WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8642 ข่าวสดรายวัน


คสช.และศาลปกครอง คืนตำแหน่ง'พัชรวาท'ย้อนเหตุการณ์7  ตุลา 51 พลิกปูมการชี้มูลของปปช.

คอลัมน์ รายงานปทุมวัน พิทักษ์ 001

เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะในวงการ สีกากี 

เมื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาในเหตุการณ์ 7 ตุลา 51 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาด้วยความรวดเร็วผิดวิสัย ใช้เวลาไม่ถึงปี ก็มีมติชี้มูลว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แถมผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

ส่งผลให้ต้องพ้นจากเก้าอี้ตามคำสั่งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในขณะนั้น 

ท่ามกลางความกังขาของทุกภาคส่วน เพราะขณะนั้นปัญหาความขัดแย้งในเก้าอี้ผบ.ตร. ก็ลุกลามบานปลาย ทั้งการเร่งรัดพิจารณาคดีปิดสนามบินของขาใหญ่ม็อบพันธมิตร รวมถึงเหตุลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่อ้างกันว่ามีบิ๊กสีกากีคอยสกัดกั้นไม่ให้คดีเดินไปได้ด้วยดี

อีกปมคือผลประโยชน์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ฝ่ายการเมืองรับ-แจกตั๋วกันเป็นประวัติการณ์

จนเป็นเหตุให้พล.ต.อ.พัชรวาทต้องต่อสู้คดีเพื่อคืนศักดิ์ศรีให้กับตัวเอง จนกระทั่งก.ตร.และศาลปกครองต่างมีคำสั่งให้รับกลับเข้ารับราชการ 

แต่ยังไม่ทันดำเนินการเสร็จสิ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็รัฐประหารเสียก่อน 

สุดท้ายก็มีคำสั่งคืนฐานะให้พล.ต.อ.พัชรวาท 

เปิดคำสั่งยกโทษ"พัชรวาท"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคําสั่ง คสช. ฉบับที่ 93/2557 ลงวันที่ 17 ก.ค. 2557 เรื่องยกโทษปลดออกจากราชการพล.ต.อ.พัชรวาท 

โดยระบุว่าตามที่ศาลปกครองกลาง มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 99/2554 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2557 ให้นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับแจ้งมติของก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 17/2553 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2552 และครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2553 ที่ให้สั่งยกโทษปลดพล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการตามคําสั่งสํานักนายกฯ ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2552 ให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คําพิพากษาถึงที่สุดนั้น 

เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งถึงที่สุดข้างต้น 

หัวหน้าคสช. ในฐานะผู้ใช้อํานาจนายกรัฐมนตรี จึงอาศัย อํานาจตามความในมาตรา 72 (1) และมาตรา 105 แห่ง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ประกอบกับข้อ 18 (2) (ง) ข้อ 21 และข้อ 23 แห่งกฎก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2557 

มีคําสั่งให้ยกโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการตามคําสั่งสํานักนายกฯ ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2552 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

คืนความเป็นธรรมให้พล.อ.พัชรวาทอย่างสมบูรณ์ 

ย้อนเหตุการณ์7ตุลาฯเลือด

ต้นเหตุของวิบากกรรมของ พล.ต.อ.พัชรวาท ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่นายสมัคร สุนทรเวช ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ มีมติเลือก นายสมชาย วงสวัสดิ์ เป็นนายกฯ 

ขณะที่ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล 

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กำหนดให้วันที่ 7 ต.ค. 51 เป็นวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่ยอมเปลี่ยนที่ประชุมตามที่ฝ่ายรัฐบาลร้องขอ

หัวค่ำคืนวันที่ 6 ต.ค. แกนนำพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนมาปิดล้อมรัฐสภา ขณะที่นายสมชาย เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ มอบหมายให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ในขณะนั้น เป็นผู้รับผิดชอบสถานการณ์ 

เช้าวันที่ 7 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตา เพื่อ ผลักดันให้ผู้ชุมนุมที่ปิดทางเข้ารัฐสภา 

กระทั่งนายกฯ แถลงนโยบายเสร็จสิ้น กลุ่มผู้ชุมนุมก็มาปิดล้อมรัฐสภาอีกครั้ง จนทำให้นายกฯ และครม.ต้องปีนรั้วหนี บรรดาส.ส.และเจ้าหน้าที่ยังติดอยู่ข้างในจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงแก๊สน้ำตาเพื่อเปิดทางอีกครั้ง 

หลังเหตุการณ์ นายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้นพร้อมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือลงวันที่ 10 ต.ค. 51 ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.พิจารณาทันที 

"มาร์ค"ยื่น-ป.ป.ช.ตัดสินด่วน

อย่างรวดเร็ว ป.ป.ช.มีมติให้คณะกรรมการทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง มอบหมายให้ นายวิชา มหาคุณ และ นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน ในหนแรกป.ป.ช.มีมติชี้ว่าพล.ต.อ.พัชรวาทผิดวินัยไม่ร้ายแรง โทษจึงไม่รุนแรง

แต่ต่อมากรรมการป.ป.ช.มีมติเพิ่มข้อกล่าวหา ผิดวินัยร้ายแรง และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากข้อหาผิดวินัยไม่ร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อ ให้กับพล.ต.อ.พัชรวาท!?! 

มติป.ป.ช. วันที่ 7 ก.ย. 2552 ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาททันที

แม้ไม่สามารถเอาผิดได้ในฐานะผู้สั่งการ ในข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเป็นคนสั่ง ไปจนถึงไม่ใช่ ผบ.เหตุการณ์อีกด้วย แต่ก็เอาผิดฐานไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย แทน

โดยอ้างว่าเมื่อเกิดเหตุสลายการชุมนุมในช่วงเช้าวันที่ 6 ต.ค. 51 จนมีผู้บาดเจ็บถึงขึ้นแขนขาขาด แต่กลับเพิกเฉยไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำ ถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตประชาชนเป็นหลัก

การชี้ของป.ป.ช. เปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ มีคำสั่งให้พล.ต.อ.พัชรวาทมาช่วยราชการสำนักนายกฯ แต่พล.ต.อ. พัชรวาทก็ตัดสินใจลาออกจากราชการในวันที่ 9 ก.ย. 

สุดท้ายนายอภิสิทธิ์ ก็อาศัยมติ ป.ป.ช. สั่งปลดพล.ต.อ. พัชรวาทออกจากราชการตามคำสั่งสำนักนายกฯ ลงวันที่19 ต.ค. 52 ทั้งที่พล.ต.อ.พัชรวาทเกษียณอายุราชการไปแล้ว 

แต่พล.ต.อ.พัชรวาทก็ต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อก.ตร.หรือคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ต่อมาก.ตร.ได้มีมติให้ยกเลิก คำสั่งปลดพล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการ

กระนั้นก็ตาม จากมติก.ตร.ดังกล่าวไม่มีการตอบสนองใดๆ จากฝ่ายการเมือง

ชี้ปมกังขา-คำวินิจฉัยป.ป.ช

เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม พล.ต.อ.พัชรวาท จึงต้องหันหน้าไปพึ่งศาลปกครอง โดยวันที่ 28 ก.พ. 2557 นายสรศักดิ์ นิยมธรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2040/2553 หมายเลขแดงที่ 99/ 2554 ระหว่าง พล.ต.อ. พัชรวาท (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร 

โดยศาลปกครองวินิจฉัยแล้วเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาเรื่องของ พล.ต.อ.พัชรวาท หลังจากที่ได้รับแจ้งมติที่ประชุมก.ตร. ที่ก.ตร.เห็นว่าข้อ กล่าวหา พล.ต.อ.พัชรวาท ผิดวินัยร้ายแรงไม่มีมูล 

และเห็นควรให้ยกโทษปลดออกจากราชการ ซึ่งศาลให้นายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติหน้าที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

นอกจากนี้พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ยังยื่นฟ้องกรรมการป.ป.ช.ต่อศาลอาญา 

โดยที่ปรึกษากฎหมายของ พล.ต.อ.พัชรวาท พบหลายประเด็นที่เป็นเรื่องน่ากังขา โดยมองว่าการพิจารณาชี้มูลความผิดนั้น น่าจะมีขั้นตอนและความรอบด้านไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ สำนวนการพิจารณาของ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลอาญา ปรากฏว่าพนักงานอัยการทำเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช. สอบสวนใหม่ เพราะพบว่าการรับฟังพยานหลักฐานยังไม่สมบูรณ์ 

อีกทั้งป.ป.ช. มีฐานะเป็นองค์กรตรวจสอบ ไม่ใช่องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในการไต่สวน ในการชี้มูลความผิดและความเห็นของ ป.ป.ช. จึงยังไม่เป็นที่สุด แต่สามารถถูกตรวจสอบความถูกต้องได้โดยองค์กรศาล 

โดยเฉพาะในกรณีที่ ป.ป.ช. วินิจฉัยและชี้มูลความผิดทางวินัยข้าราชการ ข้อเท็จจริงและความเห็นของ ป.ป.ช. จึงอยู่ในฐานะเป็นเพียงข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการต่อไปเท่านั้น

แต่ช่วงที่ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท กลับออกมาระบุว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ต้องยุติการทำหน้าที่ 

จึงน่าสงสัยทำเกินอำนาจหน้าที่หรือไม่!

นอกจากนี้ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.นั้น พล.ต.อ. พัชรวาท ยื่นเรื่องขอให้ปากคำหรือสอบพยาน และเรียกดูหลักฐานเพิ่มเติม เพราะมองว่าหลักฐานที่ ป.ป.ช. ใช้อาจจะยังไม่ครบถ้วนแต่ป.ป.ช. ไม่ให้สิทธิ์ดังกล่าว

อีกทั้งการตายของผู้ชุมนุม ที่มติของป.ป.ช.ระบุว่าตายจากแก๊สน้ำตาระเบิดเข้าใส่ แต่ผลการชันสูตรศพโดยสถาบันนิติเวชฯ การยืนยันของกองพิสูจน์หลักฐาน และกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่ามิได้เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา!?!

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ป.ป.ช.ต้องพิสูจน์ตัวเองในศาลยุติธรรม 

รวมถึงคำถามจากสังคมถึงมาตรฐานป.ป.ช. ที่มีถูกครหาอยู่เสมอๆ เรื่องบรรทัดฐานที่ต่างกันในหลายๆ คดี

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!