ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 April 2023 00:28
- Hits: 2007
ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี พ.ศ. 2566 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 12 เมษายน 2566 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 18 เมษายน 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางบนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลดังกล่าว และช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าแล้ว และกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ได้ยืนยันความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงนี้ด้วยแล้ว
2. ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์ของปี พ.ศ. 2566 โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 12 เมษายน 2566 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 18 เมษายน 2566 ประมาณการสูญเสียรายได้ประมาณ 164,709,500 บาท และกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เงินค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ที่จัดเก็บได้ เป็นเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งกรมทางหลวงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยนำส่งเป็นเงินนอกงบประมาณ (ทุนหมุนเวียน) และนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 จึงไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณแผ่นดินหรือภาระทางการคลังในอนาคต และไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินการที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นอกจากนี้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจโดยสามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 266,525,800 บาท ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง รวมทั้งยังมีผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้รวมอยู่ด้วย ได้แก่ การเพิ่มกำลังซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ และผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยมีค่าผลทวีคูณของการใช้จ่ายต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effects) ประมาณ 1.38 เท่า คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 227 ล้านบาท เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4423