WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaBทศพร ศิริสัมพันธ์

สภาพัฒน์ วิเคราะห์ข้อเสนอโครงการเงินกู้ฯ 4 แสนล้านบาทรอบแรก มูลค่าแสนล้านบาท คาดจ้างงานกว่า 4 แสนราย

      ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะผู้บริหาร สศช. ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ที่มาของกรอบวงเงินฟื้นฟูฯ 400,000 ล้านบาท

       เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความยากลำบากให้แก่ทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและอยู่ในภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้ประชาชนทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบต้องขาดรายได้ หรือบางรายถึงขั้นถูกเลิกจ้าง

       รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยหนึ่งในแผนงานที่ระบุใน พ.ร.ก. ฉบับนี้ คือแผนงานที่ 3 กรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินโดยภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนเริ่มปีงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 ในเดือนตุลาคม 2563 และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในขั้นต้นที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนนี้

เป้าหมายและแผนงาน

      การใช้จ่ายเงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาท มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหมู่บ้าน และโลจิสติกส์

     (2) การลงทุนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค (Nec, NeEC, CWEC, SEC) เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เน้นเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ และ (3) กระตุ้นการอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศ โดยจำแนกเป็น 4 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงาน 3.1 พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน แผนงาน 3.3 ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และ แผนงาน 3.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

กรอบแนวคิดในการจัดทำแผนงานหรือโครงการ

       สำหรับ กรอบแนวคิดในการใช้จ่ายเงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนงานหรือโครงการเริ่มจากการมองหัวใจของปัญหาว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศหายไปอย่างฉับพลัน ผู้ประกอบการรายย่อยขาดกำลังทุน และประชาชนขาดกำลังซื้อ ซึ่งเมื่อปัจจัยภายนอกเหล่านี้ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ดังที่เคยเป็นมา

       การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงขึ้นอยู่กับการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ โดยการสร้างฐานรากให้มั่นคง และเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต ดังนี้

 

1)      สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ สินค้าและบริการชุมชน OTOP และท่องเที่ยวชุมชน

2)      กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างการเติบโตสู่อนาคตอย่างยั่งยืน โดยเน้น (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร อาทิ เกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ และเกษตรแปลงใหญ่ (2) เกษตรเพิ่มมูลค่า และเศรษฐกิจฐานชีวภาพ อาทิ อาหารแห่งอนาคต ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และยา พลาสติกชีวภาพ และพลังงานชีวภาพ รวมทั้ง (3) การท่องเที่ยวคุณภาพสูง อาทิ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ Hospitality Industry เศรษฐกิจสร้างสรรค์

3)      ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

ผลการวิเคราะห์ของ สศช. (รอบแรก)

               จากข้อเสนอโครงการ (Project Briefs) ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2563 พบว่ามีจำนวนข้อเสนอโครงการ/แผนงานรวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.456 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2563) โดยคณะทำงาน สศช. ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการ/แผนงานในรอบแรกแล้ว มีข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 213  โครงการ รวมวงเงินประมาณ 101,482.28  ล้านบาท ซึ่งได้นำเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาในช่วงวันที่ 22 - 25 มิถุนายน 2563 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาในวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2563 ต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะแบ่งการอนุมัติเงินกู้ฯ ออกเป็น 2-3 รอบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรอบแรกที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3 ประการ ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1)      เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (แผนงาน 3.2) มูลค่า 4,953.79 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจ้างงานเกษตรกรราว 9,188 คน โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (แผนงาน 3.2) ซึ่งเป็นการใช้ Big Data เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน มูลค่า 2,701.88 ล้านบาท โดยคาดว่าจะจ้างงานประชาชนในพื้นที่ ราว 14,510 คน โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (แผนงาน 3.2)มูลค่า 1,080.59 ล้านบาท จ้างงานประชาชนราว 15,548 คน ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 710,518 คน

2)      เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (แผนงาน 3.4) ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล ประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนและรองรับการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มศักยภาพและยกระดับสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกษตรกรทุกพื้นที่สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง และผู้บริโภคก็ซื้อสินค้าเกษตรได้โดยตรงเช่นกัน

โดยรอบแรกจะบูรณาการแผนงาน/โครงการของหน่วยงานทั้งในส่วนจังหวัดและส่วนราชการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

เป้าหมายที่ 2 การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต อาทิ

(1) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด (แผนงาน 3.1) มูลค่า 13,904.50 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,293.43 ล้านบาท (2) โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน มูลค่า 900.00 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างงานให้เกษตรกรประมาณ 600 คน (3) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและการแพทย์ (แผนงาน 3.1) มูลค่า 1,264.40 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2,500 คน และ (4) โครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาด ท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอมอล (Innovative CBT for New Normal) (แผนงาน 3.1) มูลค่า 460 ล้านบาท โดยคาดว่าจะกระจายรายได้สู่ชุมชน นักศึกษา/บัณฑิตตกงานและผู้ประกอบการประมาณ 65 ล้านบาท

 

เป้าหมายที่ 3 กระตุ้นการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ (แผนงาน 3.3) ประกอบด้วย

(1) โครงการ 'เราไปเที่ยวกัน'(2) โครงการ 'เที่ยวปันสุข'และ (3) โครงการ 'กำลังใจ'รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ประมาณ 52,400 ล้านบาท

ผลที่ประชาชนจะได้รับ*

               การใช้เงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาทนี้ จะช่วยประคองสถานการณ์ไม่ให้ GDP ของประเทศไทยหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ คืออยู่ประมาณร้อยละ 5-6 ขณะเดียวกันก็จะช่วยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัวและเดินหน้าได้ต่อไป โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

*สศช. ประมวลจากข้อเสนอโครงการของหน่วยงานที่เสนอโครงการ1) การจ้างงาน

  • · ช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย

2)      สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ตำบล

  • · 79,604 หมู่บ้าน
  • · 3,000 ตำบล

3)      การท่องเที่ยว

  • · พัฒนาต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระหว่างและหลังวิกฤติโควิด-19 กว่า 6 พื้นที่
  • · ผู้ประกอบการและแรงงานได้รับการพัฒนากว่า 11,000 ราย
  • · บริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ 13,000 ราย
  • · การเข้าพัก 5,000,000 ห้อง/คืน
  • · การเดินทาง 2,000,000 คน/ครั้ง
  • · มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวนกว่า 3.2 ล้านคน/ครั้ง

4)      การเกษตร

  • · เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเอง กว่า 95,000 ราย จากการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ
  • · เกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์จากการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง มีจำนวน 262,500 ราย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี
  • · เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 แสนไร่
  • · เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 5 ล้านไร่

5)      พื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำชุมชน

  • · พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 แสนไร่
  • · พื้นที่กักเก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

6)      ดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบโลจิสติกส์

  • · ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว
  • · ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านสินค้า

       สุดท้ายนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงขึ้นอยู่กับการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ หรือคือการสร้างฐานรากให้มั่นคง ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

       ขอย้ำว่าโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการ ต้องเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนมีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผ่านระบบThaiME’ (http://thaime.nesdc.go.th)

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!