WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2567

Gov 39

ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2567

          คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2567 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ 

          สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมาคมโทรคมนาคมฯ) เพื่อบูรณาการทำงานและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์

          สำหรับ ผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีดังนี้

          1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์

              ตร. ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ และมีคดีที่สำคัญ รวมทั้งเร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2567 เทียบกับการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

              1) การจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท ในเดือนมิถุนายน 2567

มีการจับกุมจำนวน 2,349 คน ซึ่งลดลงร้อยละ 5.86 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 2,495 คนต่อเดือน

              2) การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ในเดือนมิถุนายน 2567 มีการจับกุมจำนวน 1,082 ราย โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.69 โดยใกล้เคียงกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ที่มีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 1,064 คนต่อเดือน

              3) การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า ในเดือนมิถุนายน 2567 มีการจับกุมจำนวน 160 ราย ซึ่งลดลงร้อยละ 33.33 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567จำนวน 240 คนต่อเดือน

              4) การจับกุมครั้งสำคัญของ ตร. ในห้วงเดือนมิถุนายน 2567 อาทิ (1) การจับกุม 3 เครือข่ายเว็บพนันบอลยูโร เครือข่ายที่ 1 เว็บพนัน yeslotto online จับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวมจำนวน 13 ราย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 4,000 คน มียอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 80 ล้านบาท เครือข่ายที่ 2 เว็บพนัน 888henglotto.com จับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวมจำนวน 16 ราย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 8,000 คน มียอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 10 ล้านบาท เครือข่ายที่ 3 เว็บพนัน wm88 vip และ x-stand.com โดยจับกุมตัวการใหญ่ชาวจีนและผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวมจำนวน 64 ราย โดยพบว่ามีรายได้ในครึ่งปีถึง 1,400 ล้านบาท พร้อมตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินได้รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 287 ล้านบาท (2) การทลายจุดตั้ง SIMBOX ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยยึดอุปกรณ์ SIMBOX หรือ GSM Gateway ได้จำนวน 6 เครื่อง พบบุคคลต่างชาติชาวเวียดนามเกี่ยวข้อง จำนวน 1 ราย (3) ปฏิบัติการ “สกัดกั้น STARLINK, ซิมการ์ด และจุดตั้ง SIMBOX” ร่วมกับกรมศุลกากรซึ่งตรวจพบการนำเข้าเครื่อง STARLINK จำนวน 21 เครื่อง และซิมการ์ด จำนวนประมาณ 15,675 ชิ้น ที่มีลักษณะใช้งานแล้ว และพบว่าจุดหมายปลายทางอยู่บริเวณจังหวัดที่มีเขตติดต่อแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ขยายผลตรวจค้นเพิ่มเติม จำนวน 14 จุด พบเครื่อง STARLINK จำนวน 4 เครื่อง อุปกรณ์ SIMBOX จำนวน 96 เครื่อง และซิมการ์ดทั้งของไทยและต่างประเทศกว่า 33,000 ชิ้น 

              สำหรับ DSI ได้ดำเนินการจับกุมคดีที่สำคัญ ในเดือนมิถุนายน 2567 ได้แก่ การจับกุมผู้จัดหาบัญชีม้าแล้วนำไปขายต่อให้กับตัวแทนเว็บไซต์พนันออนไลน์ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ในความผิดฐานร่วมกัน ฟอกเงิน และการจับกุมการลักลอบจำหน่ายสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้าโดยมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชี 20 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี

              ทั้งนี้ ในภาพรวมการจับกุมในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการจับกุมในช่วงก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 โดยเฉพาะการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า ที่ลดลงถึงร้อยละ 33.33 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          2. การปิดกั้นโซเซียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน

              ดศ. ตร. และ DSI ได้เร่งรัดปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา สรุปผลได้ ดังนี้

              1) ดศ. ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท ในเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 14,363 รายการ เพิ่มขึ้น 5.2 เท่า จากเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท จำนวน 2,763 รายการ

              2) ดศ. ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ ในเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 5,711 รายการ เพิ่มขึ้น 20.9 เท่า จากเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ จำนวน 276 รายการ

          3. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน

              1) การระงับบัญชีม้าสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีการะงับบัญชีม้ารวมกว่า 900,000 บัญชีแบ่งเป็น สำนักงาน ปปง. ปิด 416,348 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ AOC 1441) ระงับ 209,823 บัญชี

              2) กวาดล้างบัญชีม้าจากการใช้รายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมายโดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคารจากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยในเดือนมิถุนายน 2567 มีการปิดบัญชีม้าไปแล้วจำนวน 72,269 บัญชี

              3) การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ยกระดับการจัดการ “บัญชี” เป็น “บุคคล” ทุกธนาคารจัดการบัญชีม้าตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกันและมาตรการที่ให้สถาบันการเงินดำเนินการ โดยมีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถล็อคเงินในบัญชีไม่ให้ทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และปลดล็อคได้ยากขึ้น และ/หรือ ปรับลดจำนวนวงเงินในการสแกนใบหน้าเพื่อทำธุรกรรมใน mobile banking รวมทั้ง การเสนอบริการเพิ่มเติม อาทิ การถอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorization) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

          4. มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า และซิมที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง

              ผลการดำเนินงานสำคัญถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ดังนี้

             1) การระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน จำนวน 50,736 เลขหมาย มี

ผู้มายืนยันยันตัวตน 418 เลขหมาย และไม่มายืนยันตัวตน 50,318 เลขหมาย

              2) การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและผลการดำเนินงาน ดังนี้

                  2.1) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีจำนวนเลขหมายที่เข้าข่าย จำนวน 5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 3.9 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 78 ของเลขหมายที่เข้าข่ายต้องมายืนยันตัวตนในกรณีนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาประมาณ 1.3 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้คงเหลือที่ไม่มีผู้มายืนยันตัวตน จำนวน 1.1 ล้านเลขหมาย

                  2.2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย มีผู้มายืนตัวตนแล้ว 1.6 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 40 ของเลขหมายที่เข้าข่ายต้องมายืนยันตัวตนในกรณีนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาประมาณ 0.6 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้ คงเหลือที่ไม่มีผู้มายืนยันตัวตน จำนวน 2.4 ล้านเลขหมาย

          5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

              สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตรวจเข้มพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน ลงพื้นที่จังหวัดตากรอบสอง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เพื่อติดตามการลักลอบลากสายสัญญาณโทรคมนาคมข้ามฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมการหันเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้แล้วทั้ง 7 พื้นที่ คือ (1) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (2) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (3) อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (4) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (5) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (6) อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และ (7) อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยทุกพื้นที่ที่มีการหันเสาออกนอกประเทศไทยได้มีการระงับสัญญาณรวมแล้ว 366 สถานีฐาน และได้กำหนดพื้นที่เพิ่มเติมตามมาตรการระงับการให้บริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยง ในอีก 4 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ (1) อำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระ จังหวัดตาก (2) อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และ (3) อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

          6. การบูรณาการข้อมูล

              ดศ. ได้ประชุมหารือแนวทางการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลของศูนย์ AOC 1441 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 โดยชี้แจงขั้นตอน แนวปฏิบัติภาพรวมของการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อบูรณาการข้อมูลศูนย์ AOC 1441 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดำเนินการส่งข้อมูลการแจ้งความในระบบ Thaipoliceonline ระบบบัญชีธนาคาร (Banking) และข้อมูลระบบ CFR ย้อนหลังระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ให้กับทางศูนย์ AOC 1441 เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลของศูนย์ AOC 1441 และหาแนวทางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไป

          7. การแก้กฎหมายเร่งด่วน การประชาสัมพันธ์เชิงรุก

              1) การแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา “เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567” ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 และมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ตุลาคม 2567 โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจ ชื่อสกุลผู้รับเงินพร้อมหมายเลขติดตามพัสดุ กำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วันก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนโดยให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบว่าสินค้ามีปัญหาสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้

              2) การประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดย ดศ. จะดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนจัดทำโครงการดิจิทัลวัคซีน เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันอาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยออนไลน์ไปจำนวนมาก หากแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้ดำเนินการปรับรูปแบบเป็นการรณรงค์ระดับชาติ ที่มีการดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ การแจ้งเตือนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ต้องมีความรวดเร็ว ทันสถานการณ์เนื่องจากการหลอกลวงออนไลน์สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และมีรูปแบบการหลอกลวงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการขอความร่วมมือกับเอกชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์

          ในภาพรวมการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ ผลงานมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสถิติการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้ามีจำนวนลดลงในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการพิจารณาและกำชับในเรื่องนี้ด้วยแล้ว โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเมินว่า จากการปรับปรุงการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อมุ่งลดข้อขัดข้องในด้านกฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงในระยะต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 30 กรกฎาคม 2567

 

 

7883

Click Donate Support Web 

TOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!