- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 07 December 2024 12:34
- Hits: 1516
ปลดล็อกศักยภาพการเกษตรไทย เร่งสร้างนวัตกรรมและโซลูชันการเกษตรที่ยั่งยืน สู่การเกษตรที่มีความยืดหยุ่น
สมาคมอารักขาพืชไทย จัดงานเสวนา “ขับเคลื่อนนวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรของไทย” หรือ “Advancing Innovation and Sustainable Solutions in Thailand’s Agricultural Sector” ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังพลิกโฉมภาคการเกษตรไทยสู่เกษตรยั่งยืนด้วยโซลูชั่นเกษตรอัฉริยะแบบยั่งยืน เผยภาคการเกษตรยังเผชิญกับ 3 ความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรง การเข้าถึงเทคโนโลยี และการขาดความรู้ด้านการเกษตรยั่งยืน การนำนวัตกรรมการเกษตรที่ยั่งยืนมาใช้จะช่วยปลดล็อกปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ การเกษตรใช้แรงงานกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานในประเทศ แต่กลับสร้างรายได้เพียง 8% ของ GDP จากการพึ่งพาเครื่องมือการเกษตรแบบดังเดิม แนะทุกภาคส่วนร่วมเร่งปรับปรุงให้เกษตรกรเข้าถึงโซลูชันด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่ยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเสริมแกร่งผลผลิตทางการเกษตร สร้างงานที่มี มูลค่าสูง และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก การเปลี่ยนสู่นวัตกรรมจะช่วยลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความสามารถในการรับมือสภาพอากาศที่แปรปรวน และสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก
นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชแห่งประเทศไทย (TCPA) เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรของไทยเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศและใช้แรงงานกว่า 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ แต่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเพียง 8% ของ GDP เท่านั้น แม้ภาคการเกษตรของประเทศจะมีศักยภาพมหาศาล แต่ปัจจุบันยังคงเผชิญกับความท้าทายหลักทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ได้ซ้ำเติมปัญหามากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าการเกษตร ทำให้การเปลี่ยนแปลงสู่การเกษตรยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนที่ต้องรีบผลักดันให้ทันกับยุคสมัยและสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนมากยิ่งขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำกัด และการขาดความรู้ด้านการเกษตรที่ยั่งยืน จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ระบุว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเครื่องมือทางการเกษตรกรรมที่ล้าสมัย
นางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเร่งก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและแก้ไขความท้ายทาย เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายและบรรลุการเติบโตร่วมกัน การเกษตรสามารถทรานส์ฟอร์มได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง 5 ด้าน คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากการใช้แรงงานอย่างมากไปสู่การเกษตรอัตโนมัติ การเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางไปสู่การสร้างรายได้ทางการเกษตรโดยตรง การเปลี่ยนแปลงจากตลาดที่ควบคุมโดยอุปทานไปสู่ตลาดเสรี การสนับสนุนการลดขยะ และการวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรสมัยใหม่
ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนมาใช้สารเคมีเกษตรที่ยั่งยืนอย่าง green chemistry หรือสารเคมีกรีน เป็นการช่วยลดการใช้พลังงาน ลดความเสี่ยง ลดค่าใช้จ่าย และลดการศูนย์เสีย หรือ Waste ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกรและประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของรัฐบาล นับเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยปรับตัวสู่การปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการพึ่งพาสารเคมีที่เป็นอันตราย ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข แต่ยังสร้างความยั่งยืนในระยะยาวของภาคการเกษตรของไทย ทั้งนี้ ในปี 2593 ความต้องการอาหารในโลกจะมีเพิ่มมากขึ้นถึงสองเท่า หมายความว่าทุกภาคส่วนจะต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
นายสมศักดิ์ กล่าวสรุปว่า การสนับสนุนและส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยถือเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โซลูชันต่างๆ จะช่วยเกษตรกรคาดการณ์ความต้องการและเอาชนะความท้าทายด้านสภาพอากาศได้ดีขึ้น นโยบายสนับสนุนต่างๆ จะช่วยให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยแข็งแกร่งขึ้นด้วยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างงานให้กับเกษตรกรรุ่นต่อๆ ไป ด้วยการสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน มาเลเซีย และเวียดนาม โดยประเทศไทยต้องนำเทคโนโลยีที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พร้อมทั้งเตรียมระบบที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
“ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือ การปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสนับสนุนที่ตรงเป้าหมาย และการปรับปรุงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และแนวทางปฏิบัติขั้นสูงและยั่งยืนของเกษตรกร พร้อมกันนั้นก็ต้องสร้างศักยภาพและขับเคลื่อนการเติบโต ด้วยการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลจะส่งเสริมให้เกษตรกรไทยยอมรับการเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะช่วยปลดล็อกโซลูชันซึ่งชาญฉลาดและยั่งยืน ในขณะที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพพืชผล เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารทั่วโลก” นายสมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ระบุว่า เทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นกุญแจสำคัญของภาคการเกษตร ขณะที่ไทยมีสตาร์ทอัพด้านเกษตรกรรมกว่า 80 ราย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท
นวัตกรรมด้านการเกษตรที่ยั่งยืนคือกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของเกษตรกรไทย สู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการเกษตรในระดับโลก การขยายโอกาสในการเข้าถึงโซลูชันด้านการเกษตรอัจฉริยะและยั่งยืนจะเป็นเครื่องมือสำคัญสู่การพัฒนาสินค้าทางการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรมและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เสริมพลังให้เกษตรกรสามารถขยายการเติบโตให้ดียิ่งขึ้น การคว้าโอกาสนี้ต้องการการลงมืออย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยกันผลักดันประเทศไทยไปสู่ตำแหน่งผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมเกษตรที่ยั่งยืน
12131