!?!

เมื่อตรวจสอบถึงผู้รับเหมา ก็พบชื่อบริษัท พีซีซี ดีเวลลอป เม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 292/1 ถ.เชียงใหม่-ลำปาง ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เดิมชื่อกิจการร่วมค้าพีซีซี ต่อมาวันที่ 27 ส.ค. 2550 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท พีซีซี ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เป็นผู้รับเหมาเพียงรายเดียวทั่วประเทศ 

พิรุธปมรวมสัญญาประมูล

หลังเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นมา ทีมงานพรรคเพื่อไทยลงสำรวจข้อมูล ก็พบว่าโรงพักทุกแห่งล้วนทำไม่เสร็จตามสัญญา แถมผู้รับเหมาที่รับช่วงต่อจากบริษัทพีซีซี ก็ทิ้งงานไป กระทั่งวันที่ 24 ธ.ค. 2555 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ นำเอกสารหลักฐานยื่นต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น เพราะเห็นว่าเข้าข่ายทุจริต และมีการฮั้วประมูล 

นายธาริตจึงตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล จนพบว่าจุดเริ่มต้นมาจากเงินโครงการไทยเข้มแข็งที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กู้เงิน 4 แสนล้านบาทมาใช้จ่าย และให้แต่ละหน่วยงานทำโครงการขึ้นมาเบิกเงิน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้น จึงเสนอโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 หลัง แบ่งเป็นสถานีตำรวจขนาดใหญ่ 88 หลัง ขนาดกลาง 136 หลัง และขนาดเล็ก 172 หลัง 

ซึ่งช่วงแรกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอแยกประมูลเป็นรายภาคกองบัญชาการตั้งแต่ภูธรภาค 1-9 รวม 12 สัญญา เพราะโรงพัก 396 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งนายสุเทพปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2552 

เรื่องดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ห้วงเวลาดังกล่าวที่เกิดปัญหาการแต่งตั้งผบ.ตร.หลังจากที่พล.ต.อ.พัชรวาทพ้นเก้าอี้ไป ที่นายอภิสิทธิ์ต้องการเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นเป็นผบ.ตร. แต่ไม่สำเร็จ เพราะคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เห็นว่าพล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย มีความเหมาะสมกว่า

นายอภิสิทธิ์จึงใช้วิธีตั้งพล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาราชการแทนผบ.ตร.จนเกษียณอายุราชการ

ช่วงนั้นเอง ในวันที่ 8 พ.ย. 2552 ช่วงที่พล.ต.อ.ปทีปรักษาราชการแทนผบ.ตร.นั้น นายสุเทพมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิม เปลี่ยนให้เป็นการรวบข้อมูลสัญญาเดียวในส่วนกลาง โดยพล.ต.อ.ปทีปชี้แจงว่าเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณ 

ต่อมานายสุเทพให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้จัดจ้างบริษัท พีซีซี เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 5,848 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2553 

โดยสัญญาดังกล่าวเริ่มต้นวันที่ 26 มี.ค. 2554 สิ้นสุดวันที่ 17 มิ.ย. 2555 เวลาการก่อสร้างรวม 450 วัน แต่บริษัทขอขยายสัญญา 4 ครั้ง ครั้งแรกขยาย 30 วัน ครั้งที่ 2 ขยาย 180 วัน ครั้งที่ 3 ขยาย 60 วัน และครั้งที่ 4 ขยายอีก 30 วัน ซึ่งสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 17 เม.ย. 2556 

กระทั่งวันที่ 17 มิ.ย. พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย แถลงยกเลิกสัญญาการก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่งทั่วประเทศ กับบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น เนื่องจากผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานให้ครบและสมบูรณ์ทั้งหมดตามสัญญา โดยดำเนินการก่อสร้างทั้งโครงการ 755 วัน เพียง 12 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผบ.ตร.อนุมัติบอกเลิกสัญญาจ้าง มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2556 

ดีเอสไอแย้งอัยการไม่ฟ้องพีซีซี

ด้านคดีความ หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องพิจารณา พบข้อพิรุธหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการอนุมัติจัดจ้าง จากอำนาจของแต่ละกองบัญชาการภูธรภาค เป็นการประมูลจากส่วนกลาง เพื่อจ้างเหมาเอกชนเพียงรายเดียว 

ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วไม่สามารถทำได้ เพราะสัญญาระบุชัดเจนว่าห้ามไม่ให้จ้างช่วงต่อ ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เอกชนทิ้งงาน และยังพบว่าบริษัทคู่สัญญาเบิกเงินไปแล้ว 2 งวด รวมกว่า 1,500 ล้านบาท 

ลักษณะการกระทำโดยจัดจ้างก่อสร้างอาคารรวมกันในครั้งเดียว อาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 13 ประกอบมาตรา 11 ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำความผิดโดยการกำหนดเงื่อนไข มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ ผู้เสนอราคารายใด มิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งดีเอสไอจะได้ดำเนินการสืบสวนต่อไป เพราะเป็นเรื่องผิดปกติ 

อีกทั้งยังพบพิรุธที่บริษัทพีซีซีใช้เอกสารในส่วนของเอกสารรายงานการตรวจรับงานก่อสร้างของโรงพัก เพื่อขอเบิกเงินเกินบัญชี (โอดี) จำนวน 600 ล้านบาท 

จนกระทั่งวันที่ 13 มิ.ย. พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงหอบแฟ้มเอกสารหลักฐานสั่งฟ้องบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานบริษัท นายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการ และนายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล กรรมการบริษัท เป็นผู้ต้องหาที่ 1-4 กล่าวหาว่ามีความผิดอาญา ฐานร่วมกันฉ้อโกงเงินค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาเช่าช่วง กว่า 90 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 

แต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2556 นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เผยว่า มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพิจารณาว่าไม่ได้เป็นการหลอกลวง แต่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาช่วงตามงวดสัญญา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างสถานีตำรวจให้เสร็จสิ้นได้ และบริษัทพีซีซีก็เคยเป็นผู้รับเหมา มีประวัติการทำงานก่อสร้างโครงการใหญ่มาก่อน เห็นว่าบริษัทพีซีซีไม่มีเจตนาฉ้อโกงและไม่มีมูลทางคดีอาญา จึงสั่งไม่ฟ้อง 

ป.ป.ช.เงียบ-จับตาคสช.จี้คดีทุจริต

ส่วนคดีฮั้วประมูล ที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาร่วมทุจริต ร่วมกันเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคานั้นต่ำมากเกินกว่าปกติ ก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าประมูลโดยวิธีอีอ๊อกชั่น อย่างถูกต้อง และมีการแข่งขันราคากันหลายครั้ง 

ขณะที่นายธาริตทำหนังสือเสนอความเห็นแย้งกลับไปยังอัยการสูงสุดทันที พร้อมยืนยันให้ควรสั่งฟ้อง 

แต่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นบ้านเมืองอยู่ในความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองจนทุกอย่างชะงักงัน จนถึงปัจจุบันก็ขึ้นอยู่กับนายตระกูล วินิจนัยภาค รักษาราชการแทนอัยการสูงสุดแทนนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ถูกคสช.สั่งย้ายไป

ส่วนคดีที่เกี่ยวพันกับนักการเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วตั้งแต่เดือนมี.ค. 2556 โดยแยกเป็น 2 สำนวนคือ 1.ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ที่กำกับดูแล ตร. เข้าข่ายการกระทำผิด ที่ไปรวบสัญญาประมูลจากรายภาคเป็นสัญญาเดียว 

2.ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือพ.ร.บ.ฮั้วประมูล มาตรา 11, 12, 13 ซึ่งผู้เข้าข่ายมีเพียงนายสุเทพคนเดียว

แต่กรณีนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่เหมือนกับคดีทุจริตของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ป.ป.ช.เร่งรัดพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว

ล่าสุด พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. แถลงมติ คสช.ว่าเห็นชอบอนุมัติการก่อสร้างโครงการดังกล่าว แต่ให้เพิ่มวงเงินจากเดิม 6,672 ล้านบาท เป็น 8,357 ล้านบาท เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงมีการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด 

"แต่เรื่องนี้เป็นคนละส่วนกับคดีที่ยังคั่งค้าง ทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไป ทั้งในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานต่างๆ"

ถือเป็นคำยืนยันและสัญญาของคสช.

และสังคมจะจับตามอง ว่าจะปล่อยให้คดีทุจริตลอยนวลหรือไม่.....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!