WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 01:18 น. ข่าวสดออนไลน์


'สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง'เปิดเส้นทางสู่ ผบ.ตร. วางทิศทางนำองค์กร ให้ประชาชนรักตำรวจ

รายงานพิเศษ

    ในที่สุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้ผู้นำคนใหม่ คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. 

     โดยได้รับเสียงโหวตจากคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) อย่างเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ตามที่พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. เสนอชื่อ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 

     ถือเป็นผบ.ตร.คนที่ 10 ที่จะนำพาองค์กรตำรวจต่อไปอีก 1 ปี และต้องรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงต่อไป ทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับรอง ผบ.ตร.ลงมา

รวมทั้งปัญหาเรื่องความมั่นคง และการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนสู่องค์กรตำรวจ

ล้วนเป็นสิ่งที่รอให้พล.ต.อ.สมยศ ในฐานะผบ.ตร.เข้ามาจัดการทั้งนั้น

*** "สมยศ"ผบ.ตร.-ขอให้รักตำรวจ

        สายวันที่ 20 ส.ค. ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของวงการตำรวจ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมก.ต.ช. ที่กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ แทนพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย. 2557 

      ที่ประชุมประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผอ.สำนักงบประมาณ และพล.ต.อ.วัชรพล ในฐานะกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง 

      ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 15 นาที การประชุมก็เสร็จสิ้น โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้พล.ต.อ.สมยศ ดำรงตำแหน่งเป็นผบ.ตร. คนที่ 10 

      ขณะที่พล.ต.อ.วัชรพลให้เหตุผลภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้เสนอชื่อพล.ต.อ.สมยศ เพียงคนเดียว เพราะเห็นว่าในอนาคตข้างหน้าสำหรับการทำงานร่วมกับรัฐบาล ในมิติเรื่องความมั่นคงจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากบ้านเมืองยังไม่อยู่ในสภาวะปกติ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบว่าพล.ต.อ.สมยศเหมาะสมเป็นผู้นำสำนักงานตำรวจแห่งชาติในงานด้านความมั่นคง ทำงานร่วมกับรัฐบาล ต่อไป

        สำหรับ ผลงานที่โดดเด่น เป็นเรื่องจากการสืบสวนคดีเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหลาย ทั้งการจับกุมผู้กระทำความผิด มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง และสามารถยึดระเบิดอาวุธสงครามได้จำนวนมาก 

      คดีต่างๆ ที่ไม่สามารถสืบสวนจับกุมได้ ก็จับกุมได้หมด หรือออกหมายจับกุมได้ชัดเจนขึ้น

      หลังก.ต.ช.มีมติแต่งตั้งพล.ต.อ.สมยศ ก็เปิดใจถึงวิสัยทัศน์และแนวทางปฏิบัติงานในอีก 1 ปีข้างหน้าว่า จะเป็นผบ.ตร.ที่ทำให้ประชาชนรักตำรวจเท่าที่จะทำได้ สิ่งแรกที่จะทำคือธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศ 

      ส่วนภารกิจ คือ 1.สร้างความสามัคคีและสร้างขวัญกำลังใจในหมู่ข้าราชการตำรวจ 2.สร้างสวัสดิการ ทำให้ข้าราชการตำรวจมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายตามสมควร ตลอดจนการสร้างที่พักให้กับตำรวจอย่างเพียงพอ และ 3.สร้างความศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อตำรวจทั้งประเทศ และสร้างความผาสุกให้กับประชาชน ตลอดจนสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย


*** ย้อนเส้นทาง-คุมคดีมั่นคง

      เมื่อย้อนไปเกี่ยวกับเรื่องคดีความมั่นคง พล.ต.อ.สมยศไม่ได้เข้ามาดูแลหลังจากคสช.เข้ามาทำรัฐประหารเท่านั้น

    แต่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่มหากาพย์ม็อบการเมืองไทย อย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมปักหลักยืดเยื้อยาวนานเพื่อขับไล่รัฐบาลพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ในขณะนั้น ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2551 ที่สี่แยกคอกวัว

     แม้ไม่สามารถสั่นคลอนได้ จนยกระดับเข้ามายึดทำเนียบรัฐบาล สุดท้ายนายสมัครก็ต้องพ้นตำแหน่งไปด้วยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นพิธีกรรายการทำอาหารออกโทรทัศน์

     จนมาถึงยุคนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยกระดับเข้ายึดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ จนกระทั่งยุติการชุมนุม เมื่อนายสมชายถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ด้วยการยุบพรรคพลังประชาชนจาก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเกิดรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จากเสียงสนับสนุนของกลุ่มงูเห่า ที่แยกมาจากพรรคพลังประชาชน มาก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย 

     แต่คดียึดสนามบินซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญา ก็ยังต้องดำเนินต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม 

     แม้ตอนแรกคดีจะเดินหน้าไปอย่างเชื่องช้า มีการเปลี่ยนตัวนายตำรวจผู้รับผิดชอบคดีหลายคน ทั้งพล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ในสมัยนั้น มาถึงพล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วย ผบ.ตร. 

      สุดท้าย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้นก็มอบหมายให้พล.ต.ท.สมยศ ซึ่งเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ลงมาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน และสามารถทำสำนวนออกหมายจับและสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 114 คน 

      แม้จะมีปัญหาความล่าช้าเพราะเมื่อยื่นความเห็นไปแล้ว พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. สั่งตีกลับมาไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง!

      แต่สุดท้ายเมื่อถึงยุคพล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. คดีนี้ถูกส่งฟ้องสู่ศาลยุติธรรมได้สำเร็จ 

       สำหรับ ประวัติในเส้นทางยุทธจักรสีกากี และแวดวงการเมือง ก็นับว่าไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง 

      ด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดถึงขั้นเป็นอดีตนายเวรของมนตรี พงษ์พานิช อดีตนักการเมืองลายครามผู้ล่วงลับ ทำให้พล.ต.อ.สมยศรู้จักนักการเมืองมากหน้าหลายตา จนถูกยกให้เป็นมือประสานสิบทิศ

        ทั้งความสนิทสนมแนบแน่นกับ เนวิน ชิดชอบ บิ๊กภูมิใจไทย ก็ยังสนิทสนมกับพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. พี่ชายคุณหญิงพจมาน อดีตภรรยาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะร่วมทำงานด้านปราบปรามยาเสพติดด้วยกันมา แม้กระทั่งฟากประชาธิปัตย์ ก็รู้จักมักคุ้นกับนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อย่างยิ่ง 

     ด้านความสัมพันธ์กับคสช. ก็รู้จักกันดีกับ บิ๊กต๊อก ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของคสช. และบิ๊กติ๊ก พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาค 3 

     ด้วยสายสัมพันธ์ที่แน่นหนา รวมทั้งอีกมุมที่เป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่ง

      จึงไม่แปลกที่ชื่อของพล.ต.อ.สมยศ จะเป็นคำตอบสุดท้าย


*** เปิดประวัติผบ.ตร.คนที่ 10

      พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เกิดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2497 ภรรยาชื่อนางพจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง มีบุตร 2 คน น.ส. ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ร.ต.ต.รชต พุ่มพันธุ์ม่วง ประวัติการศึกษาจบมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนติยานุกูล จ.พระนครศรีอยุธยา จบโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.รุ่นที่ 15) รุ่นเดียวกับพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และพล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา 

      จากนั้นจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่น 31) จบปริญญาโทรัฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยปูนา จากอินเดีย จบปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 

     หลักสูตรต่างๆ ที่จบการอบรมนั้น จบหลักสูตรการบริหารงานตำรวจระดับสูงรุ่นที่ 18 จบหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่น 47 จบหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 17 จบหลักสูตรและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสอบสวน จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เลขที่ พ.431/48 จบหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 13 จบหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 10

      ประวัติการรับราชการ เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2521 เป็นรอง สวส.สน.พระโขนง ต่อมาวันที่ 16 พ.ย. 2526 เป็นรอง สว.จร.สน.ภาษีเจริญ วันที่ 16 พ.ย. 2527 เป็นรอง สวส.สน.บางยี่เรือ วันที่ 12 ต.ค. 2530 เป็นรอง สวส.สน.สำราญราษฎร์ วันที่ 1 มี.ค. 2532 เป็น สว.กอ.รมน.กพ. วันที่ 16 ธ.ค. 2535 เป็นรอง ผกก.กอ.รมน.กพ. วันที่ 1 มี.ค. 2538 เป็น ผกก.วช. วันที่ 25 ต.ค. 2539 เป็นรอง ผบก.ชุดตรวจงาน อก.ส่วนตรวจราชการ 1 จต. วันที่ 16 ธ.ค. 2540 เป็นรอง ผบก.อก.สตม. วันที่ 24 เม.ย. 2542 เป็นรอง ผบก.ตม.1 สตม. 

      วันที่ 19 ต.ค. 2542 เป็น ผบก.ประจำ ตร. (สมช.) วันที่ 1 ต.ค. 2544 เป็น ผบก.ผง.2 สนผ. 11 พ.ย. 2545 เป็นผู้ช่วย สนผ. วันที่ 1 ต.ค. 2546 เป็นผู้ช่วย ผบช.สตม. วันที่ 1 ต.ค. 2547 เป็นรองจเรตำรวจ (สบ 7) วันที่ 1 ต.ค. 2549 เป็น ผบช.ประจำตร. (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) วันที่ 30 พ.ย. 2550 เป็น ผบช.ประจำ ตร. (ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน) วันที่ 7 ก.พ. 2551 เป็นจเรตำรวจ (สบ 8) วันที่ 31 พ.ค. 2551 เป็น ผบช.ก. วันที่ 1 ต.ค. 2551 เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. วันที่ 18 พ.ย. 2554 เป็นที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ วันที่ 1 ต.ค. 2555 เป็นรอง ผบ.ตร. และได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.มีผลวันที่ 1 ต.ค. 57

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!