WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8631 ข่าวสดรายวัน


มีผบ.ตร.ในใจแล้ว 'บิ๊กกุ้ย'ยิ้ม ได้สิทธิ์-เสนอชื่อ 
ขอบคุณคสช.รื้อก.ต.ช.-ก.ตร. ช่วยให้ตำรวจปลอดการเมือง พร้อมประชุมตั้งผู้นำสีกากี 'อดุลย์'ชี้เป็นอำนาจ'วัชรพล'

     "บิ๊กกุ้ย-วัชรพล"รรท.ผบ.ตร. ขอบคุณ"บิ๊กตู่" หัวหน้าคสช.รื้อใหญ่ก.ต.ช.-ก.ตร. ให้ผบ.ตร. เสนอชื่อผบ.ตร.คนใหม่ จากเดิมเป็นอำนาจนายกฯ แย้มมีชื่อผบ.ตร.คนใหม่อยู่ในใจแล้ว พร้อมประชุมก.ต.ช.ทุกเมื่อ แต่ก็ขึ้นกับหัวหน้าคสช.ในฐานะนายกฯ จะนัดหมาย ด้าน "บิ๊กอู๋-อดุลย์" ระบุตนเองพ้นออกมาแล้ว สิทธิการ เสนอชื่อผบ.ตร.คนต่อไปเป็นของบิ๊กกุ้ย ยอมรับโครงสร้างใหม่ดีกับตร.โดยรวม

     เมื่อวันที่ 15 ก.ค. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. กล่าวถึงคำสั่งคสช. ฉบับที่ 87/2557, 88/2557 และ 89/2557 ที่ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และให้อำนาจผบ.ตร.เสนอชื่อผบ.ตร.คนต่อไป ว่า เรื่องการปรับเปลี่ยนก.ต.ช. โดยเปลี่ยนองค์ประกอบก.ต.ช. จากเดิมมีกรรมการ 11 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย รมว.มหาดไทย รมว.ยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสมช. ผบ.ตร. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กับผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ด้าน รวม 4 คน แต่คำสั่งคสช.ให้ปรับองค์ประกอบกรรมการ เหลือระดับการเมือง 2 คน คือ นายกฯ และรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลตำรวจ และเป็นประธานก.ตร.หรือไม่ก็แล้วแต่ 

     รรท.ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งจะเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหม และผอ.สำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องที่พิจารณาจากภารกิจ เพราะงานของตำรวจเป็นงานด้านความมั่นคง การให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเพื่อมิติด้านความมั่นคง ทำให้ก.ต.ช.มีความครบถ้วน ซึ่งก็ตรงกับที่ตร.จะเสนอให้มีตำรวจกองประจำการหรือการเกณฑ์ตำรวจ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบาย ของตร.ที่จะใช้ตำรวจเกณฑ์มาทำงาน ขณะที่ผอ.สำนักงบประมาณจะทำให้งานของ ก.ต.ช.ครบถ้วน เพราะเมื่อมีแผนงานก็จะมีเรื่องเงินให้เดินไปได้ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิมมี 4 ก็เหลือ 2 คน โดยการแต่งตั้งของวุฒิสภาสอดคล้องกับกรรมการตุลาการ กรรมการอัยการ ซึ่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งโดยวุฒิสภา และเปลี่ยนให้ผบ.ตร.เป็นกรรมการและเลขานุการ สรุปแล้วก.ต.ช.จะกะทัดรัดมีกรรมการเพียง 7 คน

      รรท.ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือการเลือกผบ.ตร. เดิมพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ระบุว่านายกฯ จะเสนอนายตำรวจยศพล.ต.อ.ให้ก.ต.ช.เห็นชอบเป็นผบ.ตร. ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเสนอ หัวหน้าคสช.แก้ไขการเสนอผบ.ตร.คนต่อไป ให้ผบ.ตร.คนปัจจุบันเป็นคนเสนอ เดิมจากนายกฯ เลือกนายตำรวจยศพล.ต.อ. ซึ่งมีทั้งหมด 14 คน คือ จเรตำรวจแห่งชาติ 1 คน รองผบ.ตร. 7 คน สบ.10 จำนวน 5 คน และนรป. 1 คน เปลี่ยนเป็นให้ผบ.ตร.เลือกรองผบ.ตร. และจเรตำรวจ ขึ้นเป็นผบ.ตร. ก็จะเหลือแค่ 8 คน ปีนี้เมื่อนับพล.ต.อ.ที่เกษียณอายุราชการก็จะเหลือพล.ต.อ.ที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. และพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ โดยผบ.ตร.จะเลือกพล.ต.อ. 1 ใน 5 คนนี้เสนอก.ต.ช.เห็นชอบให้เป็นผบ.ตร. เมื่อผบ.ตร.เสนอใครคนใดคนหนึ่งแล้ว ก.ต.ช.ไม่เห็นชอบก็เสนอคนใหม่ เป็นหลักการอยู่แล้ว

       "การจะพิจารณาเสนอชื่อใครนั้น ตามกฎหมายตำรวจ เราจะพิจารณาจากคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ รวมทั้งอาวุโสด้วย ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 57" รรท.ผบ.ตร.กล่าวและว่า สำหรับกระบวนการการสรรหาผบ.ตร.คนต่อไป โดยหลักคือปลายเดือนก.ค.ต่อต้นเดือนส.ค.ก็ต้องพิจารณาแล้ว เพราะตามกฎก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง การแต่งตั้งนายพลต้องเสร็จภายในเดือนส.ค. ขณะนี้ขึ้นกับหัวหน้าคสช.ซึ่งทำหน้าที่นายกฯ ว่ามีความประสงค์นัดประชุม ก.ต.ช.เมื่อใด ก็สามารถเรียกประชุมจัดวาระได้ หรือจะรอให้มีครม. มีนายกฯ ก่อนก็ขึ้นกับหัวหน้าคสช.

      ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ใครมีอำนาจเสนอ ผบ.ตร.คนใหม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ตามกฎหมายตอนนี้ตนเองมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมายทำหน้าที่แทนผบ.ตร.ได้ทุกประการ หากหัวหน้าคสช.ถอดตนออกจากรรท.ผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ก็จะกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม

       "สำหรับชื่อคนที่จะเสนอนั้นตอนนี้ก็อยู่ในใจ คุณสมบัติที่จะนำมาพิจารณาก็เป็นไปตามมาตรา 57" รรท.ผบ.ตร.กล่าว

      พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวต่อว่า คำสั่งคสช.ยังปรับโครงสร้างก.ตร. เดิมก.ตร. มี 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ก.ตร.โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย นายกฯ เลขาธิการก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร. ส่วนที่สอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกตั้งอดีตนายตำรวจยศพล.ต.ท.ขึ้นไป โดยให้นายตำรวจยศพ.ต.อ.ขึ้นไปเลือก จำนวน 5 คน และส่วนที่สาม ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ตร.โดยตำแหน่งเลือกจากสาขา สาขาเดิมก.ตร.มีจำนวน 22 คน หัวหน้าคสช.อยากให้อำนาจการแต่งตั้งอยู่ในมือผู้บังคับบัญชาตร. ผู้บังคับบัญชาสามารถให้คุณกับตำรวจได้ 

       รรท.ผบ.ตร. กล่าวว่า คณะกรรมการก.ตร. ใหม่ตามประกาศคสช. นายกฯ ยังเป็นประธาน ผบ.ตร.เป็นรองประธาน เลขาธิการก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภาเลือกอีก 2 คน รวมก.ตร.มีทั้งหมด 13 คน ตามคำสั่งคสช.ขณะนี้ยังไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งก.ต.ช.และก.ตร. จึงให้กรรมการเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าวุฒิสภาจะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการ

      สำหรับ เรื่องอาวุโสเดิมไม่มีอาวุโสในการแต่งตั้ง มีอาวุโสในการรักษาราชการแทน ซึ่งเป็นไปตาม ระเบียบก.ตร. ว่าด้วยการกำหนดลำดับอาวุโสของข้าราชการตำรวจในการรักษาราชการแทน ซึ่งอาวุโสในการรักษาราชการแทนมีข้อบกพร่องหลายประการ ทำให้มีการฟ้องศาลปกครองว่าไม่เป็นธรรม จึงต้องแก้ไข ที่ประชุม ก.ตร.เห็นว่าต้องแก้ไขอาวุโสให้ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครอง แต่การแก้ไขมีข้อจำกัดว่าการแก้ไขกฎก.ตร.ต้องใช้เวลา 180 วัน การแต่งตั้งครั้งนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้ คสช.จึงแก้ปัญหาโดยออกประกาศให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยฝ่ายกำลังพลจะแก้ไขและออกประกาศใหม่ตามที่ศาลปกครองวินิจฉัยไว้แล้ว จะได้เกิดความเป็นธรรม

      "ขอบคุณหัวหน้าคสช.ที่แก้ไขให้ผู้บังคับบัญชาในตร. สามารถให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้ การปรับให้ก.ตร.มีกรรมการที่กะทัดรัด เป็นผู้บังคับบัญชาโดยส่วนใหญ่มีอำนาจในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งระดับนายพล ระดับผกก. ซึ่งตร.ก็ต้องมาดำเนินการว่ามีกระบวนการอะไรที่ผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับสามารถให้ข้อคิดเห็น หรือเสนอแนะเสนอขึ้นมาตามขั้นตอน เพราะตามประกาศ คสช. การแต่งตั้งระดับรองผบก.ถึงผกก.ก็ต้องเข้าก.ตร. ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องกลั่นกรองขึ้นมาก่อนเข้าก.ตร. และผบ.ตร.ต้องรับผิดชอบกับสังคมในการแต่งตั้ง" รรท.ผบ.ตร.กล่าว

      พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวอีกว่า การลดฝ่ายการเมืองในการเป็นก.ต.ช. และให้ผบ.ตร.มีอำนาจเสนอชื่อผบ.ตร.คนต่อไป ถือเป็นเรื่องดีตามนโยบายของหัวหน้าคสช.ที่ต้องการให้ตร.มีความเข้มแข็ง ทำให้ตร.ได้พิจารณาผลงานคนของเราเอง รวมทั้งก.ตร.ด้วย ทำให้ ผู้บังคับบัญชาตร.ทำงาน เอาผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชามาดูใครเหมาะสมอย่างไร ซึ่ง คำสั่งคสช.ไม่ได้ยกเลิกกฎก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง ยกเลิกประเด็นเดียวเรื่องอายุราชการรวม มีคนไปฟ้องว่าการกำหนดเงื่อนไขอายุราชการรวมไม่มีความเป็นธรรมซึ่งศาลได้ชี้แล้ว อายุราชการรวมก็เกี่ยวข้องกับตำรวจไม่มาก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับตำแหน่งเลื่อนไหล เช่น ตำแหน่งอาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ

     ด้านพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวว่า โดย คำสั่งคสช.ดังกล่าว ผบ.ตร.จะเป็นผู้มีอำนาจเสนอชื่อผบ.ตร.คนใหม่ ครั้งนี้เนื่องจากตนพ้นมาแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจเสนอชื่อผบ.ตร. คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. ส่วนตัวมีความเห็นว่าโครงสร้างใหม่นี้เป็นเรื่องดี เพราะหน่วยงานแต่ละหน่วยงานจะได้เป็นผู้เสนอว่าใครเหมาะสมควรขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน และผู้ที่จะเป็นผบ.ตร.คนใหม่คือผู้ที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดทั้งรองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็น

      ขณะที่พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร. กล่าวว่า การให้ผบ.ตร.เสนอชื่อผบ.ตร.คนต่อไป เพราะผบ.ตร.รู้ดีว่าผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนทำงานอย่างไร และเป็นการป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามามีอิทธิพล ตราบใดที่ให้อำนาจนายกฯ เสนอชื่อผบ.ตร. งานตำรวจก็จะไม่พัฒนา ถือว่าหัวหน้าคสช.มีวิสัยทัศน์กล้าหาญให้ผบ.ตร.เป็นคนเสนอ คำสั่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้ง และพิจารณาหลักอาวุโสอย่างชัดเจน เป็นการเริ่มต้นในการปรับปรุงพัฒนาเพื่อเป็นตำรวจของประชาชน ดูแลทุกข์สุขของประชาชน

       ส่วนพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. กล่าวว่า มีความคิดคล้ายกับรรท.ผบ.ตร. ที่ต้องการให้ตร.แข็งแรง และไม่ยึดติดกับการเมือง จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นความสำคัญของ ผู้บังคับบัญชามากขึ้น ตนเชื่อว่าคสช.มีที่ปรึกษาและมีความรู้ความสามารถ และคิดดีแล้ว จึงไประกาศคำสั่งดังกล่าวออกมา

       พล.ต.อ.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตส.ว.สุราษฎร์ ธานี และอดีตประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้ผบ.ตร.เลือกผบ.ตร.คนใหม่ จากเดิมนายกฯ เป็นคนเลือก เนื่องจากตำรวจจำเป็นต้องปลอดการเมือง เหมือนแนวทางการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาของทหาร ซึ่งจะส่งผลให้ตร.มีความเป็นอิสระ ผู้บังคับบัญชาสามารถแต่งตั้งได้อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่วิ่งเต้นกับฝ่ายการเมืองเหมือนที่ผ่านมา ประกาศฉบับนี้จะทำให้ก.ตร. มีอำนาจบริหารงานบุคคลอย่างแท้จริง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!