WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566

GOV5 copy

สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติเสนอสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายพีรพันธ์ คอทอง) ทำหน้าที่ประธาน [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2562) ที่เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดฯ โดยมีอำนาจหน้าที่ติดตามการดำเนินงานยุทธศาสตร์สับปะรด และรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. สถานการณ์สับปะรดโรงงานและแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการสับปะรด ปี 2566

                    1.1 สถานการณ์สับปะรดโรงงาน

                              1.1.1 สถานการณ์การผลิต ในปี 2566 คาดว่า มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 430,958 ไร่ ผลผลิตรวม 1.65 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปี 2565 เนื่องจากเกษตรกรได้ลดพื้นที่ปลูกจากปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมีและปัญหาการขาดแคลนแรงงานประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ทุเรียน มะพร้าว และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีและใช้ปุ๋ยเคมีน้อยกว่า

                              1.1.2 สถานการณ์การตลาด ผลผลิตสับปะรดร้อยละ 72 ของผลผลิตทั้งหมด จะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับส่งออกไปต่างประเทศและผลผลิตร้อยละ 28 ของผลผลิตทั้งหมด ใช้เพื่อการบริโภคและอื่นๆ ภายในประเทศ โดยในปี 2565 มีปริมาณการส่งออกสับปะรดในรูปแบบผลิตภัณฑ์รวม 512,574 ตัน มูลค่า 23,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 12.14 ทั้งนี้ พบว่า ประเทศที่ไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องไปมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

                              1.1.3 ราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2566 (เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์) สับปะรดที่เข้าโรงงาน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 6.50 บาท) และสับปะรดที่ใช้บริโภค เฉลี่ยกิโลกรัมละ 11.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 10.06 บาท)

                    1.2 แนวทางดำเนินการบริหารจัดการสับปะรดปี 2566 คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ได้ดำเนินการตามแนวทางฯ ในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี ซึ่งมีการดำเนินการ ดังนี้

                              1.2.1 เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า เช่น การประชุมเพื่อบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสับปะรดในพื้นที่ และการประสานโรงงานสับปะรดในพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการผลผลิต

                              1.2.2 กระจายผลผลิต เช่น กระจายผลผลิตผ่านเครือข่ายร้านธงฟ้า เครือข่ายเซลล์แมนจังหวัด เครือข่ายสหกรณ์ และการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

                              1.2.3 ส่งเสริมการบริโภค เช่น ดำเนินโครงการ “พาณิชย์...ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย” และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การบริโภคสับปะรดสด

                              1.2.4 ส่งเสริมการแปรรูป เช่น ส่งเสริมการแปรรูปสับปะรดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น น้ำสับปะรด แยม และขนม และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตแปรรูปจากสับปะรด ได้แก่ น้ำสับปะรด และชีสพายสับปะรด ไปยังร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

                              1.2.5 ส่งเสริมการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคสด เช่น ส่งเสริมให้ปลูกสับปะรดสายพันธุ์เพื่อบริโภคสดมากขึ้น และแนะนำให้เกษตรกรวางแผนการผลิตโดยเน้นส่งตลาดบริโภคผลสดมากกว่าส่งเข้าโรงงาน

                              1.2.6 แนวทางอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการปลูกสับปะรดพันธุ์บริโภคผลสดที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด

                    มติที่ประชุม : รับทราบสถานการณ์สับปะรดโรงงานและแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการสับปะรดปี 2566 และมอบหมายหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้

                    (1) ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอุปทาน อุปสงค์ สินค้าสับปะรดปี 2566

                    (2) ให้สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์เพื่อประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธาน คพจ. และพาณิชย์จังหวัดติดตามสถานการณ์และดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดทั้ง 5 ด้าน ตามแผนระดับจังหวัด รวมถึงแนวทางอื่นที่จังหวัดได้ดำเนินการ และรายงานผลการดำเนินการให้ สศก. ทราบเป็นระยะ

          2. ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด ปี 2564 - 2565

 แผนปฏิบัติการด้านสับปะรดฯ ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการผลิต (2) ด้านอุตสาหกรรมแปรรูป และ (3) ด้านการตลาดและส่งออก โดยในปี 2564 มีแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับสับปะรด จำนวน 24 โครงการ 9 กิจกรรม บรรลุเป้าหมาย จำนวน 23 โครงการ 3 กิจกรรม เนื่องจากมีการยกเลิกบางโครงการในด้านการตลาดและการส่งออกเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และในปี 2565 มีแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับสับปะรด จำนวน 17 โครงการ 13 กิจกรรม บรรลุเป้าหมาย จำนวน 16 โครงการ 12 กิจกรรม เนื่องจากในด้านการผลิต : การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร มีสหกรณ์เพียง 4 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการและสหกรณ์ส่วนใหญ่ต้องใช้เงินทุนของตนเองในการรวบรวม ส่งผลให้ปริมาณการรวบรวมผลผลิตสับปะรดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

                    มติที่ประชุม : รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านสับปะรดปี 2564 - 2565

          3. (ร่าง) แผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570

 

หัวข้อ

สาระสำคัญ

(1) วิสัยทัศน์

ศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน

(2) พันธกิจ

มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

1) สนับสนุนและพัฒนาสับปะรดให้สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน

2) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบการวิจัยและสายพันธุ์ การบริหารจัดการแปลง การบริหารจัดการดินและน้ำ การบริหารโซนนิ่งการเกษตร การจัดการระบบโลจิสติกส์ การบริหารผลผลิตสับปะรดให้มีความสมดุลทั้งอุปสงค์ อุปทานของระบบเศรษฐกิจการเกษตรมูลค่าสูง และการบริโภคที่มีคุณภาพ

3) เสริมสร้างขีดความสามารถและการบริหารจัดการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทานเพื่อการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการแปรรูปการตลาด

4) ส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิตเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงในอาชีพ สามารถบริหารจัดการการเกษตรที่ยั่งยืนด้วยตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

5) ส่งเสริมการสร้างสรรค์วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิต การแปรรูปและการตลาด

(3) ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย

1) พื้นที่ปลูกที่ได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากนโยบายภาครัฐ จำนวน 1,000 ไร่ต่อปี

2) ผลิตภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

3) มูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี (จากปีฐาน ปี 2565 จำนวน 23,700 ล้านบาท)

4) รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี (จากปีฐาน ปี 2565 จำนวน 330,700 ล้านบาท)

(4) แผนปฏิบัติการ

1) การพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตร และการบริหารจัดการระบบนิเวศสับปะรดที่มีคุณภาพ ทันสมัย และมาตรฐานการจัดการที่ยั่งยืน

2) การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเทคโนโลยีการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้

3) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสับปะรดคุณภาพระดับโลก

 

                    มติที่ประชุม :

                    (1) เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570 ตามที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรดได้เห็นชอบ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปปรับปรุงแผนพัฒนาด้านสับปะรดฯ ให้มีความสมบูรณ์ เช่น ควรขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และควรมีการออกแบบการจัดการข้อมูลเพื่อให้เห็นความเสี่ยงของแต่ละโครงการ

                    (2) มอบหมายคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรดกำกับดูแลการดำเนินงาน และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตาม (ร่าง) แผนพัฒนาด้านสับปะรดฯ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ทราบทุกไตรมาส เพื่อฝ่ายเลขานุการฯ จะได้รวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติต่อไป

          4. การเสนอให้มีกฎหมายพืชสับปะรดเป็นการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาสับปะรดใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) พืชสับปะรดยังขาดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาระยะยาว (2) พื้นที่เพาะปลูกยังขาดการควบคุมหรือจัดระเบียบ และ (3) โรงงานแปรรูปและเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง โดยจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติ หรือ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาพืชสับปะรดให้เป็นกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมสับปะรดของประเทศ

                    มติที่ประชุม : มอบหมายคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ พิจารณาข้อเสนอที่อาจจะให้มีกฎหมายพืชสับปะรดเป็นการเฉพาะ และรายงานให้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติทราบต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 เมษายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A4417

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!